ปิดตัวนิตยสารหนัง The Hollywood Reporter Thailand หลังเปิดตัวมาหนึ่งปีครึ่ง

หลังเปิดตัวมาหนึ่งปีครึ่ง นิตยสารภาพยนตร์แจกฟรี The Hollywood Reporter Thailand จำต้องปิดตัวลงด้วยเหตุผลทางธุรกิจ สะท้อนภาพวงการสื่อสิ่งพิมพ์ด้านภาพยนตร์ในไทยที่กำลังหายไปทีละเล่ม http://winne.ws/n18946

1.1 พัน ผู้เข้าชม
ปิดตัวนิตยสารหนัง The Hollywood Reporter Thailand หลังเปิดตัวมาหนึ่งปีครึ่ง

          บรรยากาศออฟฟิศชั้น 10 ของอาคารเศรษฐีวรรณในวันศุกร์ที่ 15 กันยายน ดูเงียบเหงา หลังนิตยสารแจกฟรี The Hollywood Reporter Thailand และ Billboard Thailand ปิดตัวลงในเดือนนี้ แต่ในวันนั้นมีนักอ่านจำนวนหนึ่งได้เดินทางมาหยิบนิตยสารภาพยนตร์เล่มสุดท้าย ฉบับที่ 34 ไว้เป็นที่ระลึก ร่วมกับ THRT ฉบับก่อนหน้าที่ทีมงานได้สร้างสรรค์ตลอดหนึ่งปีหกเดือน นับจากวันเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2559

          วอยซ์ทีวี ได้พูดคุยกับ จักรพันธุ์ ขวัญมงคล บรรณาธิการบริหาร The Hollywood Reporter Thailand ถึงการปิดตัวในครั้งนี้ และมุมมองของเขาถึงวงการสื่อที่เปลี่ยนไปในฐานะผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์

"เทคโนโลยีมันเปลี่ยน มันไม่ใช่สิ่งที่คนอ่านต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อแมกกาซีน"

บรรยากาศการแจกนิตยสารวันสุดท้าย
          วันนี้เป็นที่ The Hollywood Reporter Thailand ฉบับสุดท้าย ฉบับที่ 34 ออก ก็เป็นเล่มที่ตั้งใจไว้ว่าจะออกต้นเดือนพฤศจิกายน เพราะเป็นปกซีรีส์เรื่อง Stranger Things ซีซั่น 2 แต่พอเรารู้ว่าต้องทำเล่มสุดท้ายเดือนสิงหาคม ปักษ์หลังแล้ว เราเลยคิดว่าทำสิ่งที่เราตั้งใจไว้ดีกว่า พวกเราทั้งกองเป็นแฟนซีรีส์นี้ และคิดว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ติดซีรีส์เรื่องนี้ เลยเลือกขึ้นมาเป็นปกสุดท้าย ฉบับอำลาครับ

          เราประกาศไปตั้งแต่ 2 - 3 วันที่แล้วว่าจะแจกวันนี้เป็นวันแรกและวันเดียว สำหรับเล่มสุดท้ายและเล่มอื่นๆ ที่ยังเป็น back catalogue อยู่ ก็มาตั้งแต่เช้าครับ เท่าที่น้องๆ ถ่ายภาพให้ดู เท่าที่ได้รับฟีดแบคก็อบอุ่นดีเหมือนกัน เพราะเราไม่เคยเจอผู้อ่านโดยตรงมาตลอด ที่ผ่านมาเราทำหนังสือเป็นฟรีก๊อบปี้ แจกตามจุดแจก รถไฟฟ้า โรงภาพยนตร์ เรารู้ว่าเรามีผู้อ่าน แต่ไม่รู้ว่าผู้อ่านเราเป็นใคร หรือไม่เคยพบปะกัน วันนี้ในบรรยากาศแปลกๆ หน่อย เราก็ได้เจอผู้อ่านโดยตรง บางคนก็มาขอถ่ายรูป ก็ดีครับ


การเดินทางของ The Hollywood Reporter Thailand
          เราทำมาปีกับอีกหกเดือนนะครับ ปีครึ่งโดยประมาณ โดยตัวผมแบ่งเป็นสองอย่างคือ ยังมีสิ่งที่อยากทำ แต่ช่างเถอะ เพราะบริษัทปิดแล้วด้วยเหตุผลทางธุรกิจ เราก็ต้องยอมรับ ก็ไม่ได้ติดใจอะไร เรื่องที่ผมอยากทำก็ช่างมัน แต่พอเรามองย้อนกลับไป ปีครึ่งที่เราทำ ผมคิดว่าเราไม่มีอะไรที่ต้องเสียดายนะ เรารู้สึกว่าเราได้ทำอะไรมาประมาณนึง ทั้งในส่วนของเนื้อหา แคมเปญต่างๆ 

