น่าอ่าน! “เตือนคุณล่วงหน้า พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง”โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ :อนาคต เทคโนโลยี การรับมือ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “เตือนคุณล่วงหน้า พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง” ในงานสัมมนา “เชียงใหม่ 2018 จุดเปลี่ยน…ประตูสู่โอกาส” จัดโดยประชาชาติธุรกิจ ณ จ.เชียงใหม่ http://winne.ws/n21336

1.3 พัน ผู้เข้าชม
น่าอ่าน! “เตือนคุณล่วงหน้า พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง”โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ :อนาคต เทคโนโลยี การรับมือ

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “เตือนคุณล่วงหน้า พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง” ในงานสัมมนา “เชียงใหม่ 2018 จุดเปลี่ยน…ประตูสู่โอกาส” จัดโดยประชาชาติธุรกิจ ณ ลานนา บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา จ.เชียงใหม่ โดยรายละเอียดมีเนื้อหาในสามส่วน ดังนี้

         1. อนาคต
         2. เทคโนโลยี
         3. การรับมือกับอนาคต

       เรื่องอนาคต เวลาไปพูดตามที่ต่างๆ ก็จะมีคนถามว่าอนาคตเป็นอย่างไร อาชีพไหนจะตกงาน ผมชอบคำพูดของ William Gibson ที่เป็นนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ เขาพูดไว้เมือปี 2003 ว่า “อนาคตอยู่ที่นี่แล้ว เพียงแต่มันยังไม่กระจายไปอย่างทั่วถึง” อนาคตไม่ใช่อยู่ดีๆมันจะหล่นมาจากฟ้า อนาคตมันอยู่ที่นี่แล้ว โดยจะมีคนบางกลุ่มที่ใช้มันก่อน ถ้าเราสังเกตุให้ดีๆ เราจะเห็นอนาคตและรับมือกับมันได้

       อยู่กรุงเทพ เราเห็นรถไฟฟ้าเทสลาออกมาวิ่งแล้ว อนาคตเราหนี EV (Electric Vehicle) ไม่พ้น เชียงใหม่เองก็มีรถสามล้อที่ใช้ไฟฟ้ามาวิ่งแล้วสี่คัน เป็นแห่งแรกของประเทศไทย อนาคตอาจจะมีถึง 450 คัน เป็นสามล้อที่วิ่งเงียบ ไม่มีเสียง วิ่งได้ 120 กม.  ความเร็ว 80 กม/ชม. เราเห็นคนที่หันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น คนรุ่นใหม่ดูแลสุขภาพมากขึ้น งานสมัครวิ่งมาราธอนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปีหน้า เปิดรับสมัคร ชั่วโมงเดียวเต็มสี่พันกว่าคน ต่อไปอุปกรณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจะมีตลาดมากขึ้น อาหารที่เกี่ยวกับสุขภาพจะมีความต้องการมากขึ้น เห็นได้จากซุปเปอร์มาร์เก็ตริมปิงที่เชียงใหม่ ออกสลากแบ่งผักที่ขายออกเป็น 5 สี อินทรีย์ ปลอดสารพิษ ปลอดภัย ไฮโดรโปนิกส์ และ ผักทั่วไป

น่าอ่าน! “เตือนคุณล่วงหน้า พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง”โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ :อนาคต เทคโนโลยี การรับมือ

       อนาคตจะมีการใช้ระบบ automation มาแทนคนมากขึ้น เห็นได้จากที่เช็คอินสายการบิน บางที่ใช้คอมพิวเตอร์แทนคน เพราะคอมพิวเตอร์ไม่ต้องหยุดพัก ไม่ต้องเข้าห้องน้ำ ไม่มีความผิดพลาด ร้านค้ามีการใช้การจ่ายเงินผ่าน QR Code มากขึ้นทั้ง AliPay WeChatPay โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ในอนาคตร้านค้าไหนไม่รับการจ่ายเงินวิธีนี้ก็อาจจะเสียลูกค้าไป ในเมืองจีน ถึงขนาดการให้ของขวัญแต่งงาน หรือ ขอทาน ยังใช้ QR Code ในการจ่ายเงิน

