นับถอยหลังถนนปลอดรถใช้น้ำมัน กับ 6 ประเทศประกาศใช้แน่นอนแล้ว...?

เมื่อโลกใบนี้ประสบภัยพิบัติจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงใครจะรับผิดชอบดูและผู้ลี้ภัยจากก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ ...อีลอน มัสก์ สรุปภาพปัญหาไว้ชัดเจน ในชั้นบรรยากาศโลกของเรามีคาร์บอนปริมาณหนึ่งหมุนเวียนมาหลายร้อยล้านปี ฯ..... http://winne.ws/n18240

702 ผู้เข้าชม


HIGHLIGHTS:

         หนังสารคดีชื่อ Climate of Concern สร้างขึ้นเมื่อปี 1991 โดยบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่รายหนึ่งให้ภาพชัดเจนว่าการเผาไหม้พลังงานฟอสซิลกำลังส่งผลให้อุณหภูมิโลกอุ่นขึ้นและผลพวงที่ตามมาอาจเลวร้ายเกินกว่ามนุษย์จะรับมือ

         ประเทศที่ประกาศนับถอยหลังสู่ท้องถนนปลอดรถยนต์ใช้น้ำมันแล้วได้แก่ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ และอินเดีย

        วิจัยกรุงศรีประเมินว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างเป็นรูปธรรมอาจต้องรอเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี


“เมื่อโลกใบนี้ประสบภัยพิบัติจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงใครจะรับผิดชอบดูแลผู้ลี้ภัยจากก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้”  

นั่นคือความตอนหนึ่งจากหนังสารคดีความยาว 28 นาที ชื่อ  Climate of Concern Climate of Concern

           ที่ให้ภาพชัดเจนว่าการเผาไหม้พลังงานฟอสซิลกำลังส่งผลให้อุณหภูมิโลกอุ่นขึ้น และผลพวงที่ตามมาอาจเลวร้ายเกินกว่ามนุษย์จะรับมือ หนังสารคดีดังกล่าวสร้างขึ้นในปี 1991 โดยบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของโลก

​          ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา บริษัทน้ำมันดังกล่าวและรายอื่นๆ ยังคงล็อบบี้อย่างแข็งขันที่จะให้โลกเดินหน้าต่อไปกับการใช้พลังงานฟอสซิล รวมถึงล็อบบี้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ไม่ให้ผลักดันภาษีคาร์บอน กระทั่งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตน้ำมันเหล่านี้ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตน้ำมันเหล่านี้

           จึงพร้อมใจกันประกาศสนับสนุนการใช้ภาษีคาร์บอนเป็นมาตรการหนึ่งของการลดปริมาณคาร์บอนในภูมิอากาศโลก ซึ่งกลุ่มกรีนพีซมองว่านั่นเป็นเพียงกลยุทธ์งานประชาสัมพันธ์ที่ไร้ความจริงใจ

​          หนังสารคดีดังกล่าวเป็นเพียงเศษเสี้ยวของข้อพิสูจน์ว่าหายนะภัยจากปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศโลกไม่ใช่ความรู้ใหม่ แต่ทำไมไม่มีใครพยายามแก้ไขเร็วกว่านี้

                                                                                                                                                                            

ในการบรรยายที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส เมื่อกลางปีก่อน  อีลอน มัสก์ อีลอน มัสก์

          สรุปภาพปัญหาไว้ชัดเจนว่า ในชั้นบรรยากาศโลกของเรามีคาร์บอนปริมาณหนึ่งหมุนเวียนมาหลายร้อยล้านปี แต่ในชั่วเวลาอันสั้น เราขุดคาร์บอน (พลังงานฟอสซิล) นับพันล้านตันที่เคยฝังอยู่ใต้เปลือกโลกขึ้นมาใช้ ซึ่งมากและรวดเร็วเกินกว่าชั้นบรรยากาศจะรับมือได้
                                                                                                                                                                                 ​          “ฉะนั้น เราต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนให้เร็วที่สุด คำถามไม่ใช่ว่าเราควรจะเปลี่ยนผ่านหรือไม่ ยังไงเสียพลังงานฟอสซิลก็กำลังจะหมด แล้วตอนนี้เรายังต้องเผชิญหน้ากับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น” อีลอนอธิบายต่อไปว่า ที่ผ่านมา เรารีรอเหมือน ‘สวยเลือกได้’ เพราะสิ่งที่เรียกว่า เงินอุดหนุนแอบแฝง (hidden subsidy)

