มองการวิ่งของ"ตูน"ผ่านประสบการณ์ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งอัลตราคนแรกของไทย ที่พิชิตเทือกเขาหิมาลัย

หลังวิ่งอย่างต่อเนื่องมาแล้วกว่า 20 วัน วันนี้ (23 พ.ย.60) ตูน บอดี้สแลม หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย ต้องประกาศขอพักรักษาจากอาการกล้ามเนื้อขาอักเสบ ที่จังหวัดชุมพร 2 วัน ก่อนกลับมาอีกครั้ง 25 พ.ย.นี้ http://winne.ws/n20701

901 ผู้เข้าชม
มองการวิ่งของ"ตูน"ผ่านประสบการณ์ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งอัลตราคนแรกของไทย ที่พิชิตเทือกเขาหิมาลัย

มองการวิ่งผ่านประสบการณ์ ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งอัลตราคนแรกของไทย ที่พิชิตเทือกเขาหิมาลัย หลัง 'ตูน บอดี้สแลม' ประกาศหยุดพักร่างกาย 2 วันหลังกล้ามเนื้อขาอักเสบ โดยเชื่อว่า 'ตูน' สามารถวิ่งได้จนบรรลุเป้าหมาย

หลังวิ่งอย่างต่อเนื่องมาแล้วกว่า 20 วัน วันนี้ (23 พ.ย.60) ตูน บอดี้สแลม หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย ต้องประกาศขอพักรักษาจากอาการกล้ามเนื้อขาอักเสบ ที่จังหวัดชุมพร 2 วัน ก่อนกลับมาอีกครั้ง 25 พ.ย.นี้

เดิม ตูน บอดี้สแลม ตั้งเป้าหมายในการวิ่งในโครงการ 'ก้าวคนละก้าว' เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ โดยจะเริ่มต้นวิ่งจาก อ.เบตง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่ 25 ธ.ค.รวมระยะเวลา 55 วัน ระยะทาง 2,191 กิโลเมตร พร้อมตั้งเป้าหมายยอดเงินบริจาคประมาณ 700 ล้านบาท

การวิ่งของ ตูน บอดี้สแลม เทียบเคียงได้กับการวิ่งระยะไกลของนักวิ่งในประเทศไทยหลายคน หากลองมองผ่านการวิ่งของผู้มีประสบการณ์ ที่พึ่งผ่านรายการ 'การแข่งขันอัลตรารันนิ่ง' ประเทศเนปาล โดยใช้เวลา 48 วัน ในการพิชิตเส้นทางธรรมชาติ 1,760 กิโลเมตร ของเทือกเขาหิมาลัย มาเมื่อไม่นานมานี้

มองการวิ่งของ"ตูน"ผ่านประสบการณ์ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งอัลตราคนแรกของไทย ที่พิชิตเทือกเขาหิมาลัย

"ชายผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต" คือฉายา ของ ชุมพล ครุฑแก้ว หรือ ดร.จุ๋ง ซึ่งบอกเล่าประสบการณ์ การฝึกซ้อม และพัฒนาการของร่างกาย ซึ่งเขาเชื่อว่า ร่างกายมนุษย์คือสิ่งมหัศจรรย์ หากเรารู้จักสื่อสารกับร่างกายของตัวเองอย่างถูกต้อง การปรับตัวและพัฒนาของร่างกายจะสอดรับกับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้

เช่นเดียวกับ การวิ่งของ ตูน บอดี้สแลม ซึ่ง ดร.จุ๋งเชื่อว่า ความสำเร็จเกิดขึ้นตั้งแต่การประกาศวิ่งระยะทาง 2,191 กิโลเมตร แม้จะห่วงในเรื่องของระยะเวลา 55 วันที่ดูจะบีบรัดมากเกินไปแต่ก็เชื่อว่าทีมงานที่ดูแลและประเมินการวิ่งของ ตูน บอดี้สแลม น่าจะแก้ปัญหาได้

"ถ้าผมห่วงก็เรื่องเวลา 55 วัน ที่อาจจะทำให้ร่างกายอาจจะได้พักไม่มาก แต่ผมเชื่อในเรื่องของร่างกายมนุษย์นะ และเชื่อมั่นในทีมงานของ ตูน บอดี้สแลม จะประเมินการวิ่งตลอดเวลาจะไม่น่าจะมีปัญหาอะไร"

