การงดใช้อินเทอร์เน็ตทำให้ลงแดงจริงหรือ?

งานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการเสพติดอินเทอร์เน็ต รายงานว่า เมื่อเกิดการถอนพฤติกรรม ร่างกายของผู้เสพติดการใช้อินเทอร์เน็ตจะแสดงอาการข้างเคียง http://winne.ws/n19765

724 ผู้เข้าชม

งานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการเสพติดอินเทอร์เน็ต รายงานว่า เมื่อเกิดการถอนพฤติกรรม ร่างกายของผู้เสพติดการใช้อินเทอร์เน็ตจะแสดงอาการข้างเคียง

การงดใช้อินเทอร์เน็ตทำให้ลงแดงจริงหรือ?

ในอดีตเชื่อว่าแอลกอฮอล์  ยาบางชนิด และสารผิดกฎหมายบางตัว เป็นสิ่งที่สามารถก่อให้เกิดอาการเสพติดได้เท่านั้น  ทุกวันนี้ กลุ่มนักจิตเวชเริ่มตระหนักว่ากิจกรรมและพฤติกรรมบางอย่าง สามารถทำให้เกิดการเสพติดได้ อีกทั้งงานวิจัยต่างๆ ก็แสดงผลการศึกษาออกมาในทิศทางเดียวกัน

หลักฐานมากมาย พบว่าการเสพติดพฤติกรรม (เช่น เสพติดการพนัน เสพติดเซ็กส์ หรือแม้กระทั่งเสพติดอินเทอร์เน็ต) จะส่งผลต่อสมองเช่นเดียวกับการเสพติดสารเสพติด  และพบว่า การเลิกพฤติกรรมนั้นๆ จะสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงทางร่างกาย

อาการจิตตกหลังการใช้อินเทอร์เน็ต

ในปี 2013 นักวิจัยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางลบของการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ผู้เข้าร่วมการวิจัยประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้เสพติดการใช้อินเทอร์เน็ต และคนทั่วไป  เมื่อเข้าร่วมการทดลอง พวกเขาได้รับอนุญาติให้ใช้อินเทอร์เน็ตได้อิสระตามใจชอบ และได้รับอนุญาติให้เข้าเวปไซค์ใดๆก็ได้ ภายในเวลา 15 นาที  เมื่อหมดเวลา สภาพอารมณ์และภาวะความวิตกกังวลของผู้เข้าร่วมการทดลองจะถูกตรวจสอบ

ผลการทดลองเป็นที่น่าประหลาดใจมาก  พบว่าผู้ร่วมการทดลองที่มีแนวโน้มว่าอาจจะมีอาการเสพติดการใช้อินเทอร์เน็ต จะแสดงอารมณ์ในทางลบออกมามากกว่า เมื่อถูกควบคุมไม่ให้ใช้อินเทอร์เน็ต  นักวิจัยเปรียบเทียบอาการนี้กับการถอนยาในผู้เสพติดยาอี

ศาสตราจารย์ Phil Reed จากมหาวิทยาลัย Swansea University  ได้กล่าวถึงผลการทดลองในครั้งนี้ว่า

“ถึงแม้เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าการเสพติดอินเทอร์เน็ตคืออะไร แต่จากผลการทดลอง พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ซึ่งเป็นคนหนุ่ม)  ใช้เวลาจำนวนมากไปกับการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อเวลาพักผ่อน”

“ผลการวิจัยเบื้องต้นในครั้งนี้ และการศึกษาชิ้นอื่นๆด้านการทำงานของสมอง ได้แนะนำว่า การใช้อินเตอร์เน็ตถือเป็นภัยเงียบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์

การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นงานที่ทรงคุณค่ามาก เพราะเป็นการปูทางให้มีการต่อยอดงานวิจัยต่อไป  และเมื่อเวลาผ่านไป เราก็ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆว่า การเสพติดยาเสพติด และการเสพติดอินเทอร์เน็ตนั้น มีความคล้ายคลึงกันมากเพียงใด

อาการข้างเคียงจากการถอนพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและโรควิตกกังวล

ในปี 2017 ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเสพติดอินเทอร์เน็ตและอาการข้างเคียงจากการถอนพฤติกรรมนั้น ได้แพร่หลายมากขึ้น   นักวิทยาศาสตร์และแพทย์จากมหาวิทยาลัย  Milan University  และ Swansea University  ค้นพบว่า  ผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากๆ ร่างกายของเขาจะแสดงอาการบางอย่างออกมา เมื่อชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตจบสิ้นลง  อาการที่กล่าวมาคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตสูงขึ้น