           เช่น Roundtable ที่เราทำไปสองครั้ง เป็นฉบับ Directors กับฉบับ Indie Directors ซึ่งฟีดแบคดีมากทั้ง 2 ครั้ง คือ Roundtable เป็นซิกเนเจอร์ของ The Hollywood Reporter ที่อเมริกา ที่เมืองนอก ซึ่งทำมาหลายอาชีพ หลายคนในวงการภาพยนตร์ เราก็อยากทำแบบนั้นบ้าง แล้วเราเริ่มจากผู้กำกับ 6 คน และผู้กำกับอินดี้อีก 6 คน อันนี้ก็เป็นความภูมิใจของเรา วันนี้เรามองย้อนไปแล้วเห็นว่าผู้กำกับทั้ง 12 คน 2 ปก ก็ถือเป็นผู้กำกับแถวหน้าของประเทศ เรามีพี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) พี่คงเดช (จาตุรันต์รัศมี) พี่โขม (ก้องเกียรติ โขมศิริ) และโต้ง-บรรจง (ปิสัญธนะกูล) ในปกแรก ปกที่สองเป็นผู้กำกับอินดี้ มีคุณใหม่-อโนชา (สุวิชากรพงศ์) ที่หนังได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปชิงออสการ์ มีพี่สืบ (บุญส่ง นาคภู่) มีคุ่น (ปราบดา หยุ่น) ไม่มีอะไรที่เราต้องเสียดาย เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว 

           เราได้ทำแคมเปญอย่าง Revisited ที่เราเอาหนังไทยเก่า ๆ มาเล่าใหม่ เราทำ 'ด้วยเกล้า' และ 17 ปี 'นางนาก' นี่คือสิ่งที่เราอยากทำมาโดยตลอด และถ้าเราได้ทำต่อ เราก็อยากทำไปเรื่อยๆ ยังมีแพลนอีกเยอะที่อยากทำ … เราคิดว่าเราได้ทำแล้ว ถึงจะนิดเดียว แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรต้องเสียใจครับ

ปิดตัวนิตยสารหนัง The Hollywood Reporter Thailand หลังเปิดตัวมาหนึ่งปีครึ่ง

จักรพันธุ์ ขวัญมงคล บรรณาธิการบริหาร The Hollywood Reporter Thailand และ THRT ฉบับสุดท้าย

ขาลงของธุรกิจสิ่งพิมพ์
            ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในไทยอย่างที่ทราบกันว่าอยู่ในช่วงขาลง จริงๆ ก็ลงมาหลายปีแล้ว ผมว่าคนในแวดวงคนทำสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าแล้ว เรารู้กันมานานว่าสื่อสิ่งพิมพ์มันตกลง เพราะเม็ดเงินไหลไปอยู่ในแพลตฟอร์มอื่น และเทคโนโลยีการเข้าถึงข้อมูลมันเปลี่ยน โดยส่วนตัวผมคิดว่านี่ไม่ใช่ข้อแก้ตัวหรือข้ออ้างของคนทำสื่อที่จะบอกว่าสิ่งพิมพ์มันใกล้จะตาย 

          ถ้าเราเป็นคนทำสื่อ เราน่าจะคิดว่าแพลตฟอร์มมันเปลี่ยน เราก็น่าจะเคลื่อนตัวเองไปยังแพลตฟอร์มที่คนอ่าน แต่แน่นอนว่าการเสพสื่อหรือคอนเทนต์ระหว่างหนังสือเป็นเล่มๆ กับอ่านบนแท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน มันให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันอยู่แล้ว 

          คำถามคือ สื่อที่เป็นแมกกาซีนหรือหนังสือนี่มีความรู้สึกไหม มันมีนะครับ สำหรับคนรุ่นผมที่เติบโตมากับการอ่านนิตยสาร มันก็มีความผูกพันกันแบบนั้น แต่ผมไม่ใช่คนที่จะมาตีโพยตีพายว่า ไม่มีคนอ่านแมกกาซีนแล้ว ไม่มีคนซื้อโฆษณา ก็โลกมันเปลี่ยนไป เราก็ต้องยอมรับความจริง พอเรายอมรับความจริง เราก็ต้องเข้าใจว่าแลนด์สเคปของวงการสื่อ วงการคอนเทนต์มันเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งพิมพ์ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน

