Filmax นิตยสารหนังไทย ปิดตัวแล้ว หลังอยู่คู่คอหนังครบ 10 ปี เหตุการเปลี่ยนแปลงของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์

เป็นเรื่องน่าใจหายไม่น้อยสำหรับคนรักหนัง เมื่อนิตยสารด้านภาพยนตร์ในไทยค่อยๆ หายจากแผงหนังสือไปทีละเล่ม โดยในเดือนนี้มีนิตยสารถึงสองเล่มที่จากไปทั้ง นิตยสารแจกฟรี The Hollywood Reporter Thailand รวมถึง Filmax ที่อยู่คู่คอหนังมาครบ 10 ปี http://winne.ws/n19063

1.5 พัน ผู้เข้าชม
Filmax นิตยสารหนังไทย ปิดตัวแล้ว หลังอยู่คู่คอหนังครบ 10 ปี เหตุการเปลี่ยนแปลงของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์

             เป็นเรื่องน่าใจหายไม่น้อยสำหรับคนรักหนัง เมื่อนิตยสารด้านภาพยนตร์ในไทยที่มีจำนวนไม่มากอยู่แล้วกลับค่อยๆ หายจากแผงหนังสือไปทีละเล่ม โดยในเดือนนี้มีนิตยสารถึงสองเล่มที่จากไปทั้งนิตยสารแจกฟรี The Hollywood Reporter Thailand รวมถึง Filmax ที่อยู่คู่คอหนังมาครบ 10 ปี

             หลังกระแสข่าวการปิดตำนาน Filmax เป็นที่พูดถึงในแวดวงคนรักหนังได้ระยะหนึ่ง อลงกรณ์ คล้ายสีแก้ว บรรณาธิการบริหารของนิตยสารได้ประกาศข่าวร้ายอย่างเป็นทางการผ่านเพจเฟซบุ๊กในวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลการอำลาแผงหนังสือครั้งนี้ว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง

               “Filmax ก็เหมือนสื่อสิ่งพิมพ์เล่มอื่นที่น่าจะประสบปัญหาเดียวกันหมด หนึ่งคือเม็ดเงินของโฆษณาย้ายจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปที่สื่ออื่นเยอะขึ้น ทั้งสื่อทีวีดิจิทัลที่แข่งขันกันดุเดือด และสื่อนิวมีเดีย อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มเข้ามา คือรายได้หลักของนิตยสารส่วนใหญ่จะมาจากโฆษณามากกว่า พอเม็ดเงินโฆษณาหายไปก็ส่งผลกระทบต่อนิตยสารพอสมควร” อลงกรณ์กล่าว โดยเพิ่มข้อสังเกตว่าจุดเปลี่ยนน่าจะมาจากเฟซบุ๊ก ที่แสดงยอดไลก์ ยอดคนดู และยอดผู้ติดตาม ซึ่งตัวเลขที่ดูแน่นอนเหล่านี้อาจดึงความสนใจของเอเจนซี่ในการตัดสินใจลงโฆษณาไม่น้อย

                นอกจากนั้นบรรณาธิการบริหารวัย 40 ปี ยังมองว่า พื้นที่การวางขายสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีนี้ จึงทำให้ต้องลดยอดพิมพ์ไปโดยปริยาย แม้ว่าจำนวนผู้อ่าน Filmax จะลดลงไม่มากนัก

Filmax นิตยสารหนังไทย ปิดตัวแล้ว หลังอยู่คู่คอหนังครบ 10 ปี เหตุการเปลี่ยนแปลงของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์

             อลงกรณ์ คล้ายสีแก้ว บรรณาธิการบริหาร Filmax และนิตยสารเล่มสุดท้าย

            จากฉบับแรกในเดือนกรกฎาคม 2550 จนถึงฉบับสุดท้ายเล่มที่ 122 ในเดือนสิงหาคม 2560 นิตยสาร Filmax ได้เดินทางผ่านการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งอลงกรณ์เผยว่ายอดขายของนิตยสารเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2553 ก่อนจะหยุดนิ่งและลดลงเกือบ 40 เปอร์เซนต์ในปี 2557 ทำให้ต้องลดยอดพิมพ์ลงเมื่อสองปีก่อน และต้องปรับราคาจากเดิม 90 บาท เป็น 100 บาทในปีที่แล้ว โดยยังคงเอกลักษณ์ในการนำเสนอเรื่องราวจากแวดวงภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศแบบเจาะลึกผ่านกระดาษสี่สีทั้งเล่มเช่นเดิม