          พูดในภาพกว้าง เงินอุดหนุนแอบแฝง (จากรัฐบาลประเทศต่างๆ ผ่านการล็อบบี้โดยผู้ได้ประโยชน์จากการใช้พลังงานฟอสซิล และโดยตรงจากผู้ได้ประโยชน์จากการใช้พลังงานฟอสซิล) คือตัวการทำให้กิจกรรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์บอนมีราคาถูก มาตรการภาษีคาร์บอนไม่ได้แจ้งเกิดในเวลาอันควร การคิดค้นเทคโนโลยีทางเลือกอื่นมีราคาแพงและเติบโตได้ช้า รวมไปถึงการทำให้วาทกรรมเรื่องโลกร้อนในยุคหนึ่งดูเพ้อเจ้อประหนึ่งคำทำนายของนอสตราดามุส 

​          หากดูจากตัวเลขของประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ระบบขนส่งอันหมายรวมถึงรถยนต์ รถบรรทุก และอื่นๆ มีส่วนปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศราว 20-25 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายประเทศจึงเริ่มนับถอยหลังสู่ท้องถนนปลอดรถยนต์ใช้พลังงานฟอสซิล โดยมี ‘ความตกลงปารีส’ เป็นตัวเร่งสำคัญ

​          สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่มีเป้าหมายชัดเจนและเป็นเอกภาพในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังที่ได้ประกาศมาตรการตั้งแต่กลางปี 2012 ว่าตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป รถยนต์ที่ขายในท้องตลาดจะปล่อยก๊าซพิษ (ไนโตรเจนออกไซด์และคาร์บอนออกไซด์) ได้ไม่เกิน 95 กรัมต่อกิโลเมตร (ปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ 140 กรัมต่อกิโลเมตร) ทำให้หลายประเทศทยอยประกาศเดินหน้าสู่ท้องถนนปลอดก๊าซเรือนกระจก และทางเลือกที่เป็นกระแสหลักในเวลานี้คือ รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า​

ประเทศยุโรปที่ประกาศใช้รถยนต์ไฟฟ้าแน่นอนแล้ว ได้แก่

​          นอร์เวย์ - ปัจจุบัน 24 เปอร์เซ็นต์ของรถใหม่ที่วิ่งสู่ท้องถนนล้วนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และมีแผนจะผลักดันให้เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2025

​          เนเธอร์แลนด์ - จะยุติการขายรถยนต์ใหม่ที่ใช้น้ำมันภายในปี 2025

​          ฝรั่งเศส - จะยุติการขายรถยนต์ใหม่ที่ใช้น้ำมันภายในปี 2040

​          อังกฤษ - จากที่มีท่าทีลังเล ในที่สุดก็ประกาศเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าจะยุติการขายรถยนต์ใหม่ที่ใช้น้ำมัน รวมถึงรถยนต์ไฮบริด (HEV) ภายในปี 2040 เช่นกัน โดยเหตุผลหลักที่ทำให้อังกฤษมีท่าทีชัดเจนในเรื่องนี้คือปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งคาดว่าก๊าซพิษจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 40,000 รายต่อปีในสหราชอาณาจักร

​          เยอรมนี - แม้ยังไม่ประกาศเป็นทางการ และยังมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่บนท้องถนนน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ นายไรเนอร์ บาเก้ เชื่อว่าเยอรมนีควรแบนการขายรถยนต์ใช้น้ำมันภายในปี 2030 เพราะนั่นคือหนทางเดียวที่ประเทศจะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนลงได้ 80% ภายในปี 2050 ตามเป้าหมายที่วางไว้