       เราจะเห็นการขายของทาง On-line มากขี้น ธุรกิจการส่งของจะเจริญเติบโตขึ้น เราเห็นกำไรของบริษัทที่ให้บริการส่งสินค้าด่วนเติบโตอย่างรวดเร็ว เราเห็นป้ายโฆษณาที่ว่างในหลายๆที่ในเมืองเชียงใหม่ ในขณะที่การโฆษณาทาง Online เพิ่มขึ้นอย่างมาก เราเห็นคนรุ่นใหม่กินข้าวแกงริมทางน้อยลง แต่ไปกินข้าวกล่องจากร้านสะดวกซื้อแล้วอุ่นไมโครเวฟ

สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าเราสังเกตุให้ดี คิดตาม เราจะคาดการณ์อนาคตได้

        เรื่องต่อมาเป็นเรื่องของเทคโนโลยี สิ่งต่างๆที่เราเห็นเกิดการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน หลาย ๆอย่างมาจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น เทคโนโลยีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดเชียงใหม่ ผมสรุปมาได้สี่เรื่อง

       1. Moore’s Law
       2. Cloud Computing
       3. Big Data
       4. Platform

       ทำไมเราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา? เราอาจจะอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวด้วย Moore’s Law ซึ่งเป็นข้อสังเกตุที่ Gordon Moore ผู้ก่อตั้ง Intel ได้กล่าวไว้ในปี 1965 เขาตั้งข้อสังเกตุว่า “ปริมาณของทรานซิสเตอร์บนวงจรรวม โดยจะเพิ่มเป็นเท่าตัวประมาณทุก ๆ สองปี” ซึ่งหมายความว่าพลังในการคำนวณ หรือ ความจุ ของคอมพิวเตอร์ชิปที่เราใช้ในอุปกรณ์ต่างๆจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเวลาผ่านไป ในช่วงแรกๆอัตราการเพิ่มจะยังไม่มาก เช่น 2 ไป 4 ไป 8 เท่า แต่พอเวลาผ่านไป การยกกำลังสองจะเพิ่มเร็วขึ้น ถ้าเราคำนวณจากปี 1970 ถึงปัจจุบัน พลังในการคำนวณของคอมพิวเตอร์ชิปเพิ่มขึ้นมาแล้วประมาณ แปดล้านเท่า และจะเป็น สิบหกล้านเท่าในอีกสองปี สามสิบสองล้านเท่าในสี่ปี สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีต่างๆรวดเร็วเพราะเรามีพลังในการคำนวณและมีความจุข้อมูลเพิ่มขึ้นและราคาถูกลง

       การเปลี่ยนแปลงจาก Moore’s law ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทำให้อาจจะมีบางคนที่ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ทัน ดังนั้น คำถามที่ตัวเรา ธุรกิจ หรือ แม้แต่ประเทศต้องคอยถามตัวเองอยู่เสมอคือ “Are you still relevant?” “คุณยังมีความหมายอยู่ไหม?” เนื่องจากโลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความเข้าใจที่เรามี มันยังมีความหมายหรือความสำคัญในสภาวะปัจจุบันหรือไม่ ถ้าไม่มีต้องปรับตัว หาความรู้เพิ่ม

        เทคโนโลยีที่สำคัญอีกอย่างคือ Cloud Computing แต่ก่อนเราใช้คอมพิวเตอร์ จะเป็นแบบ Standalone หรือ เครื่องใครเครื่องมัน คอมพิวเตอร์มี ซอฟท์แวร์ หน่วยความจำ ฮาร์ดไดร์ฟ ของใครของมัน แบ่งกันไม่ได้ ซึ่งทำให้ไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สะดวกในการแบ่งปันข้อมูล แต่พอเรามี Internet เราสามารถเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ต่างๆเข้าด้วยกัน และ เอาทรัพยากรต่างๆ เช่น โปรแกรม หน่วยความจำ ที่เก็บข้อมูล ไปไว้บน Cloud และ แต่ละคนสามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรนี้บน Cloud ได้ ดังนั้น Cloud Computing ก็คือการที่เราใช้ทรัพยากรทางดิจิตอลที่ไม่ได้ติดตั้งอยู่บนอุปกรณ์ของเรา จริงๆแล้ว เราก็ใช้อยู่ประจำโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว เช่น Email ข้อมูลต่างๆก็เก็บอยู่บน Cloud เพราะไม่ว่าเราใช้อุปกรณ์อะไร อยู่ที่ไหน เราก็สามารถอ่าน Email ของเราได้ เพราะข้อมูลไม่ได้ถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์ของเรา แต่ถูกเก็บไว้บน Cloud