"ขอบคุณที่อยู่เป็นเพื่อนกันมา 10 ปีเต็ม เป็นความทรงจำที่ดีมากครับ"

           อลงกรณ์เล่าย้อนว่า จุดเริ่มต้นของ Filmax มาจากนิตยสาร Pulp ซึ่งเริ่มวางแผงในปี 2545 ในยุคที่การดูหนังผ่านวีดีโอได้รับความนิยม และมีหนังนอกกระแสเข้ามาในไทยไม่น้อยให้คนรักหนังได้เลือกชมที่โรงหนังทางเลือกอย่าง House RCA และลิโด้ มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ รวมถึงร้านแว่นวีดีโอ หรือ ‘ร้านพี่แว่น’ นิตยสาร Pulp จึงนำเสนอเรื่องราวของภาพยนตร์นอกกระแสอย่างจุใจจากความกระหายใคร่รู้ของผู้ทำ แต่สุดท้าย Pulp ก็ต้องปิดตัวลงหลังเปิดตัวได้สี่ปี เพราะไม่มีโฆษณา

           “เป็นปัญหาอมตะของสื่อภาพยนตร์เพราะเอเจนซี่ไม่ค่อยซื้อโฆษณาหนังสือหนังเท่าไร เพราะมองว่าเป็นหมวดนิตยสารบันเทิง พวกเดียวกับเครื่องเสียง เพลง เอเจนซี่ใหญ่ ๆ เลยจะไปลงกับหนังสือผู้ชาย ผู้หญิงมากกว่า หนังสือหนังอาภัพมาตั้งแต่ก่อนที่ผมทำอีก อยู่นอกสายตา ส่วนใหญ่จะอยู่ได้ด้วยการขายโฆษณาตรง แต่ก็น้อย และด้วยยอดขาย” อลงกรณ์กล่าว 

            หลังเป็นบรรณาธิการคนที่สามของนิตยสาร Pulp อลงกรณ์ได้สร้างสรรค์นิตยสารหนังต่อในชื่อ Filmax ในปี 2550 ซึ่งตรงกับยุคที่ดีวีดีได้รับความนิยม โดยปรับนิตยสารให้ผสมผสานทั้งภาพยนตร์ในกระแสและนอกกระแส พร้อมย่อยข้อมูลที่ซับซ้อนให้ผู้อ่านเข้าใจได้ไม่ยาก เพื่อเข้าถึงผู้อ่านในวงกว้างตามคอนเซ็ปต์ ‘เพื่อนคนรักหนัง’ 

            “ยุคนั้นเริ่มมีอินเทอร์เน็ตแล้ว เราต้องทำให้คนเห็นว่าเราเต็มที่กับการทำสกูป เราทำการบ้านมา ไม่ได้เอามาจากวิกิพีเดียหรือที่ใดที่หนึ่ง ต้องรวบรวมและย่อยให้ได้ชัดเจน ให้เขารู้สึกว่าคุ้มค่ากับเงินที่ซื้อไป” อลงกรณ์กล่าว

Filmax นิตยสารหนังไทย ปิดตัวแล้ว หลังอยู่คู่คอหนังครบ 10 ปี เหตุการเปลี่ยนแปลงของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์

จากซ้ายไปขวา: Filmax ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม 2550 และฉบับที่ 2 เดือนสิงหาคม 2550 ซึ่งมีการแถมวีซีดีเบื้องหลังภาพยนตร์ในเล่ม

Filmax นิตยสารหนังไทย ปิดตัวแล้ว หลังอยู่คู่คอหนังครบ 10 ปี เหตุการเปลี่ยนแปลงของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์

                                           การแจกวีซีดีในนิตยสาร Filmax ในยุคเริ่มต้น

              นอกจากทำนิตยสารเป็นรูปเล่มวางขายบนแผงหนังสือ Filmax ยังมีเว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก และอ่านได้ทางอีบุ๊ก ซึ่งบรรณาธิการบริหาร Filmax มองว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้นทำให้บางคนมองว่าสิ่งที่อยู่ออนไลน์เป็นของฟรี ไม่ว่าจะเป็นหนัง หนังสือ หรือสิ่งพิมพ์ จึงส่งผลกระทบต่อผู้ทำกิจการออนไลน์แบบถูกลิขสิทธิ์ไม่น้อย นอกจากนั้นมุมมองต่อนักวิจารณ์ยังเปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน 

