เตรียมตัวอย่างไร จากวัยชราสู่เวลาใกล้ตาย ? บรรยายโดย ดร. บรรจบ บรรณรุจิ

วัยชรา ซึ่งมองผิวเผินจะเห็นแต่โทษ เพราะชรา แปลว่า เสื่อม ความหนุ่มสาวเสื่อม ความสวยงามเสื่อม หูตาเสื่อม ความจำเสื่อม แต่ชราก็ให้ข้อดี คือ ให้ประสบการณ์การเรียนรู้มาก มีคนเริ่มให้การยอมรับให้ความเคารพ ถือว่า คนชราแต่ละคนคือตำราชีวิตเล่มใหญ่ http://winne.ws/n18211

2.2 พัน ผู้เข้าชม
เตรียมตัวอย่างไร จากวัยชราสู่เวลาใกล้ตาย ? บรรยายโดย ดร. บรรจบ บรรณรุจิ

ผมเริ่มบรรยายด้วยการกล่าวถึงพระพุทธศาสนาแบ่งช่วงเวลาของคนเป็น ๓ วัย คือ ปฐมวัย(วัยต้น) มัชฌิมวัย(วัยกลาง) ปัจฉิมวัย (วัยสุดท้าย) ส่วนการแบ่งอายุเป็นวัยไม่แน่นอน แต่ถ้ายึดพระพุทธพจน์ที่ว่า "ตอนจะออกบวช ตถาคตอยูในปฐมวัย ผมดำขลับ อายุ ๓๐ หย่อน ๑ (๒๙ ปี)" ก็ต้องบอกว่า ๓๐ ปีลงมาถือเป็นปฐมวัย 
ตั้งแต่ ๓๐ปีขึ้นไปจนถึง ๕๐ หรือ ๕๕ ปีควรจะเป็นช่วงมัชฌิมวัย เพราะคะเนตามพระชนมายุพระพุทธมารดาที่ว่าสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุล่วงวัยกลางคนก็น่าจะไม่เกิน ๔๕ ปี 
ส่วนปัจฉิมวัยก็น่าจะตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไปถึง ๑๐๐ ปี ช่วงนี้เป็นวัยสุดท้ายจริงๆ เพราะพ้นวัยเจริญเติบโต มุ่งหน้าหาความตายอย่างเดียว เหมือนพระอาทิตย์เลยเที่ยงวันไปแล้วก็มีแต่บ่ายคล้อยที่เรียกว่า "อัสดงคต"
(มาจากคำว่า อสฺตมฺ คต แปลว่า ไปสู่ที่อยู่ หมายถึง กลับบ้าน เพราะเชื่อว่า ที่อยู่ของพระอาทิตย์คือทะเล ส่วนบาลีเป็น อฏฺฐงฺคต แปลว่า ถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ คือ ตกไป)

@ พระพุทธเคยตรัสสอนว่า ใครก็ตามตั้งตนได้ตามทำนองคลองธรรม ตลอดทั้ง ๓ วัย ถือว่า ยอดเยี่ยม แต่ถ้าปฐมวัยพลาดโอกาสไปกลับได้สติตั้งตนได้ใน ๒ วัย คือมัชฌิมวัยกับปัจฉิมวัยถือว่ายังดีอยู่ และแมัจะพลาดใน ๒ วัยแรกมาตั้งได้ในวัยสุดท้ายคือปัจฉิมวัยก็ถือว่ายังทัน อย่างที่เรียกว่า "ต้นคดปลายตรง" แต่ถ้า ๒ วัยแรกมาดี แต่มาเสียเอาวัยสุดท้าย นับว่าเสี่ยงมาก เพราะโอกาสตั้งตัวทันจะมีหรือเปล่าไม่ทราบ

เตรียมตัวอย่างไร จากวัยชราสู่เวลาใกล้ตาย ? บรรยายโดย ดร. บรรจบ บรรณรุจิ

@ ที่พระองค์ตรัสเช่นนี้ก็เพราะมีขอทาน ๒ คนผัวเมียเป็นตัวอย่าง เดิมทีทั้งสองเป็นลูกเศรษฐี พ่อแม่ของทั้งสองวางอนาคตลูกไว้ว่า 
"ไม่ต้องเรียนหนังสือ เพราะเรียนมาก็เพื่อหาเงิน ครอบครัวของเรามีเงินมากพอแล้ว จึงคิดว่าพอให้สองคนนี้เมื่อแต่งงานกันแล้วสามารถอยู่กินด้วยกันอย่างสุขสบาย"
ดังนั้นจึงให้เรีบนแต่วิชาหาความสำราญเช่นเต้นรำ และเมื่อพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายตายจากไป ทรัพย์สินของสองตระกูลก็อยู่ในสภาพเรือล่มในหนองโดยนำมารวมให้เป็นทองแผ่นเดียวกัน แล้วไม่ช้าสองผัวเมียซึ่งถูกฝึกมาให้รู้แต่ใช้เงินแต่ไม่รู้หาเงินก็ใช้เงินหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่ปี่เพราะติดอบายมุขคือกินเหล้าเล่นการพนัน เนื่องจากมีนักเลงเป็นปาปมิตร (มิตรชั่ว มิตรแนะนำให้ทำบาป)