หากลองย้อนประสบการณ์ของ ดร.จุ๋ง ทำให้ถึงเชื่อพัฒนาของร่างกายมนุษย์ว่ามีความมหัศจรรย์มากขนาดไหน โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ก่อนที่จะพิชิตหิมาลัย ดร.จุ๋ง ถือเป็นนักวิ่งอัลตรามาราธอนคนแรกของประเทศไทยที่สามารถจบการแข่งขันรายการวิ่งบนเส้นทางวิ่งรอบเทือกเขาแอลป์ ซึ่งถือเป็นสนามวิ่งสุดหฤโหดระดับโลกระยะทาง 350 กม. ภายในเวลา 154.44 ชั่วโมง

"ถือเป็นความภูมิใจ แต่ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่" ดร.จุ๋ง บอกว่า เป้าหมายในการวิ่งแท้จริงแล้วคือเพื่อสุขภาพ เพราะเป็นคนที่ชื่นชอบการวิ่งตั้งแต่เด็ก ทำให้วิ่งแล้วมีความสุข 

จุดเริ่มก่อนที่ ดร.จุ๋ง จะกลายเป็นนักวิ่งอัลตรา ระดับแนวหน้าของประเทศไทย ย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้วเริ่มต้นการวิ่งในที่ทำงานของตัวเองจากกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

ขณะนั้นเขาเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการพัฒนามาตรฐานและการทดสอบ ศูนย์เทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

"อยากทำกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างแล็บ แต่คิดว่ากีฬาแบบไหนที่จะมีส่วนร่วมกันได้ทุกคน เพราะหากแข่งกีฬาก็จะเป็นก็จะได้เฉพาะนักกีฬา จึงนึกถึงการวิ่งเพราะแค่เดินได้ วิ่งได้ก็มีส่วนร่วมด้วยกติกาเดินรอบสำนักงาน 1 รอบ ได้ 1 คะแนน"

จากจุดเริ่มเล็กๆทำให้ ดร.จุ๋งเริ่มชอบการวิ่งมากขึ้นเพราะเห็นพัฒนาการด้านสุขภาพของตัวเองและเพื่อนร่วมงาน จนเป็นแรงกระตุ้นให้กระโดดเข้าสู่การแข่งขันวิ่งระยะไกลด้วยการวิ่งกรุงเทพมาราธอนระยะทาง 10 กิโลเมตร

มองการวิ่งของ"ตูน"ผ่านประสบการณ์ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งอัลตราคนแรกของไทย ที่พิชิตเทือกเขาหิมาลัย

การวิ่งที่เนปาลในครั้งนี้สร้างความแตกต่าง และทำให้มุมมองของชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะความรู้สึกหลังการแข่งขันมันที่มากกว่าความภูมิใจ จนไม่สามารถบรรยายออกมาได้

"ทุกครั้งที่ผมวิ่งความรู้สึกคือภูมิใจผมทำสำเร็จ และบอกเล่าความรู้สึกนี้ออกมาได้ แต่ผมวิ่งที่เนปาล ความรู้สึกของผมมากกว่าความภูมิใจ เกินกว่าจะพูดออกมาได้ ยิ่งเมื่อวิ่งเสร็จและขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้วมองกลับ หิมาลัยยิ่งใหญ่จนผมไม่รู้ว่าวิ่งข้ามมาได้อย่างไร"

นั่นจึงเป็นที่มาของฉายาที่ว่า "ชายผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต" เพราะตลอดเส้นทางที่ยากลำบากหลายครั้งก้อนหินขนาดมหึมาหล่นลงห่างจากเท้าไม่มากนัก รวมถึงอาการบาดเจ็บระหว่างเส้นทาง ที่ทำให้เขาต้องเรียนรู้การพูดคุยสื่อสารกับร่างกายตัวเองอย่างใกล้ชิด

"ถ้าจะบอกว่าที่ผมผ่านมาได้เพราะธรรมชาติไว้ชีวิต ก็ไม่ใช่เรื่องเกินไปเลย เพราะหลายครั้งที่ผมรอดมาได้ปแบบหวุดหวิด"

ดร.จุ๋ง บอกว่าการวิ่งผ่านเทือกเขาเนปาลถือเป็นทดสอบและการเรียนรู้ตัวเองอย่างแท้จริง ระหว่างการวิ่งจะถูกตัดขาดจากการสื่อสารทั้งหมด แต่สามารถส่งข้อความจากสัญญาณดาวเทียมได้ครั้งละ 160 ตัวอักษรเท่านั้น 

"ครั้งหนึ่งระหว่างทางผมไม่สบายอาหารเป็นพิษจากการกินโยเกิร์ตของคนท้องถิ่น อาเจียนและมีไข้ประมาณ3 วัน แต่การเรียนรู้ภาษาของร่างกายตัวเอง ทำให้การฟื้นตัวทำได้ โดยไม่ต้องหยุดพักเลย"

