21-26ต.ค.นี้ปภ.ประสาน 33 จ.ในภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ตะวันออก กทม.รับมือน้ำท่วมฉับพลัน

21 ต.ค. 2560 สำนักข่าวไทยรายงานว่า 33 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. 2560 กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชม http://winne.ws/n19833

558 ผู้เข้าชม
21-26ต.ค.นี้ปภ.ประสาน 33 จ.ในภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ตะวันออก กทม.รับมือน้ำท่วมฉับพลันSanook! News

ปภ.ประสาน 33 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. 2560 กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชม.

 21 ต.ค. 2560 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงวันที่ 21-26 ต.ค. 2560 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวนในลักษณะฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมฉับพลัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 33 จังหวัด แยกเป็น 

ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น 

ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี 

ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง 

นายชยพล กล่าวอีกว่านอกจากนี้ได้จัดเตรียมสรรพกำลัง วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงเสริมแนวคันกั้นน้ำ และประสานการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำสะสม กรณีสถานการณ์รุนแรงให้พิจารณาอพยพประชาชนไปพักอาศัยยังศูนย์พักพิง หรือจุดอพยพที่ปลอดภัย

“ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำ สถานการณ์ฝนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้จุดเสี่ยง อาทิ ใต้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการถูกล้มทับ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการอย่างเคร่งครัด หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป”  นายชยพล กล่าว


ที่มา: https://www.prachatai.org/journal/2017/10/73783

แชร์