          เราก็ต้องยอมรับว่าตัวแมกกาซีนอาจไปไม่รอด เพราะเดือนนึงก็มีค่าโรงพิมพ์ ค่าอะไรต่อมิอะไร แล้วคอนเทนต์ก็ต้องถูกเปลี่ยนไป เราเข้าใจดี เพียงแต่ว่า อย่างที่ผมเขียนในบทบรรณาธิการ ในความเข้าใจนั้น เราอาจจะปรับตัวไม่ทันแล้วสำหรับรายจ่ายที่เราต้องแบกไว้ เราอาจรู้สึกตัวช้าไปนิดนึงในการเคลื่อนตัวไปออนไลน์ คือจริงๆ เราวางแผนจะย้ายไปบนออนไลน์อยู่แล้ว แต่ ณ เวลาที่เราตัดสินใจกัน เรารู้สึกว่าตัวเลขที่เราเป็นหนี้อยู่มันเยอะ เราเลยคิดว่าจะไปต่อไหมหรือจะหยุดก่อน มันเหมือนกับคนเลือดไหล ถ้าทำแผลตรงนั้น แล้วเลือดจะออกตรงนี้อีกรึเปล่า สุดท้ายก็คุยกับผู้ใหญ่และตัดสินใจว่าหยุดดีกว่า 

"การที่เรานั่งคุยกันว่าทำอย่างไรนิตยสารถึงจะอยู่ได้ นั่นแปลว่านิตยสารอยู่ไม่ได้แล้ว"

นิตยสารหนังในไทย
            ถ้าเราอ่านแมกกาซีนเกี่ยวกับภาพยนตร์ มันก็มีเกิดขึ้น ครั้งนึงก็มีเยอะแยะหลายเล่ม แล้วมันก็อยู่กันมา และมันก็จากไป เราก็เป็นจุดนึงในสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น เราเกิดขึ้น เรามีเรื่องราวของเราประมาณนึง แล้วเราก็จากไป เป็นเรื่องธรรมดา น่าใจหายครับ แต่ความน่าใจหาย ผมมองว่าคนก็เสพสื่ออยู่ คอนเทนต์เกี่ยวกับภาพยนตร์ก็ย้ายไปอยู่แพลตฟอร์มอื่น คนก็ตามไปอ่านแพลตฟอร์มอื่น ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีอะไรให้อ่านกันแล้ว เพียงแต่ว่ามันเปลี่ยนช่องทาง ต่อให้ไม่มีเว็บไซต์หรือเพจของเรา มันก็ยังมีเพจและเว็บไซต์ต่างๆ ที่นำเสนอข้อมูลด้านภาพยนตร์ให้เลือกอย่างรอบด้าน

           เรารู้สึกใจหายในแง่ที่ว่า นิตยสารที่เราคุ้นเคย ที่อ่านมาตั้งแต่เด็กๆ มันไม่อยู่กับเราแล้ว เหมือนเพื่อนเราหายไปแล้ว ไม่กลับมาแล้ว 

นิตยสารหนังจะอยู่รอดยังไง
          จริงๆ ก็มีการพูดคุยเรื่องนี้ว่าต้องทำอย่างไรนิตยสารถึงจะอยู่ได้ หรือต้องทำเป็น Niche เฉพาะทางไปเลยรึเปล่า ผมมองว่าเมื่อไรที่เราตั้งคำถามนี้ นั่นแปลว่าเรากำลังต่อสู้กับความจริงที่ว่าคนไม่อ่านนิตยสารแล้ว เพราะถ้าคนยังอ่านนิตยสารอยู่ สิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาสำหรับเราเลย เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่เราทำแมกกาซีนอื่นๆ เราไม่เคยต้องคุยกันเรื่องนี้ เราคุยแต่ว่าเล่มนี้ลงอะไรดี เพราะคนอ่านนิตยสาร แต่การที่เรานั่งคุยกันว่าทำอย่างไรนิตยสารถึงจะอยู่ได้ นั่นแปลว่านิตยสารอยู่ไม่ได้แล้ว