                “บางคนมองว่านักวิจารณ์เข้าใจยาก ดูแต่หนังเข้าใจยาก คือคนที่ไม่เชื่อนักวิจารณ์ก็มี เขาก็รู้สึกว่าแค่อยากสนุก บอกหน่อยว่าดูแล้วสนุกไหม บางคนเขาต้องการแค่นี้ เล่าเรื่องย่อให้ฟังหน่อย บางทีผมก็งงว่าจะให้ผมมาสปอยล์หนังทำไม (หัวเราะ)” อลงกรณ์กล่าว “นักวิจารณ์จะได้รับความสนใจขึ้นมาก็เฉพาะช่วงประกาศผลรางวัล เช่น ออสการ์ สุพรรณหงส์ ถึงจะมีคนหันมามองหน่อยว่ามาตรฐานจริงๆ อยู่ตรงไหน แต่ถ้าตลาดทั่วไป คนก็มองว่าดูเอาสนุกก็พอ นักวิจารณ์ปวดหัว”

              สำหรับวงการนิตยสารภาพยนตร์ในต่างประเทศ อลงกรณ์มองว่าทางฝั่งอังกฤษ นิตยสารหนังมีขนาดบางลงไม่น้อยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ได้ โดยเฉพาะบทวิจารณ์ที่ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่ผู้อ่านยังคงให้ความสำคัญกับการวิจารณ์หนังอยู่ แม้จะมีช่องทางออนไลน์มาเสริม แต่ก็ไม่ได้นำเสนออย่างเข้มข้นแบบในนิตยสาร หรือเร็วเท่าสื่อออนไลน์เต็มตัวที่มาในยุคหลัง ซึ่งอลงกรณ์ให้ความเห็นว่า สื่อเหล่านั้นยังขาดความน่าเชื่อถือ เน้นปริมาณและความรวดเร็วมากกว่าคุณภาพ 

            "ผมก็เลยรู้ตอนนั้นแหละว่า มีคนที่ผูกพันกับเราอยู่เหมือนกัน เราไม่ได้อยู่คนเดียว ไม่ได้ห่างเหินอย่างที่ผมคิด"

             ปัจจุบันเหลือนิตยสารภาพยนตร์ในไทยเพียงสามหัว ได้แก่ Starpics นิตยสารภาพยนตร์รายเดือนที่เก่าแก่ที่สุดในไทย ซึ่งปีนี้จะมีอายุครบ 52 ปี นิตยสารรายปักษ์ Entertain ที่วางแผงต่อเนื่องมานาน 35 ปี และนิตยสาร Bioscope ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้รักหนังมาครบ 17 ปี 

               โดยอลงกรณ์คิดว่า นิตยสารหนังคงต้องมีอยู่ เพราะคนน่าจะอยากอ่านสกูปหรือข้อเขียนวิเคราะห์ที่ต้องใช้สมาธิในการอ่านในรูปแบบสิ่งพิมพ์มากกว่า ขณะที่บางอย่างสามารถอ่านแบบออนไลน์ได้ หากต้องการความรวดเร็ว แต่การปรับตัวไปเป็นสื่อออนไลน์ก็เป็นสนามที่ยากจะหลีกเลี่ยง ซึ่งน่าจะเป็นงานหนักสำหรับผู้บริหารและฝ่ายเซลล์ 

             แม้ Filmax จะปิดตัวนิตยสารรายเดือนไป แต่ทีมงานวางแผนออกเล่มเฉพาะกิจในนาม Filmax Collection โดยประเดิมฉบับแรกด้วยการเจาะลึกเรื่องราวของซูเปอร์ฮีโรจากค่าย DC เพื่อฉลอง 80 ปี DC Comics หากเสียงตอบรับดี ก็อาจช่วยให้มีฉบับเฉพาะกิจอื่น ๆ ตามมา

Filmax นิตยสารหนังไทย ปิดตัวแล้ว หลังอยู่คู่คอหนังครบ 10 ปี เหตุการเปลี่ยนแปลงของตลาดสื่อสิ่งพิมพ์

นิตยสาร Filmax ฉบับเก่าที่นำไปขายในงาน Big Bad Wolf 2017 (ภาพจากเฟซบุ๊ก Filmax)

              การโพสต์ประกาศปิดตัวนิตยสารถือเป็นข่าวเศร้าสำหรับทั้งผู้อ่านและทีมงาน แต่ก็ทำให้อลงกรณ์รับรู้ว่ามีผู้อ่านที่คอยติดตามและเป็น ‘เพื่อน’ อยู่ไม่น้อย 

