กระแส “มินิมอลลิสต์” เจแปน เสี่ยงทำเศรษฐกิจญี่ปุ่นเจ๊ง

กระแสมินิมอลลิสต์ เป็นอีกด้านตรงกันข้ามของกระแสทุนนิยมและบริโภคนิยมที่เคยครอบงำสังคมญี่ปุ่นในราวทศวรรษ 1950s ทำให้ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา คนที่เกิดและเติบโตในช่วงนั้น ปฏิเสธการทิ้งสิ่งของ ผู้สูงอายุบางคนเก็บของที่ไม่ใช้ไว้เต็มบ้าน http://winne.ws/n20605

1.3 พัน ผู้เข้าชม
กระแส “มินิมอลลิสต์” เจแปน เสี่ยงทำเศรษฐกิจญี่ปุ่นเจ๊ง

นับตั้งแต่ปี 2011 ที่ “มาริเอะ คนโด” เขียนหนังสือเกี่ยวกับการจัดเก็บบ้าน “The Life-Changing Magic of Tidying Up” ที่ได้กลายเป็นคัมภีร์ศาสตร์แห่งการจัดบ้าน และทำให้ผู้คนในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วลุกขึ้นมาเอาจริงเอาจังกับการเก็บบ้านตามสไตล์ของคนโด จนเกิดการนำชื่อของเธอมาใช้แทนคำกริยาในการจัดบ้านเช่น “ฉันกำลังจะคนมาริ (Konmari)…ของฉัน”

วิธีการจัดเก็บบ้านของคนโด มีหลักอยู่ง่ายมาก คือ โยนสิ่งที่ไม่จำเป็นทิ้งไป เหลือเพียงแค่ของใช้จำเป็น และของที่จะทำให้รู้สึกมีความสุขอย่างยิ่งเท่านั้น

นอกจากหนังสือของคนโดแล้วนักเขียนคนอื่นก็ได้พาเหรดกันออกหนังสือเกี่ยวกับการจัดบ้าน และการตัดใจจากสิ่งของที่ไม่จำเป็น เพื่อให้บ้านน่าอยู่มากขึ้น

หนังสือเหล่านี้ได้สร้างกระแสของ “มินิมอลลิสต์” ให้เกิดขึ้นทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ เป็นกระแสที่ต้องการเตือนให้ผู้อ่านตระหนักว่าตนครอบครองของมากเกินไป หรือยึดติดกับสิ่งของมากเกินไป ว่ากันว่าแนวคิดแบบมินิมอลลิสต์นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพุทธศาสนาวิถีเซน อันมีหลักการถึงความเรียบง่ายและสงบ

กระแส “มินิมอลลิสต์” เจแปน เสี่ยงทำเศรษฐกิจญี่ปุ่นเจ๊ง

วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่หลายคน ซึ่งส่วนใหญ่มักครองตัวเป็นโสด หันมายึดแนวคิดแบบมินิมอลลิสต์มากขึ้น ต่อต้านกระแสบริโภคนิยมโดยการละทิ้งข้าวของของตนจนแทบหมดเกลี้ยง ซึ่งไม่เพียงแค่การละทิ้งสิ่งของเท่านั้น แต่ยังหมายความถึงการสร้างคำนิยามใหม่ของการเป็น “เจ้าของ” ด้วย

“ฟูมิโอะ ซาซากิ” วัย 36 ปี เจ้าของหนังสือ “Goodbye, Things” ซึ่งวางจำหน่ายในปี 2015 เล่าประสบการณ์ตัวเองว่า เขาได้โละแผ่นซีดีที่สะสมมานาน หนังสือ กล้องถ่ายรูป เสื้อผ้า และข้าวของอื่น ๆ เหลือเพียงเสื้อเชิ้ต 3 ตัว กางเกงขายาว 4 ตัว ถุงเท้า 4 คู่ และข้าวของอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จำเป็นในชีวิต

ซาซากิให้สัมภาษณ์กับ “เจแปน ไทม์” ว่า การจัดเก็บของให้เหลือเพียงสิ่งจำเป็น คือการคืนพื้นที่ให้กับตัวเอง หลาย ๆ คนมีพื้นที่ให้กับข้าวของมากกว่าตัวเองเสียอีก หรือบางบ้าน มีของเยอะ และคิดว่าการจัดเก็บข้าวของเข้าตู้จะทำให้ดูเรียบร้อย จึงต้องซื้อตู้มาเพิ่มเรื่อย ๆ นั่นก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา

