นิสิตหญิงคนแรกสอบ ปธ.๙ ได้ จริงหรือ?!?

วันที่ ๒ มี.ค.๒๕๖๑ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีกระแสข่าวทางสื่อออนไลน์ระบุมีนิสิตหญิงคนแรกเปรียญธรรม ๙ ประโยค(ภาษาบาลี)ได้ ต่อมา น.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล นิสิตคนดังกล่าวได้โพสต์ชี้แจงในบุ๊กส่วนตัวคือ "Sukanya Pema Dechen Chotso" ความว่า ... http://winne.ws/n22514

1.4 พัน ผู้เข้าชม
นิสิตหญิงคนแรกสอบ ปธ.๙ ได้ จริงหรือ?!?

เรื่องเล่าจากโลกออนไลน์ :  ในวันที่เรื่องเท็จถูกปั้นให้กลายเป็นเรื่องจริง

ในช่วง ๒-๓ วันที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้รับประสบการณ์ตรงบางประการจากการเป็นข่าวในโลกออนไลน์ ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าได้เห็นข้อมูลเท็จบนอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก แต่ครั้งนี้ได้ประสบกับตนเองเข้า เห็นว่าหากเขียนเรื่องนี้ไว้ คงช่วยเตือนสติผู้คนได้ไม่มากก็น้อย 

หลังจากมีผู้โพสต์ข้อความเท็จว่าข้าพเจ้าสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค (ตั้งแต่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑) ก็เกิดการแชร์และโพสต์ต่อกันไปเป็นจำนวนมาก มีสำนักข่าวบางแห่งนำไปลงข่าวด้วยไม่ตรวจสอบข้อมูลเสียก่อน ข้อความที่โพสต์ต่อกันนั้น จะเป็นความจริงไปไม่ได้เลย เนื่องจาก

๑. ขณะนี้ (๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑) ยังไม่มีการตรวจข้อสอบใดๆ ทั้งสิ้น แล้วผลสอบที่ลงกันนั้นจะมาได้อย่างไร? ความจริง เริ่มตรวจข้อสอบวันที่ ๓ มีนาคม และประกาศผลสอบวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑

๒. ข้อความว่า “ฆราวาสหญิงคนแรกในประเทศไทยที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค” นั้นไม่เป็นความจริง เพราะการสอบบาลีศึกษา (การสอบเปรียญธรรมสำหรับฆราวาส) เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษแล้ว มีผู้สอบได้บาลีศึกษา ๙ ประโยค ทั้งแม่ชีและฆราวาสหญิงเป็นจำนวนหลายสิบท่าน เพียงแต่ผู้โพสต์/ผู้เขียนข่าวอาจจะไม่เคยได้ยินเท่านั้น เมื่อไม่เคยได้ยิน จึงได้คิดเองว่าไม่มี

๓. ข้อความต่อจากนั้น บางส่วนคัดลอกมาจากข่าวในมติชนออนไลน์เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘ นำมาปะติดปะต่อเสมือนว่าเป็นข่าวในปีนี้ ถ้อยคำเหล่านั้น ข้าพเจ้ามิใช่ผู้เขียนขึ้นเอง เป็นเพียงข้อเขียนที่นักข่าวมติชนท่านหนึ่งเขียนขึ้นมาตามความเข้าใจของตนเองหลังจากสัมภาษณ์ข้าพเจ้าในขณะนั้นเท่านั้น

วิจารณญาณและความรอบคอบเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรับและส่งต่อข่าวบนโลกออนไลน์ โพสต์ลอยๆ ที่ไม่เป็นความจริงและขาดหลักฐานเพียงไม่กี่โพสต์สามารถทำให้เกิดการแชร์ โพสต์ต่อ จนกระทั่งเป็นข่าวออนไลน์ได้มาก 

เรื่องนี้สะท้อนถึงสิ่งใดในสังคมออนไลน์ปัจจุบัน? 

การค้นคว้าหาข้อมูลที่ถูกต้องไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลังนัก เพียงเข้าไปดูเว็บไซต์ทางการของสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงเท่านั้นก็สามารถทราบความจริงได้แล้ว สิ่งที่เป็นหลักฐานยืนยันการสอบได้คือประกาศผลสอบอย่างเป็นทางการของสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงหรือประกาศนียบัตรบาลี  (หากเข้าไปดูเว็บไซต์ของสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง www.infopali.net ในขณะนี้ก็จะพบว่ายังไม่มีผลสอบแต่อย่างใด เพราะยังไม่ถึงวันประกาศผลสอบ) คำพูดลอยๆ จากโพสต์ของผู้อื่นใดก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องย่อมไม่อาจเป็นหลักฐานได้

ข้าพเจ้าเกิดคำถามบางประการในใจ สำนักข่าวและผู้โพสต์ที่เขียนว่าข้าพเจ้าเป็น “ฆราวาสหญิงคนแรกที่จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค” เหล่านั้นไม่ตรวจสอบข้อมูลใดก่อนเลยจริงหรือ? ถึงแม้ว่าคนเหล่านี้อาจจะไม่เคยได้ยิน แต่ว่า “การไม่เคยพบเห็น ไม่เคยได้ยิน ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มี” คนเหล่านี้ได้ค้นคว้ามาก่อนหรือไม่ ว่าการสอบบาลีศึกษานั้นเป็นอย่างไร มีมานานเท่าไร และถ้ามีมานานแล้ว เหตุไรจึงเพิ่งมีคนแรก ไม่มีผู้ใดฉุกใจคิดเรื่องนี้ขึ้นมาเทียวหรือ?

