อานิสงส์และความพิเศษของบุญทอดกฐิน.. ?

การทอดกฐิน ถือเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ทุกยุคทุกสมัย มีความศรัทธาเลื่อมใสว่า เป็น “ยอดของมหากุศล” จะเป็นเหตุนำทางให้ผู้ที่ได้มีส่วนร่วมในการทอดกฐินนั้น ได้มหานิสงค์อันยิ่งใหญ่สุดประมาณ http://winne.ws/n19478

5.8 หมื่น ผู้เข้าชม
อานิสงส์และความพิเศษของบุญทอดกฐิน.. ?

การทอดกฐิน อานิสงส์และความพิเศษของบุญทอดกฐิน

        บุญจากการทอดกฐิน ถือเป็นบุญใหญ่ที่มีอานิสงส์มากเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นบุญที่ทำได้ยากและมีข้อจำกัดหลายประการ อีกทั้งการทำบุญทอดกฐินจะมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น

       “การทอดกฐิน” เป็นอริยะประเพณี ที่สืบทอดมามากกว่า 2,500 ปี นับตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ มีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ถือเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ทุกยุคทุกสมัย มีความศรัทธาเลื่อมใสว่า เป็น “ยอดของมหากุศล” จะเป็นเหตุนำทางให้ผู้ที่ได้มีส่วนร่วมในการทอดกฐินนั้น ได้มหานิสงค์อันยิ่งใหญ่สุดประมาณ 

       ด้วยเหตุนี้ การทำบุญทอดกฐิน จึงเป็นงานบุญที่อยู่ในใจ และ อยู่ในเส้นทางของชีวิตชาวไทย ในหนึ่งปีที่จะพลาดไม่ได้ สำหรับในปีนี้ เพื่อให้การทำบุญทอดกฐินของท่านพุทธศาสนิกชน ดำเนินอยู่บนรากฐานของความมีศรัทธา เต็มใจ และ สุขใจที่ได้ทำบุญ มิใช่สักแต่ว่าทำบุญ ด้วยความเกรงใจเหมือนปีก่อนๆที่ผ่านมา เราควรทำบุญด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง การทำบุญทอดกฐินนั้น เป็นการทำบุญตามพุทธประสงค์ คือ ทำบุญอย่างผู้รู้ ที่เข้าใจคุณค่า และ ความหมายของบุญที่กระทำ 

ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่เราจะได้ศึกษาความเป็นมา และ ความสำคัญของประเพณี รวมทั้งอานิสงส์ ของการทอดกฐิน ดังมีเรื่องราวโดยย่อดังต่อไปนี้

อานิสงส์และความพิเศษของบุญทอดกฐิน.. ?แหล่งภาพจาก YouTube

ที่มาของประเพณีทอดกฐิน (เรื่องโดยย่อ)

       ในสมัยพุทธกาล ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาฝนยังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นก็เดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความลำบาก ระยะนั้นมีฝนตกชุก หนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถี พระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่ และ การเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลให้ทรงทราบ จากนั้นพระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาต ให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส โดยกำหนดระยะเวลา คือ นับจากวันออกพรรษาตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นระยะเวลา ๑ เดือน  กฐิน จึงได้ชื่อว่าเป็น กาลทาน ทำได้ในช่วงเวลานี้เท่านั้น

ความหมาย

          คำว่า " กฐิน " มีความหมายเกี่ยวเนื่องถึง ๔ ประการ คือ

          ๑ . เป็นชื่อของกรอบไม้ อันเป็นแม่แบบสำหรับทำจีวรที่อาจเรียกว่า " สะดึง " เนื่องจากสมัยพุทธกาลการทำจีวรให้มีลักษณะตามกำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ให้เป็นอุปกรณ์ในการทำผ้านุ่ง / ผ้าห่ม / ผ้าห่มซ้อนที่รวมเรียกว่า จีวร ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ( ผ้านุ่งพระ เรียกสบง / ผ้าห่ม เรียกจีวร / ผ้าห่มซ้อน เรียกสังฆาฎิ ) โดยพระสงฆ์จะช่วยกันทำโดยอาศัยแม่แบบนี้ เมื่อทำเสร็จและพ้นกำหนดกาลแล้วก็จะรื้อไม้แม่แบบเก็บไว้ใช้ในปีต่อ ๆ ไป การรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้านี้เรียกว่า " เดาะ " หรือ " กฐินเดาะ " ( เดาะกฐินก็เรียก )

          ๒ . เป็นชื่อของผ้า ที่ถวายแก่สงฆ์เพื่อทำจีวรตามแบบหรือกรอบไม้นั้น และต้องถวายตามกำหนดเวลา ๑ เดือนดังกล่าว ซึ่งผ้านี้จะเป็นผ้าใหม่ ผ้าเก่าฟอกสะอาดหรือผ้าบังสุกุล ( ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว ) ก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์หรือภิกษุสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วเป็นอันใช้ได้

          ๓ . เป็นชื่อของบุญกิริยา คือ การทำบุญถวายผ้ากฐินเพื่อให้สงฆ์ทำเป็นจีวร ซึ่งต้องเป็นพระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน ทั้งนี้ เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าใหม่ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐินหรือที่เรียกกันติดปากว่า " ทอดกฐิน " ก็คือการทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ และต้องทำในเวลาที่กำหนด ๑ เดือนที่ว่า ถ้าทำก่อนหรือหลังไม่ถือว่าเป็นกฐิน

          ๔ . เป็นชื่อของสังฆกรรม คือ กิจกรรมของสงฆ์ที่จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

