กรณี“น้องณิชา”แค่กระเป๋าสตางค์หล่นหาย กลายเป็นบทเรียนราคาแพงให้สังคมไทยได้ตระหนัก

ภัยจากแก๊ง"คอลเซ็นเตอร์" การทำกระเป๋าสตางค์หล่นหายในครั้งนี้ จะกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สะเทือนไปทั้งสังคมไทย เพราะเจ้าของกระเป๋าสตางค์ที่ชื่อ “น.ส.ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์” หรือ “น้องณิชา” เป็น “ผู้ต้องหา” http://winne.ws/n21796

1.0 พัน ผู้เข้าชม
กรณี“น้องณิชา”แค่กระเป๋าสตางค์หล่นหาย กลายเป็นบทเรียนราคาแพงให้สังคมไทยได้ตระหนัก

จากเหตุการณ์เพียงแค่กระเป๋าสตางค์หล่นหาย ซึ่งเจ้าของกระเป๋าสตางค์ได้ไปแจ้งความ และทำบัตรประชาชนใบใหม่แทนใบเก่าที่หายไปพร้อมกับกระเป๋าสตางค์แต่ใครจะคาดคิด!!!

การทำกระเป๋าสตางค์หล่นหายในครั้งนี้ จะกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สะเทือนไปทั้งสังคมไทย เพราะเจ้าของกระเป๋าสตางค์ที่ชื่อ “น.ส.ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์” หรือ “น้องณิชา” เป็น “ผู้ต้องหา” ในข้อหา โดยถูกคนร้ายสวมบัตรประชาชนที่ได้แจ้งหาย นำไปเปิดบัญชีธนาคารถึง 7 แห่ง ใน 9 บัญชี เพื่อรับโอนเงินจาก “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”ที่โทรศัพท์ไปหลอกลวงประชาชนจำนวนมาก ถึงขนาด “ต้องติดคุก 3 วัน”  ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่แน่นอนที่สังคมจะต้องเพ็งเล็งไปที่ “ธนาคาร” ที่ทำไมถึงได้ปล่อยให้เปิดบัญชีได้ ทั้งที่กฎระเบียบก็เข้มงวดอย่างมาก!!!

และถ้าย้อนไปดูถึงประกาศ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ ธปท. ที่ สนส.7/2559 เรื่องหลัก “เกณฑ์การรับฝากเงินหรือการรับเงินจากประชาชน” จะพบว่า สถาบันการเงินต้องให้ลูกค้าแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับตนเองอย่างละเอียดในแบบรายการที่สถาบันการเงินกำหนดขึ้น เพื่อป้องกันการฟอกเงิน กรณีลูกค้าเป็นบุคคลธรรมดา ต้องจัดให้มีเอกสารหรือสำเนาเอกสารแสดงตัวตนของลูกค้าประกอบการเปิดบัญชีทุกครั้ง โดยให้ใช้บัตรประชาชน หรือเอกสารของรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชน แต่ถ้าเป็นนิติบุคคล ให้ใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนที่ นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน

กรณี“น้องณิชา”แค่กระเป๋าสตางค์หล่นหาย กลายเป็นบทเรียนราคาแพงให้สังคมไทยได้ตระหนัก

ที่สำคัญ ในข้อ 5.3.2 เรื่องการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า ยังกำหนดให้สถาบันการเงิน ต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเอกสารแสดงตน หรือสำนักเอกสารต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นหลักฐานในการเปิดบัญชีด้วย ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. “โดยปราศจากความประมาทเลินเล่อ” ซึ่งนอกจากตรวจสอบบัตรประชาชนว่าเป็นของจริงและเป็นปัจจุบันแล้ว ยังต้องใช้ระบบการตรวจสอบลายนิ้วมือของลูกค้าประกอบการพิจารณาด้วย

ถือเป็นกฎเหล็กที่น่าจะรอบคอบอย่างมากในการเปิดบัญชีกับธนาคาร!!!

ทั้งนี้ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเปิดบัญชีธนาคารนั้น ตามหลักการจะมีประกาศของธปท. ที่ระบุว่าสถาบัน การเงินจะต้องทำความรู้จักลูกค้า (KYC) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของมาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งทุกธนาคารจะต้องปฏิบัติตาม

“กรณีที่เกิดขึ้นคงต้องไปดูว่าปัญหาเกิดจากความผิดพลาดของระบบ หรือเกิดจากความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องที่ธนาคารแต่ละแห่งต้องกลับไปดู และธนาคารเองก็ต้องปฏิบัติตาม หากหละหลวมก็เป็นหน้าที่ของ ธปท. ซึ่ง กำกับดูแลเรื่องนี้ต้องเข้าไปจัด การ โดยมองว่าปัญหาเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น” นายอภิศักดิ์กล่าว

เช่นเดียวกับ “รณดล นุ่มนนท์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ได้สั่งให้การสถาบันการเงินตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีบุคคลนำบัตรประชาชนผู้อื่นไปแอบอ้างเปิดบัญชีธนาคาร และกระทำผิดกฎหมายจนผู้ถูกนำบัตรประชาชนไปแอบอ้างถูกดำเนินคดี โดยสถาบันการเงินต้องชี้แจงสาเหตุให้ ธปท.รับทราบ พร้อมแจ้งความคืบหน้าในแนวทางที่สถาบันการเงินดำเนินการแล้ว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท.เคยออกประกาศ สนส.7/2559 ระบุให้สถาบันการเงินต้องทำการรู้จักลูกค้า (Know Your Customer) หรือ KYC ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของมาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

