การแต่งงาน คืออะไร ทำอย่างไรให้ครอบครัวอบอุ่นเพื่อสร้างสังคมไทยเข้มแข็ง..

ดังนั้นงานมงคลสมรสย่อมเป็นสิริมงคลด้วยการนำรสแห่งธรรมของทั้งสองฝ่ายมารวมกันเป็นครอบครัวให้บังเกิดขึ้น ครอบครัวจึงหมายถึง ความรักความอบอุ่น ความเป็นอันเดียวกัน "การเกี่ยวดองกัน" หมายถึง การเกี่ยวดองของญาติทั้งสองฝ่าย ก็เกิดขึ้นด้วย http://winne.ws/n22160

2.4 พัน ผู้เข้าชม
การแต่งงาน คืออะไร ทำอย่างไรให้ครอบครัวอบอุ่นเพื่อสร้างสังคมไทยเข้มแข็ง..ขอบคุณภาพจาก The Sorento

คำว่า "ครอบครัว" เป็นคำที่มีความหมายมาก คือ หมายถึง ความรักความอบอุ่น

"การแต่งงาน" กัน ไม่ใช่จุดจบดังในละคร แต่อย่างใด แต่นี่คือจุดเริ่มต้นที่ 2 ชีวิตจะต้องเรียนรู้เพื่อการอยู่รอดร่วมกันในทุกเรื่อง โดยมีหลักธรรมะนำทางการปฏิบัติ

การแต่งงาน หรือ งานมงคลสมรส หมายถึงอะไร

คำนี้ ต้องแยกเป็น 2 งาน คือ งานมงคล กับ งานสมรส 

งานมงคล แน่นอน ย่อมเป็นสิริมงคลกับชีวิต

งานสมรส หมายถึง นำรสแห่งธรรมของทั้งสองฝ่าย คือของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว มารวมกัน  อาจรวมถึงปู่ย่าตายาย ด้วยก็ได้

           ดังนั้นงานมงคลสมรสย่อมเป็นสิริมงคลด้วยการนำรสแห่งธรรม(คุณงามความดี) ของทั้งสองฝ่ายมารวมกันเป็นครอบครัวให้บังเกิดขึ้น ครอบครัว จึงหมายถึง ความรักความอบอุ่นและจะมีคำพูดอีกคำที่หนีไม่ได้คือ "การเกี่ยวดองกัน" หมายถึง ญาติของทั้งสองฝ่ายนั้น ต่างเกี่ยวดองกันโดยทันทีเช่นกัน 

            แต่มีคำโบราณเปรียบเทียบได้กล่าวว่า "การดองนั้น ถ้าไม่ดี ก็เปรี้ยวเกินไป เค็มเกินไป ต้องดองให้ได้รสพอดี ๆ กัน จึงจะอร่อย" หมายความว่า ต้องมีศิลปะการอยู่ร่วมกัน การนำหลักธรรมมาปฏิบัติต่อหมู่ญาติทั้งสองฝ่ายให้พอดีกันนั่นเอง

            สัตว์โลก มีการเกิดด้วยกัน 4 แบบ มนุษย์ถือเป็นสัตว์ประเสริฐของโลก  ที่มีการเกิดโดยอาศัยครรภ์มารดาเป็นแดนเกิด

            เมื่อสามีและภรรยา ได้แต่งงานและอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ผ่านไปสักระยะ หลายคู่มักต้องการมีโซ่ทองคล้องใจของทั้งสองฝ่ายไว้ คือฝ่ายมารดาและบิดา รวมทั้งเครือญาติ ปู่ย่าตายายด้วย เป็นทายาทแห่งวงศ์ตระกูล เป็นตัวแทนของเลือดเนื้อเชื้อไขของทั้งสองฝ่าย

การแต่งงาน คืออะไร ทำอย่างไรให้ครอบครัวอบอุ่นเพื่อสร้างสังคมไทยเข้มแข็ง..ขอบคุณภาพจาก Sanook! News

            ดังนั้น ลูกที่เกิดมาในภายหลัง จึงเป็นที่รวมใจของทั้งสองฝ่ายไว้ด้วยกัน ดังคำพูดที่ว่า "ดอกต้องหอมกว่าลูก" ซึ่งหมายถึง ปู่ย่าตายาย มักหลงใหลรักหลานมากกว่าลูกของตนเองกระนั้น และปู่ย่าตายายมักพูดว่า "มีลูก เดี๋ยวลูกจะสอนพ่อแม่เอง" หมายความว่า ปัญหาการปรับตัว การแก้ปัญหาต่าง ๆ จะมีมากขึ้น ทำให้พ่อแม่มือใหม่เก่งมากขึ้นนั่นเอง