​          อินเดีย - แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศยุโรป แต่กลับประกาศชัดและดูทะเยอทะยานที่สุดในเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะให้เลิกขายรถยนต์ใช้น้ำมัน ยังหวังจะให้รถยนต์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030

​          กระเถิบใกล้บ้านเข้ามาอีกนิด ล่าสุด มาเลเซียตั้งเป้าให้มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า 100,000 คันภายในปี 2020 พร้อมวางแผนติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศกว่า 25,000 แห่งภายในอีก 5 ปี  

                                                                                                                                                                                          สำหรับบ้านเรา แม้ว่าเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ​                                                           

 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 

          มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แต่ค่ายรถใหญ่ที่มีฐานการผลิตในบ้านเรา ต่างมองว่าทิศทางการสนับสนุนของรัฐบาลยังไม่ชัดเจนพอ ขอเวลาศึกษาทั้งด้านเทคนิค การตอบรับของตลาด ความคุ้มค่าด้านธุรกิจ และมีความเห็นคล้ายกันว่าแนวทางที่กรมสรรพสามิตลดภาษีรถยนต์ไฮบริดทุกประเภท อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาด และการเอื้อประโยชน์ให้กับรถยนต์ไฮบริดโดยลดภาษีเหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่ลดภาษีเหลือ 2 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ายังไม่สมเหตุสมผล ดังที่มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ย้ำว่ารถยนต์ไฮบริดไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทางบริษัทจึงขอเดินหน้าพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และ BEV ขณะที่นิสสันจะเดินหน้ารถยนต์ BEV มีเพียงโตโยตาที่ยังยึดแนวทางต่อยอดฐานการผลิตเดิมเพื่อพัฒนาอีโคคาร์ไฮบริดต่อไป

​          นายธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการบางส่วนยังมองว่าในระหว่างบรรทัดของมาตรการส่งเสริมของบีโอไอยังมีคำถามเกิดขึ้น หากยังเปิดช่องว่างให้เกิดการตีความของเจ้าหน้าที่ จะทำให้เกิดปัญหาความชัดเจนในแง่การปฏิบัติ

​          สำหรับจำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย รายงานการวิจัยของ Reserch Intelligence ธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่าสิ้นปี 2016 ไทยมีรถยนต์จดทะเบียนสะสมประเภทรถยนต์ PHEV และ BEV รวมกันเพียง 132 คัน 

          วิจัยกรุงศรีฉบับนี้ประเมินว่า ในระยะแรก ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยตลาดส่วนใหญ่ยังคงเป็นรถยนต์ HEV และ PHEV ขณะที่ตลาดรถยนต์ BEV จะยังเป็น niche market จนกว่าราคาจะลดลงถึงจุดคุ้มค่า และประเด็นความกังวล อาทิ ความเพียงพอของสถานีชาร์จ ประสิทธิภาพแบตเตอรี่ ฯลฯ ได้รับการแก้ไข รวมทั้งการผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังต้องรอความชัดเจนและต้องเร่งแก้ไข ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างเป็นรูปธรรมอาจต้องรอเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี  

​          ขณะเดียวกัน ผลวิจัยของ Bloomberg New Energy Finance รายงานว่าราคาแบตเตอรีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่ซื้อในสหรัฐฯ และยุโรป ต่ำกว่ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันภายในปี 2025 อย่างแน่นอน

​          นั่นก็หมายความว่า ในขณะที่หลายประเทศกำลังนับถอยหลัง ไทยเราเพิ่งตัดสินใจออกตัว และดูจะเป็นการออกตัวที่ช้าไปไม่น้อยกว่า 10 ปี           

ที่มา          :          The Momentum         /        Special Report        /        21 สิงหาคม 2560

นับถอยหลังถนนปลอดรถใช้น้ำมัน กับ 6 ประเทศประกาศใช้แน่นอนแล้ว...?
นับถอยหลังถนนปลอดรถใช้น้ำมัน กับ 6 ประเทศประกาศใช้แน่นอนแล้ว...?
นับถอยหลังถนนปลอดรถใช้น้ำมัน กับ 6 ประเทศประกาศใช้แน่นอนแล้ว...?
แชร์