ดังนั้นเพื่อการล้อมคอกปัญหา “การเปิดบัญชีธนาคาร” โดย “ปรีดี ดาวฉาย” ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลจากบัตรประชาชนยังไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ล่าช้าออกไป ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนมีความเข้าใจการทำงานของธนาคาร เพราะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลอย่างละเอียดมากขึ้น

นอกจากนี้สมาคมฯ จะนำระบบการพัฒนา ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ทางดิจิทัล (National Digital Identity) ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกระ ทรวงมหาดไทย ทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้น โดยคาดว่าจะนำมาใช้ได้ภายในปีนี้

ขณะเดียวกันยังได้กำชับให้ธนาคารทุกแห่งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบตัวตนของบุคคลที่มาเปิดบัญชีใหม่ให้มากขึ้น พร้อมเน้นย้ำการปฏิบัติงานของพนักงาน และการขอความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามกฎระเบียบในการเปิดบัญชีเงินฝากและในการยืนยันตัวตนของผู้มาเปิดบัญชี ที่เป็นไปตามมาตรฐานและกฎเกณฑ์ ของทางราชการ

กรณี“น้องณิชา”แค่กระเป๋าสตางค์หล่นหาย กลายเป็นบทเรียนราคาแพงให้สังคมไทยได้ตระหนัก

ประธานสมาคมฯ ระบุอีกว่า สำหรับขั้นตอนการเปิดบัญชีเงินฝากนั้น ในทุกสาขาของธนาคารได้มีป้ายเตือน การรับเปิด บัญชีแทนถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ซึ่งทางธนาคารมีขั้นตอน ให้ลูกค้าแสดงตน โดยให้แสดงข้อมูลและหลักฐาน ตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานการแสดงตน โดยตรวจสอบบัตรผ่านเครื่องอ่านบัตร (Smart Card Reader) ซึ่งหากข้อมูลที่ได้จากการอ่านบัตรประชาชนปรากฏตรงกับข้อมูลบนหน้าบัตรประชาชน จะมีการตรวจสอบตัวตนของลูกค้ากับบัตรประชาชนที่นำมาเปิดบัญชีว่าเป็นบุคคลเดียวกัน และตรวจสอบข้อมูลการแสดงตนของลูกค้าบนใบคำขอเปิดบัญชีว่าตรงกับข้อมูลบนหน้าบัตรประชาชน หากธนาคารได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงจะดำเนินการเปิดบัญชีให้กับลูกค้า

ในส่วน “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย กล่าวว่า คนที่จะทำธุรกรรมกับบัตรประชาชนจะต้องเป็นคนดำเนินการไม่ใช่มหาดไทย ถ้าธนาคารจะเปิดบัญชีก็สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากมีระบบตรวจสอบที่สามารถดูได้จากรูปร่างหน้าตาหรือบัตรประชาชน หรือระบบตรวจสอบของกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งธนาคารกับมหาดไทยได้มี การลงนามเอ็มโอยูกันทุกธนาคารให้สามารถตรวจสอบบัตรประชาชนได้หมดถ้าติดตั้งเครื่องตรวจสอบในสาขาดังกล่าว ซึ่งจะสามารถตรวจสอบในขั้นต้นได้ โดยในขั้นแรกจะเป็นการตรวจสอบยืนยันว่าใช่คนคนนั้นหรือไม่ ขั้นที่สอง หากอยากทราบข้อมูลเชิงลึกมีข้อตกลงที่สามารถทำได้ แต่ธนาคารจะต้องมีโปรแกรมที่เชื่อมโยงกับมหาดไทย

ขณะที่ทางด้าน “เดชา กิตติวิทยานันท์” ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ และเจ้าของแฟนเพจ @ทนายคลายทุกข์ ไขข้อกฎหมายว่า หากธนาคารอ้างว่าบังคับให้ลูกค้าเปิดหน้ากากไม่ได้ ก็ไม่ควรที่จะให้เปิดบัญชีเพราะเท่ากับยอมรับความเสี่ยงรู้อยู่แล้วว่ามีโอกาสที่มิจฉาชีพจะปลอมตัวมาเปิดบัญชี ใช้ช่องว่างดังกล่าวได้ ซึ่งข้อแก้ตัวนี้ฟังไม่ขึ้นดังนั้นธนาคารจึงต้องรับผิดหาก เพราะมีความเสียหายเกิดขึ้นกับเจ้าของบัญชีที่แท้จริงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลของการกระทำซึ่งลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างรับผิดเต็มที่

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า “เมื่อทุกฝ่ายเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้นถึงปัญหาการนำบัตรประชาชนของคนอื่นไปเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งก็อยากที่จะให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย!”

แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแต่ไหน.....คำตอบต้องดูกันยาวๆ

ที่มา : https://www.siamrath.co.th/n/29441

แชร์