ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ตอนที่ 6 พระพุทธเจ้ามีชัยชนะต่อสัจจกนิครนถ์

พระจอมมุนีทรงรุ่งเรืองด้วยประทีปคือปัญญา ได้ทรงชนะสัจจกนิครนถ์ผู้เป็นคนมืดบอด มีอัธยาศัยไม่ยอมรับความจริง มีใจคิดแต่จะยกตนข่ม ด้วยเดชแห่งพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน " http://winne.ws/n20996

2.7 พัน ผู้เข้าชม

  มีบทสรรเสริญชัยมงคลคาถา บทที่ ๖ ว่า

    " สจฺจํ  วิหาย  มติสจฺจกวาทเกตุํ

      วาทาภิโรปิตมนํ  อติอนฺธภูตํ

      ปญฺญาปทีปชลิโต  ชิตวา  มุนินฺโท

      ตนฺเตชสา  ภวตุ  เต  ชยมงฺคลานิ

พระจอมมุนีทรงรุ่งเรืองด้วยประทีปคือปัญญา ได้ทรงชนะสัจจกนิครนถ์ผู้เป็นคนมืดบอด มีอัธยาศัยไม่ยอมรับความจริง มีใจคิดแต่จะยกตนข่ม ด้วยเดชแห่งพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน "


 สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคาร ป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี สัจจกนิครนถ์เป็นลูกชายของนิครนถ์อาศัยอยู่ที่เมืองเวสาลี เป็นนักโต้วาที พูดยกตนว่าเป็นนักปราชญ์ มหาชนต่างยกย่องว่า เป็นผู้รอบรู้เพราะเป็นอาจารย์สอนศิลปวิทยาให้กับพระกุมารของเจ้าลิจฉวี เนื่องจากทะนงตนว่าเป็นผู้มีความรู้มาก จึงเอาแผ่นเหล็กรัดท้องไว้ เกรงว่าท้องจะแตก เพราะคิดว่าภายในท้องของตนเป็นที่เก็บความรู้ไว้

ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ตอนที่ 6 พระพุทธเจ้ามีชัยชนะต่อสัจจกนิครนถ์

 

    วันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์กล่าวในที่ประชุมว่า "เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ แม้ที่ปฏิญาณตนว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่โต้ตอบปัญหากับเราแล้วจะไม่ประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว แม้แต่ผู้เดียว      หากเราโต้วาทะกับเสาที่ไม่มีจิตใจ แม้เสานั้นก็ถึงอาการหวั่นไหว จะป่วยกล่าวไปไยกับมนุษย์ทั่วไป"

 

     จะเห็นว่า เพียงความคิดเท่านี้ก็รู้แล้วว่า สัจจกนิครนถ์เป็นผู้ทะนงตนและมีมานะถือตัวมาก ยากที่จะมีใครมาปรามได้ เช้าวันหนึ่ง  ขณะที่พระอัสสชิเถระกำลังเดินเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี 

     สัจจกนิครนถ์เดินเที่ยวมาแลเห็นพระเถระแต่ไกล จึงเข้าไปหาพลางถามว่า "ท่านอัสสชิผู้เจริญ ก็พระสมณโคดม แนะนำสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระสมณโคดม เน้นไปในเรื่องใดมาก"

    พระอัสสชิเถระตอบว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำสาวกทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไมเที่ยง ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน ดูก่อนอัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำสาวกทั้งหลายเช่นนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเน้นเรื่องนี้กับสาวกทั้งหลาย"

     สัจจกนิครนถ์ฟังแล้วไม่คล้อยตาม กล่าวว่า "ดูก่อนท่านอัสสชิผู้เจริญ ข้าพเจ้าฟังวาทะของพระสมณโคดมเช่นนี้แล้ว เห็นทีจะต้องเจรจากันสักหน่อย ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะไปพบกับพระสมณโคดมผู้เจริญด้วยตัวของข้าพเจ้าเอง จะได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วข้าพเจ้าจะได้ช่วยปลดเปลื้องพระสมณโคดม จากความเห็นผิดนั้นเสีย"

พระอัสสชิเถระบิณฑบาตในเมืองเวสาลี

ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ตอนที่ 6 พระพุทธเจ้ามีชัยชนะต่อสัจจกนิครนถ์

   จากนั้นจึงชักชวนเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ องค์ ที่กำลังประชุมอยู่ในศาลาแห่งหนึ่ง เดินทางร่วมกันเพื่อจะไปโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อไปถึงพระอาราม ก็เที่ยวถามหาพระพุทธองค์ว่าประทับอยู่ที่ไหน เมื่อรู้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปป่ามหาวัน ประทับพักกลางวันที่โคนไม้ เมื่อพบพระผู้มีพระภาคเจ้าได้สนทนาปราศรัยกับพระองค์แล้วก็นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่งพลางทูลถามว่า "ข้าพเจ้าขอถามพระสมณโคดมหน่อยเถิด ถ้าพระองค์จะให้โอกาสเพื่อการกล่าวแก้ปัญหาแก่ข้าพเจ้า"  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อน อัคคิเวสสนะ ท่านประสงค์จะถามอะไรก็เชิญถามเถิด"

