พระจักขุบาล ผู้ยึดมั่นในสัจจะและบรรลุพระอรหันต์ด้วยความเพียร

พระจักขุบาล ผู้ตั้งใจมั่นว่าจะไม่นอนเป็นเวลา ๓ เดือนในพรรษา เมื่อพบเจออุปสรรคก็ไม่ละทิ้งสัจจะ แม้ตาทั้งสองจะแตกแต่จะไม่ยอมทำลายความตั้งใจ http://winne.ws/n18070

9.2 พัน ผู้เข้าชม
พระจักขุบาล ผู้ยึดมั่นในสัจจะและบรรลุพระอรหันต์ด้วยความเพียร

 ช่วงนี้เป็นฤดูกาลของการ "เข้าพรรษา" ในส่วนพระภิกษุท่านก็มีธรรมวินัยว่าต้องอยู่จำพรรษา เป็นโอกาสได้ศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมได้เต็มทีี่ ส่วนโยมเองบางท่านก็ตั้งใจทำความดีตามกำลังสติปัญญาและศรัทธาตนเองจะทำได้ เช่น งดเหล้า งดบุหรี่เข้าพรรษา ตั้งใจตักบาตรหรือทำทานให้ได้ทุกวัน ตั้งใจรักษาศีล ๕ ตลอดสามเดือน เป็นต้น 

   แต่การที่จะรักษาความสม่ำเสมอทำให้ได้ทุกวันมิให้ขาดแม้เพียงวันเดียวตามที่ได้ตั้งความปรารถนาไว้ จึงมิใช่เรื่องง่าย ย่อมเจออุปสรรคที่ต้องให้แต่ะละคนก้าวข้ามไปให้ได้ ช่วงที่ต้องก้าวข้ามอุปสรรคนี่เองจะเป็นทางมาแห่งบุญบารมีที่เพิ่มขึ้นของเรา 

พระจักขุบาล ผู้ยึดมั่นในสัจจะและบรรลุพระอรหันต์ด้วยความเพียร

 วันนี้จึงนำเรื่องราวของพระรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาลที่ท่านตั้งสัจจะปรารภความเพียรปฏิบัติสมาธิกรรมฐานให้เข้าถึงสรณะภายในเพื่อกำจัดกิเลสและพ้นทุกข์ ท่านปฏิบัติตามสัจจะอย่างยิ่งยวด โดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคที่เข้ามาขวางกั้น อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จนในที่สุดท่านก็สามารถ บรรลุอรหัตตผล ในที่สุด

เรื่อง "พระจักขุบาล"

   พระศาสดาตรัสพระพุทธพจน์นี้ที่วัดเชตวันวิหาร เพราะปรารภเรื่องพระจักขุบาลมีเรื่องโดยย่อว่า ในเมืองสาวัตถี มีพี่น้องสองคน เป็นบุตรคนมั่งคั่ง คนพี่ชื่อ "มหาบาล" คนน้องชื่อ"จุลบาล" วันหนึ่งมหาบาลผู้พี่ได้ติดตามคนทั้งหลายไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา วันนั้นพระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยอันงามของมหาบาลแล้วทรงหลั่งพระธรรมเทศนามุ่งมหาบาลเป็นสำคัญ ทรงเทศนาอนุปุพพิกถา ๕ คือ

๑. ทานกถา ว่าด้วยการให้ทาน

๒. สีลกถา ว่าด้วยการรักษาศีล

๓. สัคคกถา ว่าด้วยความสุขในสวรรค์

๔. กามาทีนวกถา ว่าด้วยโทษและความต่ำทรามของกาม

๕. เนกขัมมานิสังสกถา ว่าด้วยอานิสงส์แห่งการหลีกออกจากกาม

พระจักขุบาล ผู้ยึดมั่นในสัจจะและบรรลุพระอรหันต์ด้วยความเพียร

   เมื่อจบเทศนา มหาบาลได้ความรู้ ความแจ่มแจ้งในธรรม เห็นว่าบุตรธิดา และทรัพย์สมบัติเป็นของไม่ยั่งยืน คลุกเคล้าไปด้วยทุกข์และโทษ แม้สรีระของตนเองก็ติดตามไปไม่ได้ ต้องถอดทิ้งไว้ให้เป็นภาระแก่ผู้อื่น ไม่มีประโยชน์ในการอยู่ครองเรือน ควรบวชอย่างพระศาสดา 

   เขาเข้าไปถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วทูลขอบวช พระศาสดาตรัสถามว่ามีใครที่เขาจะต้องบอกลาบ้าง เขาทูลว่ามีน้องชายอยู่คนหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัส ให้ไปบอกลาน้อคงชายเสียก่อน จุลบาลน้องชายไม่เห็นด้วยในการบวชของพี่ชาย มีความเห็นว่า ยังอยู่ในวัยอันควรบริโภคกาม อันเป็นรสอร่อยอย่างหนึ่งของโลก ถ้าจะบวช ก็ค่อยบวชเมื่อแก่

