เวียนเทียนและเวียนประทักษิณ ต่างกันหรือไม่ ปฏิบัติอย่างไรให้ได้บุญมาก ?

คำว่า “เวียนเทียน” ใช้กับการเดินเวียนรอบบุคคล สิ่งของ หรือสถานที่เคารพบูชา โดยอาจจะใช้คำอื่นก็ได้ว่า “ประทักษิณ” ซึ่งหมายถึง เบื้องขวา หรือการเวียนขวา คือเวียนเลี้ยวไปทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา เป็นอาการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดต่อ.. http://winne.ws/n19049

8.1 พัน ผู้เข้าชม
เวียนเทียนและเวียนประทักษิณ ต่างกันหรือไม่ ปฏิบัติอย่างไรให้ได้บุญมาก ?แหล่งภาพจาก DMC.tv

เวียนเทียน และ เวียนประทักษิณ ต่างกันหรือไม่ เวียนอย่างไรให้ได้บุญมาก

       พิธีการเวียนรอบปูชนียวัตถุหรือปูชนียสถานเพื่อเป็นการแสดงความเคารพนั้น ไทยได้รับคตินี้มาจากอินเดียพร้อมกับพระพุทธศาสนา โดยปรากฏหลักฐานการแสดงความเคารพโดยการเวียนเทียนในพระไตรปิฎก ซึ่งใช้คำว่าเวียนประทักษิณาวัตร คือเวียนขวา 3 รอบ เป็นเครื่องหมายถึงการแสดงออกซึ่งการเคารพบูชาต่อสิ่งนั้น ๆ อย่างสูงสุด

       ในทางพุทธศาสนาแล้ว คำว่า “เวียนเทียน” ใช้กับการเดินเวียนรอบบุคคล สิ่งของ หรือสถานที่เคารพบูชา โดยอาจจะใช้คำอื่นก็ได้ว่า “ประทักษิณ” ซึ่งหมายถึง เบื้องขวา หรือการเวียนขวา คือเวียนเลี้ยวไปทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา เป็นอาการแสดงความเคารพ หรือใช้คำว่า “ทักขิณาวัฏฏ์” หรือ “ทักษิณาวัฏ” ซึ่งหมายถึง เวียนขวา หรือวนไปทางขวา คือ เลี้ยววนทางขวาอย่างเข็มนาฬิกา (หมายเหตุ - ความหมายคำว่า “ประทักษิณ” “ทักขิณาวัฏฏ์” และ “ทักษิณาวัฏ” นี้

       โดยการเวียนเทียนหรือการทำประทักษิณต่อบุคคล สิ่งหรือสถานที่ใด ๆ นั้น ทำไปเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเคารพต่อบุคคล สิ่งหรือสถานที่นั้น ๆ อย่างสูงสุด ซึ่งการกระทำประทักษิณนี้ ก็มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลแล้ว

       ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งพระสารีบุตรท่านไปทูลลาพระพุทธเจ้า เพื่อจะกลับไปนิพพานที่แคว้นมคธ พระสารีบุตรท่านก็ได้กระทำประทักษิณ ๓ รอบต่อพระพุทธเจ้าเช่นกัน
      หากเราจะกล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ การเวียนเทียนก็เป็นวิธีการแสดงความเคารพวิธีการหนึ่ง ทำนองเดียวกับการกราบไหว้ เพียงแต่การเวียนเทียนถือเป็นเครื่องหมายการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด ซึ่งมาถึงตรงนี้ เราได้ตอบคำถามแล้วนะครับว่า เวียนเทียนคืออะไร และเวียนเทียนกันไปทำไม

       บางท่านอาจจะสงสัยต่อไปว่า เวียนเทียนมากรอบจะแสดงว่า เคารพมากกว่าเวียนเทียนน้อยรอบไหม เช่นว่า บางคนอาจจะบอกว่าตนเองเวียนเทียน ๑๐ รอบจึงถือว่าเคารพมากกว่าคนที่เวียนเทียน ๓ รอบ

       อย่าลืมว่าการเวียนเทียนหรือการทำประทักษิณนั้นทำไปเพื่อ “เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเคารพ” ต่อบุคคล สิ่งหรือสถานที่นั้น ๆ อย่างสูงสุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นเพียง “เครื่องหมายแสดงถึงความเคารพ” เท่านั้น ส่วนว่าจะเคารพมากหรือน้อยนั้น ย่อมจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนรอบของการเวียนเทียน แต่ย่อมขึ้นอยู่กับใจที่เป็นสมาธิ ยิ่งได้สมาธิมาก การเวียนครั้งนี้ก็ได้อานิสงส์มาก เพราะ สมาธิ เป็นหนทางแห่งการหลุดพ้น

