"4 โรคจิตเวช" พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่นไทย!!!

กรมสุขภาพจิต เร่งเพิ่มการเข้าถึงบริการโรคจิตเวชในเด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะ 4 โรคที่พบมาก นำเทคโนโลยีสมัยใหม่“สนูซีเลน”มาใช้กระตุ้นประสาทการรับรู้ของเด็กป่วย ... http://winne.ws/n21802

887 ผู้เข้าชม
"4 โรคจิตเวช" พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่นไทย!!!

       น.ต.นพ.บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในการเป็นประธานพิธีทอดผ้าป่าสามัคคี ที่วัดป่าปัญญานวมงคล บ้านห้วยโจด ต.ห้วยโจด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น  เพื่อระดมการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการปรับปรุงห้องพักผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นและซื้อครุภัณฑ์การแพทย์สำหรับใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่นว่า  กรมได้ขยายบริการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อดูแลรักษาโรคจิตเวชในเด็กและวัยรุ่นทั่วประเทศครอบคลุมทั้ง 4 ภาค คือ ที่จ. เชียงใหม่  จ.ขอนแก่น จ.สุราษฎร์ธานี และกทม.และในปีนี้เน้นเพิ่มการเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน

       โดยเฉพาะ 4  กลุ่มโรคที่พบมากในอันดับต้นๆและมีผลต่อการเรียนได้แก่

        1. โรคสมาธิสั้น( Attention Deficit Hyperactivity Disorder :ADHD ) 

        2. โรคออทิสติก (Autistic) 

         3. ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา(Intellectual Disability) ซึ่งที่ผ่านมาเข้าถึงบริการไม่ถึงร้อยละ10  

         4. ปัญหาสุขภาพจิตจากยาเสพติด (Substance use disorder) 

ผลสำรวจล่าสุดในปี 2559 พบนักเรียนอายุ 13-17 ปี มีความผิดปกติของพฤติกรรมจากสารเสพติด 4 ประเภทคือเหล้า บุหรี่ กัญชา  ยาบ้า ระหว่างร้อยละ  0.2 – 12  

"4 โรคจิตเวช" พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่นไทย!!!

          การเพิ่มการเข้าถึงบริการดังกล่าว จะเน้นตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การประเมินอาการความรุนแรง และการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านและโรงพยาบาลประจำจังหวัด รวมถึงการส่งต่อรักษาที่ศูนย์เชี่ยวชาญทั้ง 4 ภาค และการป้องกันกลับมาเป็นซ้ำ  หากการดำเนินการในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นมีความครอบคลุม ก็จะสามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคจิตเวชในผู้ใหญ่ด้วย  ซึ่งประมาณร้อยละ 50 มักจะเริ่มแสดงอาการป่วยช่วงอายุ 12-24 ปี” น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว        

          พญ.กุสุมาวดี  คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า สถาบันฯเป็นศูนย์เชี่ยวชาญรับส่งต่อผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มีอาการรุนแรง จาก 20 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยนอกเข้ารักษาจำนวน 6,700 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆร้อยละ10 ต่อปี  โรคที่พบอันดับ1ได้แก่โรคสมาธิสั้นร้อยละ 47 รองลงมาคือพัฒนาการผิดปกติเช่นการสื่อภาษาร้อยละ19

         ด้านการรักษาเด็กที่ป่วยโรคจิตเวช ต้องใช้หลายระบบร่วมกัน ทั้งยา การปรับพฤติกรรม อารมณ์ สังคม สถาบันๆได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เรียกว่าสนูซีเลน (Snoezelen) ให้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นห้องใช้ฝึกประสาทการรับความรู้สึกของผู้ป่วยเช่นสมาธิสั้น ออทิสติก สติปัญญาบกพร่อง พัฒนาการล่าช้า จัดสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา  โดยใช้แสง สี เสียง และกลิ่น ส่งเสริมและกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกพื้นฐานที่สำคัญ 7 ด้าน ได้แก่ การมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น การรับรส กายสัมผัส การทรงตัว และการรับรู้ของเอ็นกระดูกและข้อต่อ ช่วยให้เด็กอาการสงบ ผ่อนคลาย มีการรับรู้ การเรียนรู้รวมถึงมีสมาธิดีขึ้น  โดยให้การบำบัดทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม

         ในส่วนของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลซึ่งมีร้อยละ 3-5 ของผู้ป่วยนอก กว่าครึ่งมีปัญหาสติปัญญาบกพร่อง พัฒนาการล่าช้า   ขณะนี้สถาบันฯสามารถให้บริการได้ 12 เตียง   เนื่องจากข้อจำกัดด้านบุคลากรที่ต้องใช้แบบสหวิชาชีพ  ทำให้บางเดือนมีผู้ป่วยรอคิวเข้ารักษาแบบผู้ป่วยใน 3-5 คน จึงได้เร่งรัดเพิ่มบริการห้องพิเศษอีก 10 ห้องและมีผู้ปกครองร่วมดูแลด้วย

         แต่งบประมาณไม่เพียงพอ จึงจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อนำมาใช้ดำเนินการในส่วนนี้  และเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสถานบริการเพื่อดูแลลูกหลานที่ป่วย กำหนดจะเปิดให้บริการห้องพิเศษในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ประชาชนที่มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคเพิ่มได้ที่กองทุนพัฒนาสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ธนาคารกรุงไทยสาขาขอนแก่นหมายเลขบัญชี  405-0-81379-3 และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ หรือติดต่อที่หมายเลข 043-910770-1 ต่อ 1206, 1215 ในวันเวลาราชการ


ขอขอบคุณ : คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/news/edu-health/309368

แชร์