เรื่องเล่าสอนใจ "พระใบลานเปล่า" เป็นอย่างไร ?

ในสมัยพุทธกาล...มีพระองค์หนึ่งชื่อ ตุจโฉโปฏฐิละ เป็นผู้คงแก่เรียน แตกฉานในคำสอนของพระพุทธองค์ และมีลูกศิษย์มากมายที่บรรลุธรรมเป็นพระอริยะบุคคล ยามใดเมื่อท่านอธิบายธรรม ก็ไม่มีใครกล้าพูดหรือเถียงท่าน เป็นที่นับหน้าถือตาของคนโดยทั่วไป http://winne.ws/n22248

5.5 พัน ผู้เข้าชม
เรื่องเล่าสอนใจ "พระใบลานเปล่า" เป็นอย่างไร ?ขอบคุณภาพจาก 3thai.com

พระใบลานเปล่า

        คำสอนของพระบรมศาสดา ปัจจุบันเราสามารถหาศึกษาได้จากในพระไตรปิฎก หรือในคัมภีร์โบราณบ้าง พวกเราในฐานะเป็นสาวกของพระองค์ควรหาโอกาสศึกษาให้มีความรู้แตกฉานให้สมกับที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง นอกจากจะได้ความรู้ที่เป็นสุตมยปัญญาแล้ว ยังจะเป็นพลวปัจจัยเพิ่มพูนปัญญาบารมีของเรา และยังเป็นเหตุให้ก้าวไปสู่ขั้นภาวนามยปัญญาได้อย่างง่ายดาย เพื่อนำไปสู่หนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ

     * เหมือนดังเรื่องของพระโปฐิลเถระ ซึ่งเรารู้จักกันในนามของพระใบลานเปล่า ท่านเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกในศาสนาของพระพุทธเจ้ามาถึง ๗ พระองค์ ครั้นออกบวชก็ตั้งใจศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน และยังสอนธรรมะให้กับพระภิกษุ ๕๐๐ รูป นอกจากนี้ ท่านยังเป็นเจ้าคณะใหญ่ถึง ๑๘ คณะ ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักของภิกษุสามเณรเป็นอย่างดี  

        พระบรมศาสดาปรารถนาจะให้พระโปฐิละเป็นผู้มีความรู้ทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และเทศนา คือได้ทั้งคันถะธุระและวิปัสสนาธุระ สมกับที่เป็นสาวกของพระพุทธองค์ แต่เนื่องจากพระโปฐิละมัวแต่สอนคนอื่นจนไม่มีเวลาสอนตนเอง ไม่ยอมปลีกวิเวกไปบำเพ็ญสมณธรรมตามลำพังบ้าง วัน ๆ ได้แต่เตรียมสอนธรรมะ และตอบปัญหาข้อสงสัยให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านจึงไม่มีความคิดที่จะสลัดออกจากกองทุกข์เพื่อมุ่งสู่พระนิพพาน

         ยามใดเมื่อท่านอธิบายธรรม ก็ไม่มีใครกล้าพูดหรือเถียงท่าน เป็นที่นับหน้าถือตาของคนโดยทั่วไป วันหนึ่ง ท่านไปกราบพระพุทธเจ้า ขณะก้มลงกราบ พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า

"มาแล้วหรือ ท่านใบลานเปล่า"

เมื่อท่านเสร็จกิจทูลลากลับ พระพุทธองค์ก็ตรัสอีกว่า "กลับแล้วหรือ ท่านใบลานเปล่า"

        ทำให้ท่านกลับไปคิดตริตรองว่า “เราเป็นผู้ทรงไว้ทั้งพระไตรปิฎก แต่พระบรมศาสดาก็ยังตรัสเรียกเราว่าใบลานเปล่า อาจเป็นเพราะเราเป็นผู้ไม่มีคุณวิเศษภายใน” เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่าจริง ท่านเป็นพระเรียนอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย เมื่อมองดูจิตใจของตน ก็ไม่ต่างจากฆราวาสเลย ยังมีกิเลส โลภ-โกรธ-หลง อยู่ครบ 

        ท่านจึงเกิดความละอายใจ อยากจะปฏิบัติธรรมบ้าง เมื่อไปหาอาจารย์ตามที่ต่าง ๆ ก็ไม่มีใครกล้ารับ เพราะเห็นว่าท่านร่ำเรียนมามาก ไม่มีใครกล้าสอน มาขอฝึกกับพระลูกศิษย์ที่เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มีท่านใดยอมสอนเช่นกัน 

เมื่อหมดทางเลือกท่านจึงไปขอฝึกกับสามเณรซึ่งเป็นลูกศิษย์ของตนเองแต่เป็นอริยบุคคล

เรื่องเล่าสอนใจ "พระใบลานเปล่า" เป็นอย่างไร ?แหล่งภาพจาก ธรรมะเพื่อประชาชน - DMC.tv

 เณรจึงทดสอบว่าท่านมีความจริงใจและลดอัตตาในการเป็นอาจารย์หรือยัง 

        จึงสั่งให้ท่านห่มผ้าให้เรียบร้อย แล้วให้ท่านโปฎฐิละ เดินลงไปในสระน้ำ ท่าน โปฎฐิละ ก็ทำตามคือเดินลงไปเรื่อย ๆ ถามเณรว่าลงพอหรือยัง เณรซึ่งอยู่ริมตลิ่งก็ตะโกนบอกว่า “ยัง..ลงไปอีก” ท่านก็ลงไปเรื่อย ๆ จนเกือบถึงคอ เณรถึงสั่งให้พอ 

ครั้นเมื่อเณรเห็นว่าท่านละทิฐิได้แล้ว จึงสอนวิธีกำหนดอารมณ์จับอารมณ์ให้รู้จักจิตของตน โดยยกอุบายขึ้นว่า

"เหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปอยู่ในโพลงจอมปลวกซึ่งมีรูอยู่หกรู ถ้าเหี้ยเข้าไปในนั้น ทำอย่างไรจึงจะจับเหี้ยได้?

" ท่านโปฎฐิละ ด้วยความเป็นผู้คงแก่เรียนมีปัญญามากอยู่แล้ว ก็เข้าใจคำสอนของเณรทันที และตอบเณรว่า

"จะจับเหี้ย ก็ต้องหาอะไรมาปิดรูไว้ก่อนห้ารู เหลือเพียงรูเดียวให้เหี้ยออก แล้วคอยจ้องมองดูที่รูนั้น เมื่อเหี้ยวิ่งออกมาเมื่อไรก็คอยดักจับเท่านั้นเองก็จะได้เหี้ยโดยง่าย"

การกำหนดจิตก็เหมือนกับการจับเหี้ย ต้องปิดทวารทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เสียก่อน

         คงเหลือกำหนดแต่จิต หรือใจเพียงอย่างเดียว แล้วใช้สติเป็นตัวคอยควบคุม ท้ายที่สุดพระตุจโฉโปฎฐิละ ก็บรรลุธรรม เลิกเป็นพระใบลานเปล่า...

ข้อคิดจากพุทธพจน์ วาจาสุภาษิต

ของผู้ทำไม่ได้ตามที่พูด ย่อมไม่มีประโยชน์อะไร ดุจดอกไม้สีสวย แต่ไร้กลิ่น


ขอบคุณข้อมูลจาก : http://3thai.com/articles/290

อ้างอิงจาก: มก. เล่ม ๔๓ หน้า ๑๑๘

แชร์