             คนอ่านผิดไหม ผมว่าคนอ่านไม่ผิด สุดท้ายเราต้องยอมรับความจริงข้อนี้ก่อนว่าเทคโนโลยีมันเปลี่ยน มันไม่ใช่สิ่งที่คนอ่านต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อแมกกาซีน แต่ถ้าเขายืนหยัดต่อสู้เพื่อแมกกาซีนมันก็จะดีนะครับ มันก็ดีสำหรับเรา เราจะได้ทำงานให้บริการเขาในแง่ของคนทำคอนเทนต์ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่คนอ่านต้องบอกว่าเลิกอ่านเว็บไซต์เถอะ แล้วมาอ่านแมกกาซีนกัน เพื่อที่จะให้แมกกาซีน นิตยสาร หรือสิ่งพิมพ์กระดาษอยู่ได้ ที่สุดแล้วเรากำลังต่อสู้กับสิ่งที่มันเปลี่ยนไปแล้ว และก็จะมีแต่คำถามว่า ถ้า ถ้า ถ้า แบบนี้ดีไหม 

           คำถามคือแล้วจะทำอย่างไรให้แมกกาซีนภาพยนตร์อยู่รอด ผมกำลังจะตอบในสิ่งที่ผมก็ทำไม่ได้ ผมคิดว่า มันอาจต้องกลายเป็น content provider ในแง่ของออนไลน์ ทำคอนเทนต์คุณให้ดีในออนไลน์ คนอ่านที่ไหน ไปหาเขาที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ ออนไลน์ เพจ เฟซบุ๊ก เอาคอนเทนต์ที่คิดว่าดีไปเสิร์ฟเขาที่นั่น และอาจต้องลืมเรื่องนิตยสารไปชั่วคราว ส่วนตัวผมลึกๆ หวังว่ามันจะกลับมา

ปิดตัวนิตยสารหนัง The Hollywood Reporter Thailand หลังเปิดตัวมาหนึ่งปีครึ่ง

นิตยสาร The Hollywood Reporter Thailand

มีโฆษณามาลงนิตยสารน้อยลงหรือไม่
          น้อยลงครับ น้อยลงเยอะ จนแทบไม่เหลือเลย เพราะจุดประสงค์ของสินค้าต่าง ๆ ที่มาลงโฆษณาคือต้องการถึงกลุ่มเป้าหมายใช่ไหมครับ มันเป็นโลกธุรกิจ เขาต้องการนำเสนอสินค้าไปยังกลุ่มเป้าหมาย เขาก็ต้องการพาหนะสักอันที่จะพาเขาไปสู่เป้าหมาย มันไม่มีสินค้าตัวไหนหรอกที่ไม่สนเรื่องเป้าหมาย แต่อยากลงนิตยสาร มันไม่ใช่หรอกครับ บ้าแล้ว ถ้าใครคิดอย่างนั้น ทาร์เก็ตเขาอยู่ในเฟซบุ๊ก เขาก็ไปใช้เฟซบุ๊ก ไม่มีใครมาโรแมนติกกับเราเรื่องการใช้นิตยสารหรอกครับ

          ตลอดเวลาที่เราทำ The Hollywood Reporter Thailand เวลาเราไปคุยกับสินค้าต่าง ๆ เราก็ไม่ได้เอาแมกกาซีนเป็นธงนำไป เราเอาเว็บไซต์ เอาสถิติในเพจ เอามีเดียอื่นนำไป แล้วนิตยสารเป็นของแถม เป็น add-on เพิ่มไปให้ ถ้าเขาอยากเห็นอะไรเป็นฟิสิคัล เป็นชิ้นเป็นอัน มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ครับ 

สิ่งที่สื่อใหม่มาแทนนิตยสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้

          ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของสัมผัส เวลาผมอ่านหนังสือตอนเด็ก ๆ อย่างสีสัน บันเทิงคดี ผมรู้สึกว่าหนึ่งเดือนของการรอมันช่างคุ้มค่า 70 - 80 หน้ามันช่างคุ้มค่า เราอ่านทุกตัวอักษร เหมือนคนหิวโหยตัวอักษร ความคิดอ่าน เราได้ใช้เวลาอยู่กับมัน เรายังจำตอนที่นั่งอ่านแมกกาซีนเล่มนี้ บทความนี้จากแมกกาซีนเล่มนั้นได้ นี่เป็นสิ่งที่โยงเราไว้กับคนทำแมกกาซีน พอเราอ่านแล้วรู้สึกดี เราก็ไปอ่านว่าใครเขียน เขาทำงานอะไรกัน คนนี้เป็นบรรณาธิการ คนนี้เป็นใคร มันเป็นความผูกพันที่เกิดโดยธรรมชาติที่ห้ามไม่ได้ระหว่างผู้อ่านกับคนทำนิตยสาร นี่แหละครับคือเสน่ห์ การรอคอย 1 เดือน อ้าว เดือนนี้ไม่ออก ก็รอไปอีก