            การมีบุตรจำนวนกี่คน มักจะมาจากแรงผลักดันของปู่ย่าตายายด้วยเช่นกัน เช่น มีหลานชายแล้วก็อยากมีหลานสาวอีก ยิ่งถ้าเป็นครอบครัวผู้ที่มีเชื้อสายจีน ที่มักทำธุรกิจส่วนตัว จึงนิยมมีลูกหลานหลายคน เพื่อไว้ประกอบธุรกิจที่มีในครอบครัวสืบไป 

            จะเห็นว่าไม่ว่ามีกิจกรรมใด ๆ ปู่ย่าตายายจะเป็นผู้ที่จัดการและตัดสินใจให้หลานแทนพ่อแม่เป็นส่วนใหญ่ ยิ่งเมื่อใดที่ลูกชายคนโตอายุครบบวช พ่อแม่ปู่ย่าตายาย น้าอาทั้งหลายก็จะดีใจ และมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก

            ถ้าพ่อแม่มีลูกหลายคน ก็จะทำให้น้องเอาอย่างแบบพี่ ทำให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายได้ปลื้มใจกันหลายครั้งไปด้วย ในส่วนของพี่ชายก็มักจะรักเอ็นดูน้องสาวเป็นพิเศษบางครั้งถึงขนาดน้องสาวจะแต่งงาน จะต้องพาว่าที่เจ้าบ่าวมาให้พี่ชายเป็นคนตัดสินกันเลยก็มี

            แต่ถ้ามีลูกน้อย เพียงคนเดียว เหตุการณ์คึกคักเหล่านี้ ก็จะมีได้เพียงครั้งเดียว และที่เสี่ยงมากคือ ถ้าลูกคนเดียวนั้นเป็นอะไรไปก่อนเวลาอันควร ความโศกเศร้าอาดูรย่อมทับทวีผู้เป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นอย่างมาก ดังกรณีคุณแม่ที่ต้องสูญเสียสามี และสูญเสียลูกชายที่มีคนเดียวไปอย่างไม่มีวันกลับกระทันหัน จนทำให้แม่เกือบจะต้องเป็นโรคซึมเศร้า เพราะทรมานที่คิดถึงลูกชายอย่างไม่สามารถหักห้ามใจได้ ซึ่งเป็นผลร้ายต่อครอบครัวขนาดเล็กเป็นอย่างมาก

           การมีบุตรน้อย ก็จะมีความเสี่ยงเช่นนี้ โดยเฉพาะนักธุรกิจ ที่หวังพึ่งลูกเพียงคนเดียว แต่เมื่อไม่สมหวังย่อมทำลายสุขภาพให้เสื่อมโทรมทั้งกายและใจอย่างรวดเร็ว

การแต่งงาน คืออะไร ทำอย่างไรให้ครอบครัวอบอุ่นเพื่อสร้างสังคมไทยเข้มแข็ง..ขอบคุณภาพจาก BlogGang.com

การแต่งงานที่มีบุตรสืบสกุล ดีอย่างไร

         การมีครอบครัวที่มีทายาทสืบสกุล ส่งผลดีด้านการรับผิดชอบครอบครัว การวางแผนระยะสั้น ระยะยาว พ่อแม่มักจะแคร์กันมากขึ้น กว่ากรณีแต่งงานแล้วไม่มีบุตร เพราะทั้งสองอาจคิดว่า แค่เป็นเพื่อนกัน แยกกันเมื่อไรก็ได้ การสร้างสังคมกลุ่มที่เล็กที่สุด คือครอบครัวก็ไม่สมบูรณ์

         การแต่งงานแล้วไม่มีบุตร ก็อาจเป็นประโยชน์เฉพาะตน 2 คนเพียงเท่านั้นเป็นส่วนใหญ๋ มักไม่คำนึงถึงความรู้สึกของปู่ย่าตายาย พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ก็จะดูกร่อย ๆ ในวัยชราซะงั้น เพราะไม่มีโซ่ทองคล้องใจของทั้งสองฝ่ายเอาไว้ พูดคำโบราณอีกคือ "ไม่มีตุ๊กตาพูดได้ ให้ได้คลายเหงากับท่านเลย" 