   แต่มหาบาลผู้พี่ กลับมีความเห็นว่า "บวชเมื่อแก่ แล้วจะประพฤติพรหมจรรย์ให้ดี ได้อย่างไร มือเท้าและอินทรีย์ต่างๆ ไม่อำนวย กำลังวังชาถดถอย สมณกิจเป็นภาระหนักเหมาะแก่คนมีกำลังวังชาดี จะทำให้บริบูรณ์ได้ ดูพระบรมศาสดานั่นเถิด ทรงสละราชสมบัติออกผนวชตั้งแต่พระชมอายุเพียง ๒๙ พรรษา ยังหนุ่มแน่นเหมือนกัน" น้องชายจะห้ามเท่าไร มหาบาลก็หาฟังไม่ เมื่อบวชแล้วได้อยู่กับอาจารย์จนครบ ๕ พรรษา ได้นิสัยมุตตกะ คือพอปกครองตนเองได้แล้ว ปรารถนาจะออกไปอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ทำกิจของบรรพชิตให้สิ้น จึงเข้าเฝ้าพระศาสดาทูลถามถึง ความหมายของ ธุระในศาสนา ๒ ประการ คือ คันถธุระ กับ วิปัสสนาธุระ

   คันถธุระ คือ การศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยตามสมควรแก่ปัญญาของตน แล้วบอกกล่าวกันต่อๆไป ส่วน วิปัสสนาธุระ นั้นคือ การพิจารณาสังขารโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา จนสามารถบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด พระศาสดาตรัสบอกกรรมฐาน ให้ตั้งแต่ต้นจนเพียงพอ ที่จะบรรลุอรหัตตผลได้ เสมือนมารดาให้เสบียงแก่บุตรเพียงพอแก่การข้ามทางกันดาร

พระจักขุบาล ผู้ยึดมั่นในสัจจะและบรรลุพระอรหันต์ด้วยความเพียร

   พระมหาบาลทูลลาพระศาสดา แล้วเที่ยวหาเพื่อนภิกษุที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกันเพื่อไปสู่เสนาสนะป่า ได้เพื่อนร่วมเดินทาง ๖๐ รูป เดินทางไปห่างเชตวันวิหาร ๑๒๐ โยชน์ ถึงปลายแดนหมู่บ้านใหญ่ตำบลหนึ่ง ตอนเช้าเข้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านได้เห็นอาการอันน่าเลื่อมใสของพระทั้งหลาย จึงช่วยกันสร้างที่อยู่อาศัย ให้เรียบร้อย พระก็เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในหมู่บ้านทุกเช้า ในหมู่บ้านนั้นมีหมอใจบุญคนหนึ่ง ได้ปวารณาตัวว่า หากมีพระรูปใดเจ็บไข้ได้ป่วยขอให้บอก เขาจะรักษาให้โดยไม่คิดค่ายา ค่ารักษาแต่ประการใด

   เมื่อวันเข้าพรรษามาถึง พระมหาบาลระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ไม่ทรงโปรดปรานผู้ประมาทเพราะความประมาท ประตูแห่งอบาย ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน จึงตั้งใจจะอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน และนั่ง เว้นอิริยาบถนอน และพระมหาบาลก็ได้ทำตามนั้น หนึ่งเดือนผ่านไป โรคตาก็เกิดขึ้น น้ำตาไหลออก จากตาทั้งสองของท่านอยู่ตลอดเวลา ภิกษุทั้งหลายทราบเข้าก็ร้อนใจ ไปตามหมอซึ่งปวารณาเอาไว้ หมอได้รีบประกอบยาถวายท่าน แต่ท่านไม่ยอมนอนหยอด คงนั่งหยอดยา อาการจึงไม่ดีขึ้น ทั้งๆ ที่ยาที่หมอประกอบให้นั้น เป็นยาดีมาก ที่เคยรักษาคนไข้มา หยอดเพียงครั้งเดียวก็หาย

   หมอประหลาดใจมาก จึงเข้าไปสืบให้รู้ดูที่อยู่ของท่าน เห็นมีแต่ที่จงกรมและที่นั่ง ไม่มีที่นอน เพราะพระมหาบาล ตั้งใจไว้ว่า จะไม่นอนเป็นเวลา ๓ เดือนในพรรษา จึงไม่ต้องการทำลายความตั้งใจ แม้

ตาทั้งสองจะแตก จะทำลายก็ยอม แต่จะไม่ยอมทำลายความตั้งใจ ท่านคงนั่งหยอดยาทางจมูกอยู่นั่นเอง หมอรู้ว่า ด้วยอาการอย่างนี้ โรคของพระ ไม่อาจระงับได้ เกรงเสียชื่อของตน จึงขอท่านอย่าได้พูดกับใครว่า เขาเป็นหมอรักษาท่าน แล้วไม่ยอมรักษาต่อ จนในที่สุด ดวงตาของท่านก็แตก พร้อมกับการดับ โดยสิ้นเชิงแห่งกิเลสทั้งปวง ท่านเป็น "พระอรหันต์สุกขวิปัสสก" ผู้หนึ่ง ดวงตาเนื้อของท่านดับสนิทลง

พระจักขุบาล ผู้ยึดมั่นในสัจจะและบรรลุพระอรหันต์ด้วยความเพียร

   ทันใดนั้นดวงตา คือปัญญาก็พลุ่งโพลง แจ่มจรัสขึ้น บริสุทธิ์ ไร้มลทิน

   เมื่อถึงเวลาออกบิณฑบาต เห็นจะเป็นเพราะตาท่านบอดลงทั้งสองข้าง คนทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า "จักขุบาล" แทน "มหาบาล" อันเป็นชื่อเดิมของท่าน เมื่อท่านได้ทำกิจของท่านเสร็จแล้ว หน้าที่ที่เหลืออยู่ก็คือ โอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายให้สำเร็จมรรคผล ท่านได้ทำหน้าที่นั้น จนภิกษุทั้งหลายได้ สำเร็จอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ในพรรษานั้นเอง 


ขอบคุณที่มาภาพและเนื้อหาจาก

http://thamdhamma.blogspot.com/2017/08/blog-post_18.html?m=1

แชร์