ประวัติ"วันขึ้นปีใหม่" ข้อควรปฏิบัติ ..? [มีคลิปเพลงพรปีใหม่]

วันขึ้นปีใหม่ ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "ปี" หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น "ปีใหม่" จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี http://winne.ws/n21537

3.1 พัน ผู้เข้าชม
ประวัติ"วันขึ้นปีใหม่" ข้อควรปฏิบัติ ..? [มีคลิปเพลงพรปีใหม่]แหล่งภาพจาก ComVariety.com

ปีใหม่ หรือ วันขึ้นปีใหม่ 2561 หรือ ปีใหม่ภาษาอังกฤษ Happy New Year 2018 ใกล้มาถึงแล้ว วันขึ้นปีใหม่ หลาย ๆ คนคงชอบที่จะได้หยุดหลาย ๆ วัน ว่าแต่ที่หยุดและฉลองปีใหม่กันอยู่ทุกปี แล้วรู้หรือไม่ว่า ประวัติปีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้เรามีความหมายวันขึ้นปีใหม่ ประวัติวันขึ้นปีใหม่ มาฝาก  

ความหมายของวันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "ปี" หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น "ปีใหม่" จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี

ประวัติ"วันขึ้นปีใหม่" ข้อควรปฏิบัติ ..? [มีคลิปเพลงพรปีใหม่]แหล่งภาพจาก pantip.com

ความเป็นมาวันปีใหม่ในประเทศไทย

          สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

          แต่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ. 2432 (ร.ศ. 108) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีต่อ ๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) 

          ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้นมา  อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการจึงเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนักและเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อ ๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ "วันตรุษสงกรานต์"

ประวัติ"วันขึ้นปีใหม่" ข้อควรปฏิบัติ ..? [มีคลิปเพลงพรปีใหม่]แหล่งภาพจาก DMC.tv

เหตุผลเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม

          ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานคณะกรรมการ และที่ประชุมก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ในวันที่ 24 ธันวาคม ในสมัยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเหตุผลสำคัญก็คือ

          - เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ

          - เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ

          - ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก

          - เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

          ตั้งแต่นั้นมา วันขึ้นปีใหม่ของไทยจึงตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เหมือนดังเช่นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

ประวัติ"วันขึ้นปีใหม่" ข้อควรปฏิบัติ ..? [มีคลิปเพลงพรปีใหม่]แหล่งภาพจาก Hilight Kapook

ประวัติการส่ง ส.ค.ส. ในวันปีใหม่

          การส่ง ส.ค.ส. หรือบัตรอวยพรนั้น ประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรอวยพรนี้ปรากฏในรูปแบบ "บัตรเยี่ยม" (Visiting Card) เป็นบัตรกระดาษขนาดเท่าไพ่ นิยมเขียนข้อความ หรือพิมพ์รูปภาพต่าง ๆ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนกันในวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาแพร่หลายไปในเทศกาลต่าง ๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส มีการส่งพิมพ์และส่งบัตรอวยพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ประวัติ"วันขึ้นปีใหม่" ข้อควรปฏิบัติ ..? [มีคลิปเพลงพรปีใหม่]แหล่งภาพจาก Sanook

ข้อควรปฏิบัติสำหรับวัฒนธรรมชาวพุทธในวันขึ้นปีใหม่

- เตรียมวางแผนการทำความสะอาดบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย หิ้งพระ ลานบ้าน รอบ ๆ บ้าน

- เตรียมสิ่งของที่จะทำบุญ เช่นดอกไม้ของหอม อาหาร ของขวัญปีใหม่เพื่อการเดินทางไปทำบุญ พร้อมทั้งกราบไหว้พ่อแม่ ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และคนรู้จัก เพื่อแสดงความระลึกถึงและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับบุตรหลาน

- ควรให้อภัยซึ่งกันและกัน แม้กับบุคคลในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และทุกคน เพื่อใจจะได้ไม่ผูกอาฆาตข้ามปี (ยิ่งนานก็ยิ่งแน่น เป็นอันตรายต่อชีวิตในวัฏสงสารมาก)

- วางแผนการเดินทางไปรักษาศีล 5 ศีล 8 ที่วัดที่เคารพนับถือศรัทธา

- งดอบายมุขทุกชนิด เพื่อความสะอาดกาย วาจา ใจ มากขึ้น เป็นการเริ่มต้นปีที่ดีกว่า

- ร่วมพิธีสวดมนต์ข้ามปี เพื่อเสริมสร้างสิริมงคลให้ตนเองครอบครัว

- ร่วมทำบุญตักบาตร ถือศีล ในวันสุดท้ายของปี 31 ธันวาคม - 1 มกราคม

- บำเพ็ญกุศลอื่น เช่น ปล่อยสัตว์ปล่อยปลา ปล่อยโค-กระบือ ให้ชีวิตสัตว์เป็นทาน ขวนขวายร่วมกิจกรรมงานกุศลต่าง ๆ ที่ทางวัดจัดอย่างมีความสุข เช่นพัฒนาวัด ชุมชน เป็นต้น

ฯลฯ

ขอบคุณวิดิโอจาก : https://youtu.be/-ZoRz7bkd_Q

 เพลงวันปีใหม่

          แน่นอนว่า เพลงที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ก็คือ "เพลงพรปีใหม่" ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยมีพระราชประสงค์ให้เพลงนี้ เป็นพรปีใหม่ที่พระราชทานแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทยเป็นครั้งแรกในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 โดยเพลงพรปีใหม่ มีเนื้อร้องดังนี้

เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
          
                ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

                คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

                สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์

                ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี

                ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี

                โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

                ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย

                ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี

                ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้

                ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ.

อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก : https://hilight.kapook.com/view/18913

แชร์