ข่าวและโพสต์เหล่านั้นเขียนว่าข้าพเจ้าจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตรวจสอบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วหรือยังว่าข้าพเจ้าจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้จริงหรือไม่ ถ้าจริง เรียนจบสาขาใด มีหลักฐานยืนยันอย่างไร หากเขียนไปแล้วเกิดพบว่าไม่เป็นความจริง ผู้เขียนจะรับผิดชอบต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสังคมอย่างไร?

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนเหล่านั้นนำชื่อนามสกุลและรูปของข้าพเจ้าไปเขียนโดยมิได้ขออนุญาต มิได้ถามข้อเท็จจริงใดๆ และเขียน “อะไรก็ได้” นี้ไม่ใช่การละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวหรือ? 

เมื่อเช้านี้ ข้าพเจ้าเห็นเพจ “TNN24” นำเรื่องไม่จริงนั้นไปลงข่าว มีผู้กดไลค์และแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก เมื่อข้าพเจ้าส่งข้อความไปชี้แจงในเพจก็ไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างไร แต่เพจดังกล่าวยังคงโพสต์ข่าวอื่นต่อไปอีก เมื่อข้าพเจ้าชี้แจงโดยแสดงความคิดเห็นในโพสต์นั้น ปรากฎว่าความคิดเห็นของข้าพเจ้าถูกรายงานว่าเป็นสแปม! และในที่สุด เพจ “TNN24” ก็ลบโพสต์ข่าวนั้นไปโดยไม่แก้ข่าวที่ตนเขียนผิดพลาดเลยแม้แต่ตัวอักษรเดียว ทั้งยังไม่แสดงว่าจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร  

 ข้าพเจ้าได้ส่งข้อความชี้แจงและขอความกรุณาลบโพสต์ไปถึงผู้ที่นำชื่อและรูปข้าพเจ้าไปเขียนข่าวเท็จเหล่านี้ในกลุ่ม “เปิดโปงตำนานพระเจ้าสร้างโลก” ปรากฏว่าเขาอ่านแต่ไม่ยอมลบโพสต์นั้น  

เมื่อคนบางกลุ่มในสังคมตั้งใจปั้นเรื่องเท็จให้เป็นเรื่องจริงดังนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็มิรู้ที่จะชี้แจงอย่างไรได้ ข้าพเจ้าได้เขียนชี้แจงข้อเท็จจริงลงใน facebook ของตนเอง แต่ไม่เป็นผลอันใด เพราะความเข้าใจผิดจากข่าวที่ไม่จริงนั้นได้แพร่ต่อไปทั่วสังคมออนไลน์เสียแล้ว อนึ่ง ข้าพเจ้ามีกิจธุระมาก ไม่มีเวลาในชีวิตมากพอสำหรับตามชี้แจงเป็นรายโพสต์ไปเสียทุกโพสต์ในโลก ข่าวเท็จมีผู้อ่านมาก แต่โพสต์ชี้แจงความจริงแทบไม่มีผู้อ่าน นี้เป็นเรื่องธรรมดา

บางท่านถามว่าเหตุไรข้าพเจ้าจึงต้องเขียนบทความนี้ขึ้นมา หากศึกษาธรรมะก็ควรปล่อยวางมิใช่หรือ?

ข้าพเจ้าขอตอบว่า ข้าพเจ้าเขียนความจริงนี้ขึ้นมาเพื่อชี้แจงความจริงและเตือนสติผู้คน ไม่ใช่ว่าศึกษาธรรมะแล้วจะปล่อยวางให้สิ่งใดๆ เป็นไปอย่างไรก็ได้  “ความปล่อยวาง” ที่สอนกันนั้นคือการทำใจให้ความยึดติดน้อยลง แต่ไม่ได้หมายถึงการไม่ทำสิ่งที่สมควรทำ เมื่อเราพบเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเช่นการละเมิดสิทธิ หากนิ่งเฉยเสียก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนความไม่ถูกต้องนั้น ทำให้เกิดกรณีเช่นนั้นซ้ำๆ ต่อไปอีก 

ข้าพเจ้าหวังว่ากรณีนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจผู้คนมิให้เกิดเรื่องเช่นนี้ซ้ำอีก


ขอขอบคุณ : น.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล  & บ้านเมือง

แชร์