๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี นับเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วันที่ 28 ธันวาคม 2310) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีและในปี พ.ศ. 2560 ยังฉลองครบ 250 ปี แห่งการสถาปนากรุงธนบุรี http://winne.ws/n21525

1.8 พัน ผู้เข้าชม
๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐  "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

"คำปวารณาของพระเจ้าตากสิน  ตัวชี้วัดความในพระทัยของพระราชาต่อคณะสงฆ์ไทย'ขอให้มั่นคงในพระธรรมวินัย' สะท้อน 'เกราะคุ้มภัยคณะสงฆ์' ตัวจริง"

 เรื่องแรกที่อยากรำลึกถึง คือ พระเจ้าตาก มาจากครอบครัวสามัญชน พระบิดามาจากจีนแผ่นดินใหญ่ชื่อ ไหฮอง พระมารดาเลือดไทยชื่อ นกเอี้ยง โตขึ้นได้ไปเป็นเด็กวัด ...ชีวิตที่วัดนี้แหละคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะได้เรียนหนังสือไทย ได้รับการอบรมจากพระสงฆ์ และได้เรียนขนบธรรมเนียมต่าง ๆ จากวัด ซึ่งในเวลาต่อมาความรู้ทั้งหมดจากวัดได้เชื่อมต่อชีวิตของพระองค์ไว้กับวัง เพราะวังกับวัดในสมัยโบราณใกล้ชิดกันมาก 

- เรื่องที่ ๒ การพบขุนพลคู่พระบารมี หลังจากเข้ารับราชการแล้ว พระองค์กทรงก้าวหน้ามาตามลำดับ จนได้ไปเป็นเจ้าเมืองต่าง ๆ เช่นเป็นเจ้าเมืองอุตรดิตถ์และที่นี่แหละที่ได้พบขุนพลคู่ใจในงานวัด ซึ่งต่อมา คือพระยาพิชัย (ดาบหัก) เพราะขุนพลคู่ใจในตอนนั้นเป็นเด็กหนุ่มแต่แสดงฝีมือการต่อสู้ให้พระองค์ประทับใจถึง ๒ ครั้ง 

ครั้งแรก ขึ้นชกมวยกับนักมวยดังของท้องถิ่น ตามสายตาของเซียนมวยในยุคนั้น นักมวยโนเนมไม่มีทางชนะได้เลย เนื่องจากตัวเล็กกว่าและเพิ่งผ่านการหัดมวยมาหมาดๆ แต่พอถึงวันชกจริง ผิดคาด นักมวยเจ้าถิ่นถูกนกคาเวทีงานวัด 

ครั้งหลัง ชนไก่ชนะ ก็เหมือนเดิม สายตายนักพนันไก่ชนเห็นว่าไก่อีกฟากหนึ่งปิดประตูแพ้ เพราะตัวใหญ่กว่าและได้รับการบำรุงเลี้ยงอย่างดีจากเจ้าของเศรษฐี แต่ไก่ของเด็กหนุ่มตัวเล็กไม่มีราคาต่อรอง แต่พอถึงวันทำ "ยุทธกุกกุฏะ" (ชนไก่) เจ้าไก่รองบ่อนกลับปรี่ออกจากมุมกระโดดตีสู้ไก่ใหญ่ไม่คิดชีวิต ผลชนะขาดเพราะไก่ใหญ่ถูกเดือยไก่เล็กจนหมดทางสู้ 

เจ้าเมืองเห็นแล้วพอใจ จึงให้คนพาตัวเข้าพบและชวนรับราชการเป็นทหารใกล้ชิด

๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐  "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

เรื่องที่ ๓ กู้เอกราช ไม่น่าเชื่อว่าบ้านเมืองที่เสียหายยับเยินจากศึกสงครามพม่าเผาเมือง จะกู้กลับมาได้ภายในเวลา ๖ เดือน ด้วยการนำของพระยาวชิรปราการ อดีตเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งต่อมาก็คือ พระเจ้าตาก ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่ามาจากบุญบารมีส่วนพระองค์ที่เชื่อมโยงฝ่ายต่าง ๆ ให้ร่วมมือ สติปัญญา นี่คือตัวนำละ จากนั้นก็ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความอดทน และข้อสำคัญคือ เมตตากรุณาของผู้นำที่แสดงออกด้วยความรักและสงสารคนไทยและชาติไทย จึงทำให้ไม่สามารถหลบเอาตัวรอดไปตามลำพังได้ 

ดูสภาพตอนนั้นแล้ว หดหู่และอดสูใจในความประมาทของคนไทยผู้หลงคลั่งไคล้ในความสุขส่วนตนเสียจนลืมส่วนรวม ...ยอมให้ประเทศชาติย่อยยับได้ แต่ไม่ยอมสละสุขส่วนตัว ในที่สุดเสียหมด ทั้งสุขส่วนตนและส่วนรวม จนต้องให้พระเจ้าตากมากู้คืน ซึ่งในสมัยนั้นมีชั้นยศเป็นแค่เจ้าเมือง แต่น่าแปลกเคลื่อนไปทางไหนมีแต่คนเกรงขาม จึงน่าจะไม่ใช่เจ้าเมืองธรรมดา 