       นึกอีกแบบคือการที่เราจะยกมือไหว้ใครสักคนหลาย ๆ รอบ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเคารพเขามากมาย ในทำนองเดียวกันแล้ว การที่เราเวียนเทียนมากรอบนั้น ก็ไม่ได้จะแปลว่าเคารพมากมายเสมอไป แต่ย่อมจะอยู่ที่ใจจริง ๆ ของเรานั่นแหละ
       หากเราเวียนเทียนรอบพระพุทธรูป ก็ระลึกเคารพถึงพระพุทธเจ้า หรืออาจจะระลึกเคารพถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ (ระลึกถึงพระรัตนตรัย) กรณีที่เวียนเทียนรอบอุโบสถ วิหาร หรือศาลาการเปรียญ ก็อาจจะระลึกเคารพถึงพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน เพราะก็มีพระประธานอยู่ภายในด้วย กรณีที่เวียนเทียนรอบเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ หรือต้นโพธิ์ ก็ระลึกเคารพถึงพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน

      (ทั้งนี้ หากท่านไหนที่เจริญสติเป็น เดินจงกรมเป็น ก็อาจจะเดินปฏิบัติภาวนาไปด้วยอันถือเป็นการปฏิบัติบูชาในระหว่างที่เดินเวียนเทียนแสดงความเคารพนั้น ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์)

เวียนเทียนและเวียนประทักษิณ ต่างกันหรือไม่ ปฏิบัติอย่างไรให้ได้บุญมาก ?แหล่งภาพจาก Tesco Lotus

ถามว่า “เราจะไปเวียนเทียนในเวลากลางวัน หรือเวลากลางคืนดี”

       ก็ตอบเช่นเดียวกันว่า ไปเวลาไหนก็ได้ที่สะดวกและถูกจริตสำหรับท่านที่จะไปเวียนเทียนครับ นอกจากนี้ ในเมื่อการเวียนเทียนทำไปเพื่อเป็นเครื่องหมายของการแสดงความเคารพแล้ว
การทำความเคารพโดยการเวียนเทียนจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องทำในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเท่านั้น แต่จะทำในวันไหนก็ได้ ทำเมื่อไรก็ได้ ไม่จำกัดเวลา ทำเมื่อไรก็เป็นกุศลเมื่อนั้นและได้อานิสงส์เมื่อนั้น
        เสมือนเราจะกราบไหว้พระ หรือกราบไหว้พ่อแม่ จะกราบไหว้เมื่อไรก็ได้ และก็ได้กุศลเมื่อนั้น บางท่านอาจจะสงสัยว่า กราบไหว้พ่อแม่บ่อย ๆ ได้กุศล หรือได้อานิสงส์ด้วยหรือ
ก็เรียนว่าพ่อแม่เปรียบเสมือนเป็นพระอรหันต์ของบุตร เสมือนเป็นพระพรหมของบุตร
อย่างน้อย ๆ ที่สุดกราบไหว้เมื่อใด ก็ถือว่าเป็น “อปจายนมัย” ได้ คือการประพฤติอ่อนน้อม
(ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐)

        การเวียนเทียนในงานบวชก็ทำนองเดียวกันนะครับ แม้ว่าคนอื่น ๆ อาจจะนิยม "โห่ฮิ้ว" อะไร ก็ว่ากันไปของเขา ซึ่งเราก็ไม่ต้องไปห้ามเขานะครับ แต่ในเมื่อเรากำลังเดินเวียนเทียนรอบอุโบสถ (ซึ่งก็มีพระประธานอยู่ภายใน" แล้ว ขอแนะนำให้น้อมใจระลึกเคารพถึงคุณของพระพุทธเจ้า (หรือพระรัตนตรัย)  ส่วนท่านไหนที่เจริญสติเป็น เดินจงกรมเป็น ก็ย่อมจะเดินปฎิบัติภาวนาไปด้วยได้

      ถึงตรงนี้มีคำตอบแล้วว่า เวียนเทียนเพื่ออะไร เวียนเทียนอย่างไร และการเวียนเทียนนั้นไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเท่านั้น และก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำที่วัดเท่านั้น โดยจะทำที่บ้านท่านก็ได้

อ้างอิงจาก : http://www.dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=594:2011-05-18-07-14-29&catid=66:-desitinationdhamma

แชร์