“ก่อนหน้านี้ที่ผมสะสมของที่ชอบ ผมหยุดคิดไม่ได้เลยว่ามีอะไรที่ผมยังไม่ได้เป็นเจ้าของ หรืออะไรที่ผมพลาดไป”

ภายหลังจากขายของทิ้งหรือส่งต่อให้เพื่อน เขาได้ห้องโล่ง ๆ กลับมา “ใช้เวลาน้อยลงไปกับการช็อปปิ้งหรือทำความสะอาด ทำให้มีเวลามากขึ้นที่จะอยู่กับเพื่อน หรือท่องเที่ยวไปในวันว่าง และทำให้ชีวิตดูแอ็กทีฟขึ้น” ซาซากิบอก และยืนยันในญี่ปุ่นมีคนที่เป็น “ฮาร์ดคอร์มินิมอลลิสต์” เช่นเขานับพันคน

กระแสมินิมอลลิสต์ เป็นอีกด้านตรงกันข้ามของกระแสทุนนิยมและบริโภคนิยมที่เคยครอบงำสังคมญี่ปุ่นในราวทศวรรษ 1950s ทำให้ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา คนที่เกิดและเติบโตในช่วงนั้น ปฏิเสธการทิ้งสิ่งของ ผู้สูงอายุบางคนเก็บของที่ไม่ใช้ไว้เต็มบ้าน เมื่อเสียชีวิตก็เป็นหน้าที่ของลูกหลานต้องเข้ามาเก็บข้าวของ บางรายทำไม่ไหว ต้องจ้างบริษัทที่รับจ้างจัดเก็บบ้านผู้เสียชีวิตโดยเฉพาะเข้ามาดูแล

กระแส “มินิมอลลิสต์” เจแปน เสี่ยงทำเศรษฐกิจญี่ปุ่นเจ๊ง

อีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนทำให้มินิมอลลิสต์เกิดเป็นกระแสที่ทำให้คนในญี่ปุ่นหันมาทำตาม นั่นก็คือการเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งในญี่ปุ่น อย่างในปี 2011 ที่แผ่นดินไหวรุนแรงถึง 9.0 แมกนิจูด และเกิดสึนามิคร่าชีวิตไปกว่า 20,000 คน

ซาซากิระบุว่า “30-50% ผู้คนได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากการที่ของบนชั้นวางตกใส่ แต่ในห้องของผมไม่มีความจำเป็นต้องห่วงเรื่องนั้น”

ทั้งนี้ กระแสมินิมอลลิสต์ ไม่ใช่แค่เพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่ได้รับความนิยม แต่ยังมาถึงประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย “สตีฟ จ็อบส์” ก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้ชื่อว่ามีชีวิตที่เรียบง่าย เขามักปรากฏตัวด้วยเสื้อสไตล์เดิม และสีเดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

แม้ว่ากระแสมินิมอลลิสต์จะเป็นปรัชญาด้านบวกในการดำเนินชีวิต แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการกลืนกินเศรษฐกิจประเทศไปด้วย เนื่องจากมินิมอลลิสต์เลือกที่จะไม่ให้คุณค่ากับการครอบครองสิ่งของ เงินจึงไม่ใช่ปัจจัยหลัก เช่นเดียวกับการไม่จับจ่ายของไม่จำเป็น

ขณะที่ญี่ปุ่นเผชิญหน้ากับสังคมผู้สูงวัย และการที่คนรุ่นใหม่เลือกงานมากกว่าชีวิตคู่หรือการสร้างครอบครัว ผลจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้กำลังบริโภคภายในประเทศซบเซาลงไปด้วย ดังนั้นหากคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังซื้อหลัก หันมาดำเนินชีวิตแบบฮาร์ดคอร์มินิมอลลิสต์กันมากขึ้น ก็เสี่ยงจะทำให้เศรษฐกิจประเทศชะลอตัวลงได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การใช้จ่ายของครัวเรือนของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.3% มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 ขณะที่ยอดค้าปลีก เพิ่มขึ้น 2.1% จากปีที่แล้ว ถือว่าเป็นการกระเตื้องขึ้นตามความคาดหวังของรัฐบาล “ชินโสะ อาเบะ” อย่างไรก็ตาม ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าญี่ปุ่นจะกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนได้อีกครั้งหรือไม่

กระแส “มินิมอลลิสต์” เจแปน เสี่ยงทำเศรษฐกิจญี่ปุ่นเจ๊ง

 ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก https://www.prachachat.net/world-news/news-73879

แชร์