       Cloud Computing มีผลกับเชียงใหม่ เพราะทำให้ระยะทางไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานด้านดิจิตัล เพราะอยู่ที่ไหนก็สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ ที่เชียงใหม่มีบริษัท ProSoft เป็นบริษัทที่ทำด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่ก่อนอยู่กรุงเทพ ตอนนี้มาเปิดสำนักงานที่เชียงใหม่ มีพนักงาน 137 คน ขณะที่สำนักงานที่กรุงเทพเหลือ 48 คน การให้บริการต่างๆกับลูกค้าในกรุงเทพ สามารถทำผ่าน Internet และ Cloud Computing ได้อย่างสะดวก พนักงานก็มีความสุข อยู่ที่เชียงใหม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี อากาศดี

       เทคโนโลยีอีกอย่างคือ Big Data หรือ การที่ข้อมูลต่างๆในโลกปัจจุบัน กลายมาเป็นข้อมูลดิจิตัลเกือบหมดแล้ว แต่ก่อนโลกเก็บข้อมูลในระบบ อนาลอก เช่น หนังสือ เทป แผ่นเสียง ในปี 1986 ประมาณว่ามีข้อมูลในโลกที่เป็นดิจิตัลเพียง 1% แต่พอมาถึงปี 2013 ข้อมูล 98% ของโลกอยู่ในรูปแบบดิจิตัลหรือที่เราเรียกว่า Big Data

       Big Data มีลักษณะที่สำคัญสี่อย่างคือ มีขนาดใหญ่ มีหลายรูปแบบ มีความเร็ว และ มีความไม่แน่นอน ที่สำคัญเมื่อใช้ร่วมกับ Internet แล้ว มีลักษณะที่สำคัญคือ การส่งข้อมูล (เกือบ) ฟรี การทำ copy ข้อมูลแทบไม่มีต้นทุน การส่งข้อมูลทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งลักษณะดังกล่าวมีผลต่อเชียงใหม่ในอนาคตเป็นอย่างมาก
       ในการทำภาคการผลิต (Manufacturing) เราขายสินค้าต่าง ๆ เราต้องมีระบบ Logistics ในการขนส่งสินค้าไปยังผู้บริโภค ซึ่งต้องมีต้นทุน logistics และ ใช้เวลาในการดำเนินการ ดังนั้นระยะทางเป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อต้นทุนมาก เราจึงเห็นอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆของไทย ไปอยู่ที่แถว Eastern Seaboard ส่วนหนึ่งเพราะต้องการลดต้นทุนด้าน Logistics เนื่องจากอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง

       แต่ในยุคดิจิตัลนั้น การส่งข้อมูลดิจิตัลแบบ Big Data นั้น เป็นการส่งผ่านระบบ Internet ซึ่งระยะทางไม่มีความหมายถ้าพื้นที่นั้น เชื่อมโยงด้วยโครงข่าย Internet ดังนั้นเชียงใหม่ไม่ได้เสียเปรียบกรุงเทพ หรือ ที่ไหนในโลก ในการส่ง Digital Content ผมได้ไปคุยกับผู้ก่อตั้งบริษัท CGSCAPE ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิต Digital Content ในรูปแบบของ computer graphics และ มีเดียต่างๆ อยู่ในอันดับต้นๆของประเทศไทย ก็มีสำนักงานอยู่ที่เชียงใหม่ และ ผลิตผลงานส่งไปยังลูกค้าที่กรุงเทพและอีกหลายๆแห่งทั่วโลก ผ่านเครือข่าย internet

       เทคโนโลยีสุดท้ายคือ Platform หรือระบบตลาดทางอินเตอร์เนต แต่ก่อนเราทำธุรกิจแบบท่อ คือ มีการออกแบบ ผลิตสินค้า และ ขาย เป็นคล้ายๆกับท่อ มีคนควบคุมการเข้าออก แต่ระบบ Platform คือระบบที่มีผู้ซื้อ ผู้ขายจำนวนมาก เข้ามาซื้อขายผ่าน Platform ทำให้สามารถขยายธุรกิจได้เป็นอย่างมาก โดย Platform มีลักษณะสำคัญที่ดีกว่าระบบธุรกิจเดิมคือ ไม่มีผู้ควบคุมการเข้าออก สามารถขยายได้เร็ว ผู้ซื้อผู้ขายเข้ามาใช้บริการได้ง่าย และ มีระบบรับฟังความคิดเห็น (Feedback) ที่รวดเร็ว