    สัจจกนิครนถ์ถามว่า "พระสมณโคดมมีปกติแนะนำพวกสาวกอย่างไรบ้าง" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเช่นเดียวกับที่พระอัสสชิเถระกล่าวไว้ คือ "ขันธ์ ๕ อันได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน" สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

    นิครนถ์ได้ฟังแล้ว ไม่ยอมรับว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสมานั้นเป็นความจริง เพราะตนเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นอัตตาควรยึดถือไว้ จึงแสดงอุปมาว่า "พระโคดมผู้เจริญ เหมือนพืชพันธุ์ไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชพันธุ์เหล่านั้นทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ หรือเหมือนการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องทำด้วยกำลัง การงานเหล่านั้นทั้งหมดบุคคลต้องอาศัยแผ่นดินต้องอยู่ในแผ่นดินจึงทำได้ ฉันใด บุรุษมีรูปเป็นตน มีเวทนาเป็นตน มีสัญญาเป็นตน มีสังขารเป็นตน มีวิญญาณเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงได้ประสบผลบุญผลบาป ฉันนั้น"

 

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย้อนถามว่า "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตนของเรา เวทนาเป็นตนของเรา สัญญาเป็นตนของเรา สังขารเป็นตนของเรา วิญญาณเป็นตนของเราดังนี้มิใช่หรือ" ทรงได้รับคำยืนยันว่า "ถูกแล้ว ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนั้น ประชุมชนเป็นอันมากก็กล่าวเช่นนั้น" พระพุทธองค์จึงตรัสเตือนว่า "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ประชุมชนเป็นอันมากจักทำอะไรแก่ท่าน เชิญท่านยืนยันถ้อยคำของท่านเถิด" สัจจกนิครนถ์ก็ยังยืนยันว่า ขันธ์ ๕ คือ รูปเป็นตนของเรา เป็นต้น

   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อไปว่า "ถ้าเช่นนั้น เราจักสอบถามท่าน ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านพึงแก้อย่างนั้น ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อำนาจของพระราชาผู้มุรธาภิเษกแล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระเจ้ามคธราช,อชาตศัตรู อาจฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ พึงให้เป็นไปได้ในพระราชอาณาเขตของพระองค์มิใช่หรือ"

ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ตอนที่ 6 พระพุทธเจ้ามีชัยชนะต่อสัจจกนิครนถ์

    

   นิครนถ์ทูลตอบว่า "ถูกต้อง พระราชาเหล่านั้นย่อมทำในสิ่งที่พระองค์ตรัสมาแล้วทั้งหมดได้ แม้แต่เจ้าวัชชี มัลละ ก็อาจ ฆ่าคนที่ควรฆ่า เนรเทศคนที่ควรเนรเทศได้ เพราะอำนาจของพระราชาผู้มุรธาภิเษกแล้วนั้น ต้องให้เป็นไปได้ด้วย ควรจะเป็นไปได้ด้วย"

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตนของเรา อำนาจของท่านเป็นไปในรูปนั้นว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เถิด ดังนี้ได้หรือ" เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามถึง ๒ ครั้ง นิครนถ์ก็ยังนิ่งเฉยไม่ยอมตอบคำถาม พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "บัดนี้เป็นการอันสมควร ท่านจงแก้เถิด ไม่ใช่กาลที่ท่านควรนิ่ง ผู้ใดถูกตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้ว ถึง ๓ ครั้ง หากมิได้แก้ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง"

   พระพุทธเจ้าตรัสถามนิครนถ์ว่า "ท่านยังยืนยันขันธ์ ๕ ว่าเป็นอัตตาอยู่หรือไม่" นิครนถ์ไม่ยอมตอบเพราะเมื่อได้ฟังแนวคิดจากพระผู้มีพระภาคเจ้า เขาเริ่มเข้าใจว่า เบญจขันธ์นี้เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ความคิดของตนนั้นผิด แต่ด้วยทิฏฐิมานะ จึงนั่งนิ่งๆ ครั้นถูกพระพุทธองค์รุกถามหนักเข้า จึงกล่าวว่า "พระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้"  

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตนของเราเป็นต้น เป็นไปตามอำนาจเช่นนี้หรือ" "ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ" "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านจงทำไว้ในใจเถิด ครั้นทำไว้ในใจแล้วจึงกล่าวแก้ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านกล่าวว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นตนของเรา ดังนี้อำนาจของท่านเป็นไปในเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณว่า เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณของเรา จงเป็นเช่นนั้นเถิด อย่าได้เป็นเช่นนี้เลย มิใช่หรือ"

    "ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลยพระโคดมผู้เจริญ"

ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ตอนที่ 6 พระพุทธเจ้ามีชัยชนะต่อสัจจกนิครนถ์

 

    "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ท่านจงทำไว้ในใจเถิด ครั้นท่านทำไว้ในใจแล้วจึงกล่าวแก้ เพราะคำหลังกับคำก่อน หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง"   สัจจกนิครนถ์ทูลว่า "ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า"

    "ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข"

    "สิ่งนั้นเป็นทุกข์"

    "ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นตนของเรา"