ความยากลำบากของหิมาลัยไม่ได้ทำให้ ดร.จุ๋งล้มเลิกความตั้งใจในการพิชิต แม้ว่ารายการนี้จะใช้เวลาทั้งหมด 48 วัน ช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ คือ 45 วัน ก็ตาม 

มองการวิ่งของ"ตูน"ผ่านประสบการณ์ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งอัลตราคนแรกของไทย ที่พิชิตเทือกเขาหิมาลัย

ดร.จุ๋ง บอกว่า ที่ผ่านมาอาการบาดเจ็บ หรือปัญหาต่างๆ ที่เจอ ไม่เคยทำให้คิดที่จะหยุดวิ่งหรือหันหลังกลับ เพราะเป้าหมายจะทำให้เราเต็มที่ แม้ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร ออกมาดีหรือไม่ แต่การฝึกซ้อมที่เพียงพอจะสร้างความมั่นใจ ขณะที่ร่างกายแข็งแรงเวลาแข่งเราก็จะสนุกและทำได้ดีด้วย 

การแข่งขัน สำหรับ ดร.จุ๋ง แล้วเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกที่ตัดสินใจสมัครแข่ง ดังนั้นเราต้องแข่งกับตัวเอง โดยให้คิดเสมอว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว เพื่อให้ทั้งสองอย่างไปด้วยกัน 

สำหรับรายการต่อไปที่ ดร.จุ๋ง จะเข้าร่วมพิชิตคือโครงการ "TJ ‘s True South" ของ "เอก" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารในกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ที่เฟ้นหาคนไทย 10 คนเป็นตัวแทนไป ปักธงชาติไทยที่ขั้วโลกใต้

ครั้งนี้สิ่งที่เขากลัวคือ "กลัวตาย" เพราะรับรู้กันว่าเส้นทางของการวิ่งในขั้วโลกใต้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วหลายคน ทำให้การฝึกซ้อม และเตรียมตัว นอกจากเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายด้วยการฝึกซ้อมวิ่ง เดินในความชัน และยังต้องเรียนรู้เทคนิคการเอาตัวรอดจากสภาพแวดล้อมที่สุดขั้ว เนื่องจากอาจเกิดอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยได้ โดยที่เราไม่รู้ล่วงหน้า 

สิ่งเหล่านี้ ดร.จุ๋ง บอกว่า ศึกษา และเรียนรู้จากประสบการณ์ ที่สำคัญจากคุณเอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจระดับต้นๆ และเป็นนักวิ่งแถวหน้าของเมืองไทยที่ผ่านประสบการณ์ทรหดสุดขั้วมามากมาย ทั้งหนาวสุดที่ขั้วโลกเหนือ ร้อนสุดกลางทะเลทราย 

มองการวิ่งของ"ตูน"ผ่านประสบการณ์ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งอัลตราคนแรกของไทย ที่พิชิตเทือกเขาหิมาลัยแหล่งภาพจาก คมชัดลึก

ย้อนกลับมาในฐานะนักวิ่งผู้ผ่านประสบการณ์ ดร.จุ๋งมองการวิ่งของ "ตูน บอดี้สแลม" ว่า เป็นเรื่องดี 

ส่วนจะวิ่งเข้าเส้นชัยตามระยะเวลา หรือได้เงินตามที่ตั้งเป้าไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง เพราะ"ตูน" ทำสำเร็จตั้งแต่เริ่มประกาศจัดทำโครงการแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ได้ช่วยโรงพยาบาล 

ส่วนการขอถ่ายรูปหรือการหยุดแวะทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างทางที่หลายคนมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าทำ ดร.จุ๋ง กลับบอกว่า เป็นสิ่งดีที่ช่วยให้กล้ามเนื้อของ "ตูน" ได้ผ่อนคลาย และหยุดพัก เพราะการวิ่งแบบเดิมๆ ทุกวัน จะใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าในที่สุดอาจทำให้เกิดปัญหาอาการบาดเจ็บ อันตราย

กระนั้นก็ตาม ดร.จุ๋งหวังว่าจะเห็น ดราม่า ด้านบวกของการวิ่งครั้งนี้ ให้ไปไกลถึงการ สร้างกระแสให้คนออกกำลังกายด้วยการวิ่งมากขึ้น หรือแก้ปัญหาระบบสธารณสุขของไทยอย่างยั่งยืนได้ด้วย

อ่านเพิ่มได้ที่: https://voicetv.co.th/read/B1gBPsmgz

แชร์