ตัวกรองคำพูด ๕ ชั้นตามหลักวาจาสุภาษิต “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วพาตัวมีภัย”

ตา มีหน้าที่ ดู อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ ตา ส่วน หู มีหน้าที่ ฟัง อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ หู แต่ ปาก นี่ซิ มีหน้าที่ถึง ๒ อย่าง คือทั้งกินและพูด ธรรมชาติกลับให้ มาเพียงปากเดียว แสดงว่า ธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้มาก แต่พูดให้น้อยๆ http://winne.ws/n18202

3.0 พัน ผู้เข้าชม
ตัวกรองคำพูด ๕ ชั้นตามหลักวาจาสุภาษิต “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วพาตัวมีภัย”

   ตั้งใจมาหลายวันอยากจะเขียนเรื่องเตือนใจตนเองและคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับใครหลายๆ คนที่ได้เข้ามาอ่าน เราเคยลองสังเกตแล้วตั้งคำถามไหมว่า ในชีวิตประจำวัน เราใช้อวัยวะหรือทักษะไหนมากที่สุด ระหว่างการคิด การฟัง การอ่าน การพูดหรือการเขียน?

   ระหว่างคิดทบทวน มีเรื่องหนึ่งมาเล่าให้ฟัง...เคยสงสัยไหม?ว่า อวัยวะในร่างกายของคนเรานี้ก็แปลก 

ตา มีหน้าที่ ดู อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ ตา 

ส่วน หู มีหน้าที่ ฟัง อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา ๒ หู
แต่ ปาก นี่ซิ มีหน้าที่ถึง ๒ อย่าง คือทั้งกินและพูด ธรรมชาติกลับให้ มาเพียงปากเดียว 

   แสดงว่า ธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้มาก แต่พูดให้น้อยๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปาก จะกินก็กินให้พอเหมาะ จะพูดก็พูดให้พอดี ท่านผู้อ่านเห็นด้วยไหมค่ะ 

   มาถึงตรงนี้หลายคนคงได้คำตอบสำหรับตัวเองแล้วว่าแต่ละวันทักษะหรืออวัยวะไหนได้ใช้มากสุด แต่ประเด็นสำคัญที่จะนำมาฝากวันนี้ คือเรื่องของ “คำพูด” เพราะถึงแม้เป็นเพียงลมที่พ่น หรือพุ่งออกมาจากปาก แต่นับว่ามาอานุภาพมากยิ่งนัก จะช่วยสร้างสรรค์หรือทำลาย คนพูดจะดูน่าคบหาหรือน่ารังเกียจ ชีวิตจะเจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จหรือถอยหลัง ตกต่ำ ก็ขึ้นอยู่กับคำพูดจึงนับเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง 

   “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วพาตัวมีภัย”การพูด แม้จะเป็นรองความคิด แต่นำคุณนำโทษมาสู่ตัวเองและผู้อื่นได้มากกว่า ดังนั้น จึงนำความรู้เรื่องตัวกรองคำพูด ตามลักษณะวาจาสุภาษิต มาให้ทบทวนกันค่ะ

ตัวกรองคำพูด ๕ ชั้นตามหลักวาจาสุภาษิต “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วพาตัวมีภัย”

ตัวกรองคำพูด ๕ ชั้นตามหลักวาจาสุภาษิต

   วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้วด้วยใจที่ผ่องใส มิใช่สักแต่พูด

องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต

   ตัวกรองชั้นที่ ๑.ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง

   ตัวกรองชั้นที่ ๒.ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะ ที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ

   ตัวกรองชั้นที่ ๓.พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟังถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด

ตัวกรองคำพูด ๕ ชั้นตามหลักวาจาสุภาษิต “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วพาตัวมีภัย”


   ตัวกรองชั้นที่ ๔.พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธมีความริษยาก็ยังไม่สมควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้ ถ้วยคำที่กล่าวด้วยจิตขุนมัว แม้เพียงประโยคเดียวอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงอย่างไม่อาจประมาณได้

   ตัวกรองชั้นที่ ๕.พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานหรือจับผิดกันไป

   - พูดถูกเวลา(กาล) คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย

   - พูดถูกสถานที่(เทศะ) คือรู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อม เช่นไรจึงสมควรที่จะพูด หากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร

   เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนขณะเพื่อนกำลังเมาอยู่ในหมู่เพื่อนฝูงทำให้เขาเสียหน้า อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราเองอาจเจ็บตัวได้

ตัวกรองคำพูด ๕ ชั้นตามหลักวาจาสุภาษิต “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วพาตัวมีภัย”


“คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย

คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด”

   ขอปิดท้ายด้วย บทสักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน สอนเกี่ยวกับคำพูดของมนุษย์ ประพันธ์โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ

สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน  

ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม


กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม 

อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม


แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม 

ดังดูดดื่มบอระเพ็ดต้องเข็ดขม


ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์  

ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 

 http://thamdhamma.blogspot.com/2017/08/blog-post_22.html?m=1

แชร์