พบว่า มีการเพิ่มขึ้นของความดันโลหิตเพียงเล็กน้อย แค่ 3 – 4 เปอร์เซ็นต์  แต่ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นผู้ที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นคนเสพติดอินเทอร์เน็ต ความดันโลหิตของเขาจะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า  ผลการทดสอบนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า ผลข้างเคียงทางร่างกายของการถอนพฤติกรรมเกิดขึ้นในกลุ่มผู้เสพติดการใช้อินเทอร์เน็ตจริง  และส่งผลต่อสารเคมีในสมองเช่นเดียวกับการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด

แพทย์หญิง Lisa Osborne นักวิจัยร่วมในครั้งนี้  ได้กล่าวถึงอาการข้างเคียงจากการถอนพฤติกรรมว่า อาการดังกล่าวสามารถพบในผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลได้เช่นกัน

เธอกล่าวว่า “ปัญหาที่เกิดจากการพบอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น  อาจทำให้บางคนเข้าใจผิดว่า อาการเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้ที่จะนำไปสู่โรครุนแรงอื่นๆ  ทั้งนี้ในกลุ่มคนที่เป็นโรควิตกกังวลอยู่แล้วนั้น อาจทำให้โรควิตกกังวลมีอาการรุนแรงขึ้น”

แท้จริงแล้ว มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ติดยา หรือติดพฤติกรรมจะเป็นโรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวลอยู่แล้ว  (ทางการแพทย์เรียกว่า co-occurring disorder หรือ ภาวะโรคร่วมจิตเวชสารเสพติด) ดังนั้นผลของการวิจัยอาจหมายถึง คนที่เสพติดอินเทอร์เน็ตนั้น จริงๆแล้วพวกเขาใช้อินเทอร์เน็ตเป็นการเยียวยาตัวเองจากโรคสุขภาพจิตที่เขาเป็นอยู่แล้ว

เมื่อจิตใต้สำนึกต้องการจะบรรเทาความวิตกกังวล  ผู้ป่วยก็จะหันไปใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น  ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ระยะยาวนั้นจะทำให้อาการแย่ลง เหมือนกับเป็นวงจรที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น

เสพติดการใช้อินเทอร์เน็ตอาจกระตุ้นให้เกิดการเสพติดสิ่งอื่นๆ

หนึ่งในความเสี่ยงที่นักวิจัยค้นพบจากการวิจัยในครั้งนี้คือ การเสพติดการใช้อินเทอร์เน็ตมักจะเกิดร่วมกับอาการเสพติดอื่นๆ  สำหรับคนที่มีแนวโน้มทางกรรมพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการเป็นผู้เสพติดมากกว่าคนทั่วไปนั้น  คนกลุ่มนี้ เมื่อตกอยู่ในภาวะเสพติด จะมีความเสี่ยงต่อการเสพติดมากกว่าหนึ่งอย่างได้ตลอดเวลา เมื่อสมองรับรู้ความสุขที่ได้จากการเสพติด ก็จะเกิดการรู้จำ  และทำให้เกิดการแสวงหาสิ่งที่จะทำให้มีความสุขแบบเดียวกัน

นั่นหมายความว่า คนที่ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว จะมีโอกาสสูงที่จะติดยาแก้ปวดร่วมด้วย  เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปกระตุ้นสารให้ความสุขที่เรียกว่าโดปามีน ให้หลั่งออกมาในปริมาณที่มากกว่าปกติ  เมื่อมีการใช้สารอื่นที่กระตุ้นให้มีการหลั่งโดปามีนในปริมาณเดียวกัน สมองจึงโหยหาสารตัวนั้นด้วย  ทั้งนี้สารหรือพฤติกรรมใดๆ ที่ทำให้สมองหลั่งโดปามีนออกมาในปริมาณมากกว่าปกติ เมื่อมีการใช้สารหรือทำพฤติกรรมเหล่านั้นบ่อยๆ ก็จะเสี่ยงต่อการเสพติดสารหรือเสพติดพฤติกรรมอันนั้น

สำหรับผู้ที่เสพติดการใช้อินเทอร์เน็ตนั้น  มักจะมีภาวะการเสพติดร่วมกับ การติดการพนัน และการติดการพนันออนไลน์  ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้สามารถนำไปสู่การเสพติดการใช้อินเทอร์เน็ตได้  นักวิจัยได้ระบุว่าการเสพติดการใช้อินเทอร์เน็ตน่าจะเป็นอาการหนึ่งของการเสพติดเกมส์และการพนันออนไลน์ มากกว่าที่จะเป็นโรคหลัก

ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก : thecabinbangkok.co.th

แชร์