              “ด้วยธรรมชาติของสื่อสิ่งพิมพ์ เราจะไม่เห็นฟีดแบคของคนอ่านทันที ยิ่งเมื่อก่อนผมทำเสร็จหนึ่งเล่ม เราจะรู้ฟีดแบคว่าคนชอบหรือไม่ชอบ ก็ต่อเมื่อมีใครเขียนจดหมายหรืออีเมลกลับมา ซึ่งก็ไม่ได้มากอะไร บางทีเราก็ดูได้แค่ยอดขาย หรือไปแอบดูตามร้านหนังสือว่าเล่มนี้มีคนอ่านไหม เขาหยิบมาดูรูป หรืออ่านจริงจังจนไปซื้อ ก็เป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกอย่าง คือรู้ว่านิตยสารมีคนอ่าน มีคนติดตาม แต่เราไม่รู้ว่าเขาผูกพันกับมันรึเปล่า แต่ทุกวันนี้มันอยู่มา 10 ปีแล้ว คนมาตอบส่วนใหญ่ก็จะบอกว่า โตมากับ Filmax อ่านมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เป็นเหมือนเพื่อนกันแล้วมั้งครับ คือมันก็ผูกพันกันพอสมควร ผมก็เลยรู้ตอนนั้นแหละว่า มีคนที่ผูกพันกับเราอยู่เหมือนกัน เราไม่ได้อยู่คนเดียว ไม่ได้ห่างเหินอย่างที่ผมคิด”

               อลงกรณ์ก็เป็นอีกคนที่โตมากับนิตยสารภาพยนตร์ และส่งแรงบันดาลใจให้มาทำงานในวงการนี้

             “ในยุคผมมีนิตยสารหนังอยู่สามหัว ผมก็โตมากับ Entertain Starpics หนังและวีดีโอ ซึ่งต่อมาเป็น Filmview ผมอ่านหมดเลย เป็นคนบ้าหนังครับ ก็ซื้อทุกเล่ม วันนึงก็อยากทำ (นิตยสารหนัง) เพราะมีสิ่งที่คิดว่าอยากอ่านอะไร อยากให้เพิ่มตรงไหน ก็เลยทำทั้ง Pulp และ Filmax ให้ออกมาเป็นสิ่งที่อยากทำ และคิดว่าคนอ่านก็น่าจะอยากอ่าน” อลงกรณ์กล่าว “เมื่อก่อนเป็นคนที่ชอบจนหมกมุ่น ก็รู้สึกว่าเอาความหมกมุ่นมาระบายออกให้คนอื่นได้รับรู้บ้าง ก็เป็นการบำบัดตัวเองไปในตัว คือผมก็เขียนหนังสือไป ช่วยบำบัดตัวเองไป แล้วมีคนอ่าน ก็ไม่น่าเชื่อว่าเอาความชอบสมัยเด็กมาเป็นสิ่งที่เลี้ยงตัวเองได้ 10 กว่าปี ผมก็ยังแปลกใจตัวเองอยู่”

              การปิดตัวของ Filmax หลังอยู่คู่นักอ่านมา 10 ปี คงไม่มีคำไหนที่จะตอบแทนผู้อ่านได้ดีไปกว่าคำขอบคุณ

              “ไม่มีอะไรมาก นอกจากคำว่าขอบคุณนะครับ ยิ่งเป็นคนที่อ่านกันมาตั้งแต่เล่มหนึ่ง ก็ขอบคุณที่อยู่เป็นเพื่อนกันมา 10 ปีเต็ม เป็นความทรงจำที่ดีมากครับ 

               “สำหรับนิตยสารที่เหลืออยู่ ผมก็เข้าใจครับว่าทุกคนต้องเจออะไร และก็คงต้องสู้กันต่อไป รู้ว่าทุกคนถ้าไม่รัก ก็คงไม่ทำหรอก ทุกคนที่ยังเหลือทุกวันนี้ก็ทำด้วยใจรักเป็นหลักนั่นแหละ ผมเชื่ออย่างนั้น” อลงกรณ์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ปิดตัวนิตยสารหนัง The Hollywood Reporter Thailand

การปรับตัวของนิตยสารภาพยนตร์ในไทย

ขอขอบคุณภาพและแหล่งข่าวจาก https://news.voicetv.co.th

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://news.voicetv.co.th/entertainment/525790.html

แชร์