อานิสงส์และความพิเศษของบุญทอดกฐิน.. ?แหล่งภาพจาก บทความพระพุทธศาสนา

พิธีทอดกฐิน

        ส่วนใหญ่มักจัดขึ้นในช่วงสายประมาณ ๑๐.๐๐ น. และมักต่อด้วย การถวายภัตตาหารเพล จากนั้น ก็ทำพิธีทอดกฐินในเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. โดยธรรมเนียมปฏิบัติ มักมี “บริวารกฐิน” เพื่อถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ซึ่งไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายภายในวัด เป็นค่าน้ำ ค่าไฟตลอดทั้งปี รวมทั้งค่าก่อสร้าง เช่น เทปูนสร้างถนน เทปูนทำทางเดินไปอุโบสถ ไปศาลาอเนกประสงค์ ไปศาลาสวดศพ ฯลฯ ทั้งส่วนซ่อมแซม และ ต่อเติมเสริมใหม่ เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่พระภิกษุสามเณร และ พุทธบริษัทได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ความพิเศษของกฐิน

        ในปีหนึ่ง แต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว นอกจากนั้นแล้ว กฐินทานก็มีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น ได้แก่

๑. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือน การให้ทานอย่างอื่นไม่ได้
๒. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษา เป็นต้นไป
๓. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
๔. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่กำหนดไว้
๕. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
๖. จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
๗. เป็นพระบรมพุทธานุญาต
       การให้ทานอย่างอื่น ทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขา ทูลขออนุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้ พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระพุทธประสงค์โดยตรง

อานิสงส์และความพิเศษของบุญทอดกฐิน.. ?แหล่งภาพจาก www.tnews.co.th

อานิสงส์ของการทอดกฐิน

       อานิสงส์กฐินนี้ หลวงปู่ปาน แห่งวัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเคยเทศน์ ตามพระบาลี ฉะนั้น การทำบุญ จะเป็นเงินก็ตาม จะเป็นของก็ตาม ถือว่า ทุกอย่างเป็น อานิสงส์กฐิน พระสูตรตามที่ท่านกล่าวไว้ในพระบาลี บุคคลใดตั้งใจทอดกฐินแล้วในชีวิตหนึ่ง ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพกฐินก็ดี หรือ เป็นบริวารกฐินก็ดี (แต่ถ้าเป็นกฐินสามัคคี หมายความว่า ทุกคนจะเป็นเจ้าภาพเหมือนกันหมด) จะทำบุญน้อย จะทำบุญมาก มีอานิสงส์เสมอกัน แต่ทว่าปริมาณอาจจะแตกต่างกัน

       บุคคลใดเคยตั้งใจทอดกฐินไว้ในพระพุทธศาสนา แม้ครั้งหนึ่งในชีวิต ถ้าตายจากความเป็นคน ยังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด ท่านผู้นั้นจะได้ไปเกิดเป็นเทวดา หรือนางฟ้า ถ้าหมดอายุขัยของเทวดา หรือนางฟ้า เมื่อจุติ (ตาย) แล้ว เมื่อบุญหย่อนลงมา จะเกิดเป็นเทวดาเกิดเป็นนางฟ้าไม่ได้ ก็จะลงมาเป็นมนุษย์ จะเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อเป็นพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว บุญหย่อนลงมา ก็จะเป็นพระมหากษัตริย์ หลังจากนั้น จะเป็นมหาเศรษฐี 

       คำว่ามหาเศรษฐีนี่ หมายถึง การมีทรัพย์สินเงินทอง ตั้งแต่ ๘๐ โกฏิขึ้นไป (หรือ มากกว่า ๘๐๐ ล้านขึ้นไป) เขาเรียกว่าเป็น มหาเศรษฐี แต่ถ้าตั้งแต่ ๔๐ โกฏิ ขึ้นไป ( หรือ มีทรัพย์ตั้งแต่ ๔๐๐  ล้านขึ้นไป) เขาเรียก อนุเศรษฐี เมื่อเป็นมหาเศรษฐี แล้ว ต่อมาจะไปเกิดเป็นอนุเศรษฐี หลังจากนั้น ก็จะเป็นคหบดี ฯลฯ

      ก็รวมความว่า การตั้งใจทอดกฐินครั้งหนึ่ง นอกจากจะเป็นเทวดาเป็นนางฟ้า เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีแล้ว บุคคลที่ตั้งใจทอดกฐินครั้งหนึ่งในชีวิต จะปรารถนาพระโพธิญานก็ย่อมได้ นั่นหมายความว่า จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็นอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาเป็นมหาสาวกก็ได้ จะปรารถนานิพพาน เป็นพระอรหันต์ปกติก็ได้ ฉะนั้น การทอดกฐินแต่ละคราว ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดทราบถึงอานิสงส์ และ มีความตั้งใจในการทอดกฐิน คนที่เคยตั้งใจทอดกฐินแล้วแต่ละครั้ง รวมความว่า ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด คำว่า ยากจนเข็ญใจจะไม่มีแก่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทในชาติต่อ ๆ ไป

โดยสรุป อานิสงส์จากการทำบุญทอดกฐิน ถ้าจะมาเกิดเป็นมนุษย์

๑. จะได้เกิดมาในตระกูลที่ดี มีสัมมาทิฐิ มีเกียรติยศ มีชื่อเสียงที่ดีงาม
๒. จะเกิดมาโดยมีร่างกายที่ได้คุณลักษณะที่งดงามสมส่วน
๓. จะเกิดมามีผิวพรรณงดงาม จิตใจแจ่มใส ร่าเริงเบิกบาน
๔. จะเกิดมามีทรัพย์สมบัติมาก ไม่ลำบากในการแสวงหาทรัพย์
๕. เมื่อละโลกแล้ว อย่างน้อยได้ไปบังเกิดในสวรรค์


ที่มา: http://palungjit.org/threads/อานิสงส์ของการถวายกฐิน.265718/

แชร์