          แต่พอเป็นสื่อสมัยใหม่ มันไม่มีสิ่งเหล่านั้น มันไม่มีการรอคอย วันนี้ข่าวนี้ดัง คืนนี้มีหลายสำนักเล่นข่าวนี้ มันไม่มีความผูกพันเกิดขึ้น แต่ผมยืนยันอีกครั้งว่ามันไม่มีอะไรผิดหรือถูก เพียงแต่ว่าเราต้องปรับให้ทัน เราต้องรู้ว่าบริบทต่าง ๆ มันเปลี่ยนไปแล้ว และเวลาบอกว่าเราผูกพันกับหนังสือ มันก็เป็นบริบทคนรุ่นเรา ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเด็กสมัยนี้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องไปผูกพัน เขาต้องการความเร็ว เขาต้องการความถูกต้อง มากกว่านั้นคือเขาต้องการความเห็น เขาอยากรู้ว่าคุณคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ โอเคหรือเปล่า เสน่ห์ของนิตยสารเป็นแบบเมื่อกี้ที่ผมบอก เสน่ห์ของแมกกาซีนออนไลน์ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน แต่ละแพลตฟอร์มมันมีเสน่ห์ของมันครับ 

"ถ้าเรายังอยากทำสื่ออยู่ เราต้องเคลื่อนตัวเองไป ไม่ยึดติดกับมีเดีย"

ถ้าไม่มีนิตยสารแล้ว คนที่เป็น content provider จะไปต่ออย่างไร
          ผมคิดว่าถ้ายังอยู่ในแวดวงคนทำสื่อ เราอาจต้องตั้งคำถามว่าคนอ่านสื่อเราอยู่ที่ไหน แล้วก็ไปที่เวทีนั้น ถ้าเขาอยู่ออนไลน์ เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ เราก็ไปตรงนั้น ถ้าเรายังอยากทำสื่ออยู่ เราต้องเคลื่อนตัวเองไป ไม่ยึดติดกับมีเดีย แต่ถ้าเรายังอยากทำนิตยสารอยู่ อันนี้เป็นโจทย์หนัก เพราะว่าสภาพแวดล้อมมันไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะถ้าคุณอยากทำแมกกาซีนที่เป็นวาไรตี้ มันต้องอยู่ได้ด้วยโฆษณา พอไม่มีใครลงโฆษณา คุณก็ลำบาก เว้นแต่ว่าคุณจะหาวิธีให้คนทิ้งมือถือมาซื้อหนังสือคุณ ซึ่งอันนี้ยาก

ฝากถึงผู้อ่าน The Hollywood Reporter Thailand
           ขอบคุณผู้อ่าน The Hollywood Reporter Thailand ทุกท่านครับ ถึงแม้ว่าจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นกลุ่มผู้อ่านที่เหนียวแน่น ขอบคุณที่ติดตามเรามาตลอด ขอบคุณที่ติชม ทั้งติ ทั้งชม ทั้งแสดงความคิดเห็น สำหรับผมมันทำให้รู้สึกว่า อย่างน้อยสิ่งที่เราทำไปมันได้สื่อสารกับผู้อ่าน หวังว่าเราได้ทำให้ผู้อ่านสนุกสนานไปกับเราตลอดระยะเวลาหนึ่งปี ก็ไม่มีคำอะไรจะพูดนอกจากขอบคุณ ผมพูดแทนน้อง ๆ ในกอง ทุกคนในทีม บริษัทที่เกี่ยวข้องครับว่า ขอบคุณที่อยู่ด้วยกันมาปีครึ่งครับ … คนที่เหลืออยู่ก็สู้นะครับ (หัวเราะ)

ปิดตัวนิตยสารหนัง The Hollywood Reporter Thailand หลังเปิดตัวมาหนึ่งปีครึ่ง

บรรยากาศผู้อ่านที่มารับนิตยสาร The Hollywood Reporter Thailand ฉบับสุดท้าย และฉบับก่อนหน้า

ปิดตัวนิตยสารหนัง The Hollywood Reporter Thailand หลังเปิดตัวมาหนึ่งปีครึ่ง

โพสต์สุดท้ายในเพจ The Hollywood Reporter Thailand

ขอขอบคุณภาพและแหล่งข่าวจาก https://news.voicetv.co.th

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://news.voicetv.co.th/entertainment/524461.html

แชร์