          อีกประเด็นหนึ่ง อาจทำให้ขาดประสบการณ์ด้านการดูแลครอบครัว จึงอาจทำให้ดูแลผู้ที่ร่วมงานที่เป็นครอบครัวได้ไม่ดีพอ เพราะขาดประสบการณ์แห่งสายใยรักต่อกัน ซึ่งจะมีผลถึงสังคมของเขาอีกด้วย

          ดังนั้นการแต่งงานของชีวิตคฤหัสถ์ ผู้ครองเรือนอาจจะไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่มีบุตรด้วยกัน การรักษาช่วงอายุของวงศ์ตระกูลอย่างเช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และอุบาสิกาวิสาขาตัวอย่างครอบครัวตัวอย่างในสมัยพุทธกาล และที่สำคัญ บุตรหลานจะได้ทำบุญอุทิศบุญกุศลไปให้ หลังจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายได้ละจากโลกนี้ไปแล้วอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวเพื่อเป็นที่พึ่งแก่พุทธศาสนิกชนตลอดไป

การแต่งงาน คืออะไร ทำอย่างไรให้ครอบครัวอบอุ่นเพื่อสร้างสังคมไทยเข้มแข็ง..

          แต่ทั้งนี้ การแต่งงานต้องเป็นไปตามวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และมีความพร้อมที่จะสร้างชีวิตครอบครัวให้สมบูรณ์ ด้วยการที่ฝ่ายชายควรมีการบวชเรียนรู้ธรรมะเสียก่อน เพื่อจะได้นำหลักธรรมมาสอนตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต ดังคำที่คนโบราณกล่าวไว้ว่า "อย่าเบียดก่อนบวช" หรือ "ชายใดไม่บวชถือว่าเป็นคนดิบ ไม่ควรนำมาเป็นผู้นำของครอบครัว" เป็นต้น

          แม้ชีวิตการเป็นนักบวชหรือการประพฤติพรหมจรรย์จะเป็นเป้าหมายที่สูงและประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏ แต่เป้าหมายการเกิดมาของมนุษย์นั้นมีถึง 3 ระดับ ดังนั้นการแต่งงานของชีวิตฆราวาส พระพุทธองค์ก็ทรงชี้แนะหลักธรรมในการประคับประคองชีวิตครอบครัว เรียกว่า หลักฆราวาสธรรม ซึ่งแปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตครอบครัวในทางโลก ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ ได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นั่นเอง

การแต่งงาน คืออะไร ทำอย่างไรให้ครอบครัวอบอุ่นเพื่อสร้างสังคมไทยเข้มแข็ง..แหล่งภาพจาก Kalyanamitra

         ชีวิตคู่ในการครองเรือนจึงต้องดำเนินไปด้วยหลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้ แม้จะมีคำกล่าวในหลักศาสนาว่า การเกิดเป็นทุกข์ และเป็นการเพิ่มห่วงแห่งทุกข์ ก็ตาม แต่โลกใบนี้ก็เป็นแหล่งการสร้างบารมี ที่ดีที่สุด เช่นกัน

          สำหรับสังคมไทยในอดีต ล้วนมีครอบครัวใหญ่ ที่อยู่ร่วมกันทั้งพ่อแม่ลูกปู่ย่าตายาย สะใภ้ ลูกเขย ป้าน้าอา เป็นต้น ซึ่งก็มีส่วนทำให้ครอบครัวเข้มแข็งมาได้จนทุกวันนี้ 

          แต่ปัจจุบัน คนไทยเปลี่ยนวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้สภาพครอบครัวไม่แข็งแรง แต่เปราะบางมากขึ้นกว่าเดิม พร้อมที่จะหักหรือพังได้อย่างง่ายดาย เพราะการสร้างครอบครัวไม่ได้มาจากความพร้อมของทั้งสองฝ่าย แต่มักตัดสินใจด้วยอารมณ์ของตนเองเป็นใหญ่ 

         ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่ครอบครัวไทยจะกลับมาฟื้นฟูความรู้สึกดี ๆ ต่อการสร้างครอบครัวเข้มแข็งโดยปราศจากอบายมุขอีกครั้ง เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเยาวชนรุ่นหลังตลอดไป

ต้นไม้ใกล้ฝั่ง

5 ก.พ. 2561

เผยแพร่โดยกองบรรณาธิการwinnews

แชร์