       Platform ช่วยให้ผู้ขายรายเล็กๆที่แต่ก่อนไม่มีช่องทางขาย เนื่องจากไม่ได้มีความต้องการมากพอที่จะไปวางขายสินค้าในร้านต่างๆได้ สามารถเสนอขายสินค้าผ่าน Platform ซี่งไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น AirBnB ซึ่งเป็น Platform ด้านที่พักอาศัย ให้คนที่มีห้องเช่า สามารถเอาห้องเช่ามาใส่บน Platform ให้คนทั่วโลกเห็น ถ้าเราเข้าไปดูก็จะเห็นห้องเช่าเล็กๆในเมืองเชียงใหม่ ที่แต่ก่อนไม่รู้จะไปโฆษณาที่ไหน มาปรากฎอยู่บน AirBnB ที่มีคนเห็นทั่วโลก มีคนมาพักและเขียนคำชมมากมาย อันนี้คือพลังของ Platform ที่จะช่วยผู้ผลิต ผู้ให้บริการ รายย่อยมีที่ยืนมากขึ้น

น่าอ่าน! “เตือนคุณล่วงหน้า พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง”โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ :อนาคต เทคโนโลยี การรับมือ

       มีคนถามว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้ สุดท้ายจะทำให้คนตกงาน มีงานน้อยลงไหม ผมเห็นกลับกันว่าเทคโนโลยีจะช่วยสร้างงานสร้างโอกาสมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพียงแต่งานจะเปลี่ยนรูปแบบและสถานที่ไป งานที่ทำซ้ำๆจะถูกทดแทนด้วยระบบ automation งานที่คนทำจะเป็นงานที่หลากหลายและเป็นการเพิ่มมูลค่า ดังนั้น แรงงานในอนาคตต้องมีการเตรียมปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบงานที่เปลี่ยนไป

       การเตรียมตัวสำหรับอนาคตนั้น ผมชอบที่ Ray Dalio ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกองทุน Bridgewater บริหารเงินลงทุนขนาดใหญ่อันดับต้นๆของอเมริการ เขาได้สรุปหลักการที่จะมีความสำเร็จและความมั่นคงทางการเงินไว้สามข้อง่ายๆคือ

       1. อย่าให้หนี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้
       2. อย่าให้รายได้เพิ่มเร็วกว่าประสิทธิภาพในการผลิต
        3. ทำให้ดีที่สุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (Productivity)

       ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเตรียมตัวสำหรับอนาคตคือ ต้องพยายามเพิ่ม Productivity ของเรา ของบริษัท ของประเทศ ให้ดีที่สุด และ ผมก็คิดว่า Thailand 4.0 หรือ เชียงใหม่ 4.0 ก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพโดยใช้คน และ เทคโนโลยีที่เหมาะสม

       การเพิ่มประสิทธิภาพต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน สำคัญที่สุดคืออย่าหยุดหายใจ การดูแลสุขภาพให้ดี ให้แข็งแรงเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มประสิทธิภาพ ถ้าเราตาย ประสิทธิภาพเราเป็นศูนย์ ถ้าเราป่วยยิ่งติดลบ เพราะมีแต่ Input ไม่มี output

        นอกจากสุขภาพแล้ว เราต้องอย่าหยุดหาความรู้ เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว เราต้องหาความรู้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ต้องเป็นคนอยากรู้อยากเห็น อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ต้องมีความรู้เป็นรูปตัว T คือรู้ลึกในบางเรื่อง และ รู้กว้างในหลายๆเรื่อง ทั้งด้านสังคม ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้เราตัดสินใจ และ เห็นภาพรวมได้ดีขึ้น

        การเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนของธุรกิจนั้น ต้องเริ่มจากการเข้าใจความต้องการของลูกค้าให้ดี เลือกคนที่เหมาะ ก่อนเลือกเทคโนโลยี มีความเข้าใจเทคโนโลยี อย่าใช้เทคโนโลยีเพียงเพราะกลัวตกรถ นอกจากนี้ ธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้อยู่ที่ Business Model ซึ่งสำคัญกว่าเทคโนโลยี เราเลือกเทคโนโลยีที่มาสนับสนุน Business Model