เรื่องที่ ๔ การวิงวอนพระสงฆ์ให้รักษาพระธรรมวินัย ตามประวัติเล่าว่า หลังฟื้นฟูบ้านเมืองจากสงครามได้แล้วก็สถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง นอกจากพลิกฟื้นชีวิตผู้คนให้กลับมีขวัญกำลังใจแล้ว ก็ทรงดูแลการพระศาสนา อุปถัมภ์วัดวาอารามต่าง ๆ คราวหนึ่งได้เข้านมัสการพระสงฆ์แล้วกล่าวปวารณาสรุปความว่า

"ขอให้พระคุณเจ้าปฏิบัติตามพระธรรมวินัยให้เคร่งครัด โยมจะถวายการอุปถัมภ์บำรุง พระคุณเจ้าประสงค์สิ่งใดที่เป็นไปตามพระธรรมวินัย โยมจะจัดหาให้ แม้เลือดเนื้อในกายโยมก็สละถวายได้..."

๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐  "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

@ ข้อสังเกต

จะสังเกตเห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินในฐานะองค์พุทธศาสนูปถัมภกหลัก เมื่อพูดถึงพระสงฆ์จะขอให้มุ่งมั่นรักษาพระธรรมวินัย เพราะอะไรหรือ ? คำตอบ ก็คือ

๑. พระธรรมวินัย คือ คุณสมบัติที่แสดงความเป็นพระในพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน ไม่ใช่สมณศักดิ์หรือตำแหน่งใหญ่โตอันใดที่จะมารับรองความเป็นพระได้ 

ดังนั้น ความน่าเคารพนับถือของพระที่จะชนะใจสังคมได้แท้จริงต้องมาจากการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ไม่ใช่จากการมียศศักดิ์ ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อหลวงปู่ตามป่าเขาที่ไม่มียศศัดิ์ แต่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยคงไม่มีใครดั้นด้นไปหา 

๒. พระธรรมวินัย คือ ตัวแทนพระพุทธเจ้า หรือจะว่าเป็นพระพุทธเจ้าเองก็ยังได้ เพราะพระธรรมวินัยนี้แหละที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะพัฒนาตัวพระองค์มาเป็นพระพุทธเจ้าให้คนกราบไหว้ทั้งโลก

๓. พระธรรมวินัยนี้แหละคือเกราะคุ้มกันพระสงฆ์และคณะสงฆ์เป็นอย่างดี ที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ให้

๔. พระ(ธรรม)วินัยเองคือรากแก้วของพระพุทธศาสนา หากพระสงฆ์ไม่ชูการปฏิบัติตามพระ(ธรรม)วินัย จะเหมือนกับต้นไม้ขาดราก ย่อมยืนต้นต้านภัยได้ไม่นาน ในที่สุดก็ล้มลงไม่เป็นท่า แม้ใครจะไปช่วยค้ำยันอย่างไรก็ไม่รอด เพราะต้นไม้เองขาดรากที่จะยืนด้วยตัวเองเสียแล้ว ดีไม่ดีล้มทับคนค้ำยันอีกไม่ตายก็บาดเจ็บ เลยร่อแร่ทั้งคู่

@ บททิ้งท้าย

การอุปถัมภ์พระสงฆ์ตามพระธรรมวินัยไม่ยุ่งยาก เพราะชีวิตตามพระธรรมวินัยไม่มีอะไรมาก แต่หากอุปถัมภ์ด้วยการให้ได้ที่นอกเหนือจากพระธรรมวินัยมากไป

ในที่สุดจะยุ่งยากมาก เพราะตัณหาคือความอยากได้ของผู้ที่ได้จะขยายไม่หยุด ...จากยศชั้นหนึ่งไปสู่ยศอักชั้นหนึ่ง 

ครั้นแล้ว เวลาที่ควรทำให้พระพุทธศาสนาเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมจะถูกทุ่มเทไปกับการทำให้ได้ยศศักดิ์ 

พระพุทธศาสนามีคำสอนที่ช่วยให้สังคมสงบสุขได้ แต่ต้องถ่ายทอดสู่สังคมผ่านทางพระสงฆ์ และพระสงฆ์ที่สามารถถ่ายทอดได้ดี ต้องมีวัตรปฏิบัติสอดคล้องกับพระธรรมวินัย พระเจ้าตากทรงเห็นความจริงข้อนี้จึงขอให้พระสงฆ์ยุคของพระองค์สนใจปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

ในรัชกาลต่อ ๆ มา พระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาลก็ทรงหวังอย่างนี้จากพระสงฆ์ แม้กระทั่งในรัชกาลปัจจุบันก็แว่วมาว่าทรงหวังอย่างนี้ด้วยเช่นกัน

ขอให้ทรงพระเจริญ พระพุทธเจ้าข้า

Cr. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยโท ดร. บรรจบ บรรณรุจิ 

ที่มา Fb. บ้านบรรณรุจิ

แชร์