   "ข้อนั้นไม่ควรเลยพระโคดมผู้เจริญ"

    พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว กลํ้ากลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่านั่นของเรา เราเป็นสิ่งนั้น นั่นเป็นตนของเรา ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปได้ มีอยู่บ้างหรือ"

    "จะพึงมีได้เพราะเหตุไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระเจ้าข้า"

     "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์อยู่แล้ว กลํ้ากลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่านั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา ดังนี้ มิใช่หรือ" นิครนถ์ฟังแล้วก็ยอมรับ

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกอุปมา ตรัสอธิบายให้นิครนถ์เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนบุรุษต้องการแก่นไม้ ได้แสวงหาแก่นไม้อยู่ ถือขวานที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่านั้น มีต้นตรงยังกำลังรุ่น ไม่คด เขาตัดต้นกล้วยที่โคนต้น ตัดยอดริดใบออก เขาไม่พบแม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้แต่ที่ไหน

    "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ เราซักไซ้ไล่เลียงท่าน สอบสวนในถ้อยคำของตนเอง ก็พบกับความว่างเปล่า ท่านเคยกล่าวว่า "เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะผู้ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ที่สามารถโต้ตอบกับเราได้ 

     "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาด หยดจากหน้าผากลงยังผ้าห่มแล้วตกที่พื้น ส่วนเหงื่อในกายของเราเดี๋ยวนี้ไม่มีเลย" แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเปิดพระวรกาย มีพระฉวีดังทองให้สัจจกนิครนถ์ได้เห็นเป็นมงคลแก่จักขุประสาท

    พระพุทธเจ้าของเราทรงรุกสัจจกนิครนถ์อย่างหนัก เพราะทรงทราบว่า บุคคลผู้นี้มีทิฏฐิมาก เพราะฉะนั้นเมื่อ นิครนถ์เห็นพระวรกายแล้ว ก็นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้าไร้ปฏิภาณ แต่ถึงกระนั้น เมื่อหยุดชะงักไปสักครู่ เนื่องจากยังมีทิฏฐิมานะมาก จึงถามต่อไปว่า "ด้วยเหตุเท่าไร สาวกของพระโคดมจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ปราศจากความแคลงใจอันเป็นเหตุให้กล่าวว่า ข้อนี้เป็นอย่างไร เป็นผู้ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสอนของศาสดาตน"

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมเห็นเบญจขันธ์ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณอันใดอันหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังมาไม่ถึง ทั้งที่เกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็เป็นแต่รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา"

   

ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ตอนที่ 6 พระพุทธเจ้ามีชัยชนะต่อสัจจกนิครนถ์

 

    นิครนถ์ได้ฟังแล้วก็เกิดศรัทธามากทีเดียว ได้ถามอีกว่า "ข้าแต่พระโคดม ด้วยเหตุไร ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบว่า "ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ อันใดอันหนึ่งทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มาถึง ทั้งที่เกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ก็เป็นแต่รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเราดังนี้ จิตจึงพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น อัคคิเวสสนะ ด้วยเหตุเท่านี้แหละ ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ มีสังโยชน์อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษดีแล้วเพราะความรู้ยิ่ง"

    นิครนถ์กราบทูลว่า "ข้าแต่พระโคดม ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนองวาจาได้สำคัญถ้อยคำของพระโคดมว่า ตนอาจรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน บุรุษมาปะทะช้างซับมันเข้าก็ดี เจอกองไฟอันกำลังลุกโพลงก็ดี กระทบงูที่มีพิษร้ายก็ดี ยังพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่มาเจอพระโคดมเข้าแล้ว ข้าพเจ้าไม่มีทางเอาตัวรอดได้เลย ข้าแต่พระโคดม ข้าพเจ้าเลื่อมใสขอพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับนิมนต์เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้นด้วยเถิด

    จะเห็นว่า ในที่สุดสัจจกนิครนถ์ก็ต้องยอมแพ้ในพระปัญญาธิคุณอันไม่มีประมาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เพราะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปัญญาของนิครนถ์กับสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็เป็นเสมือนแสงหิ่งห้อยในยามราตรีที่ไม่อาจเทียบกับแสงตะวันได้ ท่านถึงกล่าวเอาไว้ว่า พุทฺโธ ปวทตํ วโร บรรดาชนผู้แถลงคารม พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐสุด เพราะฉะนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายต้องศึกษาพุทธวจนะเอาไว้ จะได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและ ต่อโลกอย่างแท้จริง เพราะพระพุทธองค์ทรงมีพุทธิปัญญารู้แจ้งโลกทั้งหมด ทรงมีความบริสุทธิ์ที่สุดและมีมหากรุณามากที่สุด เราจึงควรเคารพกราบไหว้บูชา เทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้า ให้เป็น ที่พึ่งที่ระลึกของเราตลอดไป 

 

พระธรรมเทศนาโดย: หลวงพ่อธัมมชโย(ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 

 

* มก. จูฬสัจจกสูตร เล่ม ๑๙ หน้า ๘๑


http://buddha.dmc.tv/ธรรมะเพื่อประชาชน/ชัยชนะครั้งที่6

แชร์