       ยกตัวอย่างธุรกิจที่เปลี่ยนชีวิตของคนเชียงใหม่อันหนึ่งคือ สายการบินต้นทุนต่ำ ธุรกิจนี้ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่เลย เพราะเทคโนโลยีด้านการบินก็มีมานานแล้ว สายการบินต่างๆก็ใช้อยู่ แต่สายการบินต้นทุนต่ำประสบความสำเร็จเพราะ Business Model

       สำหรับเมืองเชียงใหม่นั้น ผมถามตัวเองว่าการเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นกับอะไร ขึ้นกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ การดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

       แต่จริง ๆ แล้ว ผมคิดว่า หัวใจของเชียงใหม่ในอนาคต นั้น เหมือนที่ Edward Glaeser เขียนไว้ในหนังสือ “Triumph of the City” ที่เขาศึกษาความสำเร็จของเมืองต่างๆทั่วโลก และ สรุปว่า “เมืองที่จะพัฒนาได้ จะต้องสามารถดึงดูดคนเก่ง มีความสามารถ และ ช่วยให้เขาทำงานร่วมกันได้ ไม่มีเมืองไหนที่จะประสบความสำเร็จได้ถ้าเมืองนั้นขาดทรัพยากรบุคคลที่ดี”

       อนาคตของเชียงใหม่ต้องดึงคนเก่งของเชียงใหม่ให้อยู่กับเรา และ ดึงคนเก่งๆมาจากทั่วโลก ในหลายๆสาขา ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ด้านสังคม ศิลปะ สิ่งแวดล้อม ผมได้มีโอกาสพบคนเก่งๆของเชียงใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ แต่รู้สึกได้เลยว่านี่คืออนาคตของเชียงใหม่ หลายคนไม่ใช่คนที่เกิดที่เชียงใหม่ แต่รักเชียงใหม่ และ เลือกที่จะมาใช้ชีวิตที่นี่

       ผมได้เจอคุณเมนโน่กับคุณนิกกี้ เจ้าของฟาร์มมะเขือเทศ Take Me Home ที่ใช้เทคโนโลยี Smart Farming ในการเพิ่มประสิทธิภาพของภาคเกษตร ได้พบคุณเขียว พี่ติ่ง ที่พัฒนาคุณภาพของสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นให้มีคุณภาพระดับโลก คุณลี อายุ จือ ปา กาแฟอาข่า อาม่า ที่ดูแลเกษตรกรปลูกกาแฟ ได้พบคุณวิโรจน์เจ้าของบริษัท Profsoft คุณเอ๋ คุณหนุ่ย คุณส้ม จาก CGSCAPE ที่ทำด้านธุรกิจดิจิตัล เชียงใหม่ในอนาคต ต้องมีทั้ง Smart Farming หัตถกรรมท้องถิ่น ธุรกิจด้านไอที ดิจิตัล

       อนาคตเชียงใหม่ที่จะสร้างทรัพยากรบุคคลที่แข็งแกร่งได้นั้น เชียงใหม่ควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผมคิดว่าเราไม่ได้อยากให้เชียงใหม่ที่เป็นกรุงเทพแห่งที่สอง ไม่อยากให้คลองแม่ข่าของเชียงใหม่เป็นคลองที่มีแต่น้ำเน่าเสียเหมือนคลองบางคลองในกรุงเทพ สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาเชียงใหม่คือเราจะก้าวไปด้วยกัน อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผมคิดว่าสิ่งที่วัดความก้าวหน้าของเชียงใหม่ในอนาคต อาจจะไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง หรือ สนามบินใหม่ แต่เราอาจจะต้องวัดด้วย คุณภาพของชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมคลองแม่ข่า คุณภาพของน้ำในคลองแม่ข่า ถ้าเราสามารถพัฒนาเมือง โดยพัฒนาสิ่งแวดล้อม และ คนในทุกภาคส่วน ให้ก้าวไปด้วยกันอย่างเหมาะสม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน อันนั้นน่าจะเป็นความความสำเร็จในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่อย่างแท้จริง

ที่มา: https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_70779

แชร์