@ ด้วยพฤติกรรมไร้ปัญญาดังกล่าว สองสามีภรรยาก็สิ้นเนื้อประดาตัว หมดทุกอย่างบ้านช่องทรัพย์สินข้าทาสบริวาร ในที่สุดก็ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน (homeless)เร่ร่อนออกขอทาน ( beggar) และอาศัยชายคาบ้านคนอื่นหลับนอน แล้ววันหนึ่งก็มาอาศัยชายคากฏิพระอยู่ ไม่ไกลจากนั้นมีนกกะเรียนแก่ตัวหนึ่งยืนอยู่ริมสระบัวจ้องจะกินปลาในสระที่แหวกว่ายอยู่น้ำใสแจ๋ว แต่กินไม่ได้ เพราะร่างกายหมดสภาพขนหลุดร่วงทำให้กระพือปีกยาก เนื้อตัวอ่อนแรงขยับเขยื้อนไม่ไหว สุดท้ายก็ได้แต่ยืนมองปลาทำตาปริบๆ 

พระพุทธเจ้าชี้ให้พระอานนท์ดูแล้วเปรียบเทียบว่า สองสามีภรรยาตอนนี้ไม่ต่างอะไรไปจากนกกะเรียนแก่ริมสระ เพราะเขาประมาทในชีวิตทั้ง ๓ วัย แก้ไขไม่ได้เลย

สว่างมาสว่างไป (โชติ โชติปรายโน)

เตรียมตัวอย่างไร จากวัยชราสู่เวลาใกล้ตาย ? บรรยายโดย ดร. บรรจบ บรรณรุจิ

@ จากเรื่องนี้ ผมก็เชื่อมต่อด้วยบุคคล ๔ ประเภท คือ


๑. สว่างมาสว่างไป (โชติ โชติปรายโน) ได้แก่ เกิดมาดี ประกอบด้วย ๑)กาล หรือ เวลาที่จะให้ก้าวหน้ามีพร้อม ๒) คติที่จะให้ก้าวหน้าก็พร้อมเช่น ครอบครัวมีฐานะทำให้มีการศึกษาดีได้ตามฐานะ ๓) อุปธิ คือ ร่างกายก็สมประกอบ ไม่พิกลพิการถึงขั้นทำอะไรไม่ได้ บุคลิกภาพก็ดี ๔) ปโยคะ คือ ความขยันอดทนสูง ฉลาดในการจัดการตัวเอง เขาใช้สมบัติ ๔ ได้เหมาะสมจัดการชีวิตไปจนถึงวาระสุดท้าย
๒. สว่างมามืดไป (โชติ ตโมปรายโน) เขามีความพร้อม ๔ ประการ แต่ในที่สุดจัดการไม่ดีชีวิตบั้นปลายล้มเหลว
๓. มืดมามืดไป (ตโม ตมปรายโน) เขาขาดสมบัติทั้ง ๔ หรือมีไม่ครบแต่แรก และต่อมาก็ไม่เกิดสติปัญญามาจัดการให้ลงตัวได้จนบั้นปลายชีวิต
๔. มืดมาสว่างไป (ตโม โชติปรายโน) เขาขาดสมบัติเหมือนประเภทที่ ๓ แต่สามารถเกิดสติปัญญามาจัดการให้ลงตัวได้และพลิกชีวิตจากมืดให้สว่างจนวาระสุดท้ายจากโลกไปิย่างสงสุข

เรื่องนี้ ผมเอาไปเชื่อมต่อกับวัย ๓ ได้อย่างเหมาะเจาะ กราบขอบพระคุณครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้จนผมสามารถนำความรู้ในแต่ละแห่งไปเชื่อมโยงกันได้ และเชื่อว่าน่าจะเกิดประโยชน์

@ สุดท้ายผมชี้ลงไปที่วัยชรา ซึ่งมองผิวเผินจะเห็นแต่โทษ เพราะชรา แปลว่า เสื่อม ความหนุ่มสาวเสื่อม ความสงยงามเสื่อม หูตาเสื่อม ความจำเสื่อม แต่ชราก็ให้ข้อดี คือ ให้ประสบการณ์การเรียนรู้มาก มีคนเริ่มให้การยอมรับให้ความเคารพ ถือว่า คนชราแต่ละคนคือตำราชีวิตเล่มใหญ่ (the great text of life) ด้วยประสบการณ์เราเอามาทำประโยชน์ได้ คนอื่นเรียนรู้แล้วก็ไปทำประโยชน์ได้ และหากประคับประคองได้ดี ก็จะมีสถานะเป็น สว่างไป (โชติปรายโน) เพื่อสว่างต่อไป (โชติ) ในชาติต่อไป

@ วันนั้น ผมจบลงด้วยคำสำคัญ ๓ คำในมหาสติปัฏฐานสูตร คือ อาตาปี (มีความเพียร) สัมปะชาโน (มีสัมปชัญญะ) สติมา (มีสติ) ซึ่งขอให้ทำบริกรรมไว้ในใจให้ขึ้นใจ ได้ทุกเมื่อ ซึ่งผมตั้งใจจะใช้เป็นรูปแบบ (Model) ในการจัดหลักสูตรฝึกสติต่อไปตามที่ผมอยากทำ และตั้งใจจะใช้ชื่อว่า The "Atapi Sampajano Satima Model" เพื่อนำไปใช้สอนที่ต่างประเทศ วันหน้าจะพูดถึงโมเดลรูปแบบการฝึกหัดนี้ให้ฟ้งผมกำลังทดลองอยู่ด้วยตัวเอง ใช้เป็นวิธีฝึกสติดีมากครับ


Cr. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยโท ดร. บรรจบ บรรณรุจิ

แชร์