๑๗ เม.ย. ๒๓๐ ปีชาตกาลตำนาน "สมเด็จโต วัดระฆัง" พระมหาเถระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันนี้เมื่อ ปี 230 ก่อน ถือเป็นอีกวันสำคัญอันยิ่งใหญ่สำหรับชาวไทยพุทธ เพราะเป็นวันที่ อริยสงฆ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สมภพขึ้นบนแผ่นดินสยาม ใช่แล้วท่านคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" http://winne.ws/n23227

2.6 พัน ผู้เข้าชม
๑๗ เม.ย.  ๒๓๐ ปีชาตกาลตำนาน "สมเด็จโต วัดระฆัง"  พระมหาเถระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันนี้เมื่อ ปี 230 ก่อน ถือเป็นอีกวันสำคัญอันยิ่งใหญ่สำหรับชาวไทยพุทธ เพราะเป็นวันที่ อริยสงฆ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สมภพขึ้นบนแผ่นดินสยาม

ใช่แล้วท่านคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือที่เราคนไทยคุ้ยเคยขานนามพระคุณเจ้าว่า"สมเด็จโต" หรือ "หลวงปู่โต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง"

จริงอยู่ที่แม้นาทีที่ท่านสมภพ จะไม่มีใครรู้อนาคตว่า เด็กชายน้อยผู้นี้มีลิขิตอันยิ่งใหญ่รออยู่ แต่ตามตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับหลวงปู่ท่าน ในวัยต้นก็ถือว่าเป็นเรื่องราวลึกล้ำไม่ธรรมดา

ทั้งนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 1(ว่ากันว่าช่วงราวๆ หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี) ท่านถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต หรือตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวไว้ว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร

หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ อย่างไรก็ดีมารดาของท่านนั้นเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกในสมัยอยุธยา) เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง

สำหรับบิดาของท่านนั้น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวไว้อย่างหนึ่ง ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวไว้อีกอย่างหนึ่งไปหาอ่านดูได้ทั่วไป หากแต่ที่ตรงกัน คือที่ว่ากันทั่วไปว่า บิดาของท่านไม่ใช่บุคคลสามัญธรรมดา ก็ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป

อย่างไรก็ดี จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันท์) ได้ระบุชาติกำเนิดของท่านไว้อย่างละเอียด หากแต่ขอคัดมาเล่าบางส่วนดังนี้

๑๗ เม.ย.  ๒๓๐ ปีชาตกาลตำนาน "สมเด็จโต วัดระฆัง"  พระมหาเถระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พลังจิต

สำหรับข้อมูลส่วนนี้ พระยาทิพโกษาได้หาข้อมูลเขียนประวัติสมเด็จโต โดยสอบถามจากบรรดาผู้ใกล้ชิดท่าน เช่น นายพร้อม สุดดีพงศ์ จากตลาดไชโย เมืองอ่างทอง ซึ่งสมเด็จโตไปสร้างพระพุทธรูปใหญ่ไว้ที่นั่น และ ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีวงศ์ วัดสระเกศ ที่สำคัญ คือ เจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช้าง) ผู้เป็นเหลนสมเด็จโต และจำพรรษาอยู่ที่วัดระฆังกับสมเด็จโตมาตลอดตั้งแต่เป็นเณร พระยาทิพโกษาได้เริ่มสอบหาประวัติสมเด็จโตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2474 ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวรมีอายุ 88 ปีแล้ว

โดยเล่าว่าเมื่อนางงุดครรภ์แก่ จึงได้ปลูกเรือนแพสองหลังแฝด และซื้อที่เหนือบ้านนายทองนางเพียนขึ้นไปเพื่อเป็นที่อาศัยคลอดลูกและพักสินค้า

ครั้นถึงวันพุธ เดือนหก ปีวอก จุลศักราช 1183 หรือ พ.ศ. 2319 นางงุดก็คลอดบุตรเป็นชายบนเรือนใหม่ที่บางขุนพรหมนั้น ประมาณเดือนเศษต่อมา ญาติมิตรที่มาอุ้มทารกน้อยเชยชม ก็สังเกตและคลำแขนดู ต่างก็แปลกใจที่แกนกระดูกแขนของทารกนั้นเป็นท่อนเดียว ทั้งยังมีปานดำที่กลางหลัง

ต่างพูดกันไปต่างๆนานา จนนางงุดเกรงว่าตัวเองบุญน้อยจะเลี้ยงลูกคนนี้ให้รอดยาก จึงปรึกษาบิดามารดาว่าจะหาพระสงฆ์ที่ประพฤติดีเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเพื่อจะยกลูกให้ท่าน นายทองนางเพียนจึงแนะนำให้ไปถวาย อาจารย์แก้ว วัดบางลำพูบน (วัดสังเวศวิศยาราม)

พระอาจารย์แก้วกำลังกวาดลานวัด เมื่อรับทารกที่ตาผลมาวางบนตักให้แล้ว พิจารณาดูก็รู้ว่าเด็กคนนี้มีปัญญาเฉลียวฉลาด จะเป็นคนที่เปรื่องปราชญ์ มีอิสริยยศบริวารมากต่อไป จึงผูกข้อมือเสกเป่าไม่ให้ตาล ทราง หละ ละลอก ทรพิษ มารบกวนทารกได้ และฝากตาผลกลับไปให้นางงุดเลี้ยงจนกว่าจะได้ 3 ขวบ พร้อมทั้งจะจ่ายค่าจ้าง ค่าข้าว ค่านมให้อีกปีละ 100 บาท

ตาผล ยายลา นางงุด พ่อแม่ลูกค้าขายมีกำไรมั่งคั่ง จึงย้ายภูมิลำเนาลงมาสร้างเรือนหลังใหญ่ที่เมืองพิจิตร มีทั้งโรงสี โรงพักสินค้าอยู่ในบ้าน

ต่อมาส่วนเด็กชายโตเจริญวัยเข้า 7 ขวบ นางงุดจึงนำไปถวาย ท่านพระครูใหญ่ วัดใหญ่ในเมืองพิจิตรให้เรียนหนังสือทั้งไทยและขอม ท่านพระครูใหญ่นอกจากจะรอบรู้ในเรื่องคัมภีร์แล้ว ยังเก่งกล้าทางด้านคาถาอาคม อยู่ยงคงกระพัน เสกเป่าให้คนร้ายและสัตว์ร้ายยืนงงจังงังได้ เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนเป็นจำนวนมาก

๑๗ เม.ย.  ๒๓๐ ปีชาตกาลตำนาน "สมเด็จโต วัดระฆัง"  พระมหาเถระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์Youtube.com

จนเมื่ออายุได้ 13 ปี จึงได้บวชเณร (บางแหล่งระบุว่าราวช่วงปี 2343) ซึ่งสามเณรโตใส่ใจการเล่าเรียน จดจำคัมภีร์มูล และบาลีไวยกรณ์ได้อย่างแม่นยำ ตกค่ำก็จุดตะเกียงถวายพระครูอุปัชฌาย์ และบีบนวดแข้งขาปรนนิบัติ พร้อมทั้งไต่ถามเรื่องราวต่างๆ ตามประสาเด็ก ท่านพระครูมีเมตตาก็แนะนำธรรมปริยาย และสอนเวทย์มนต์คาถาสำหรับสะกดสัตว์ร้าย อย่าง แรด หมี เสือช้าง จระเข้ ให้

พออายุได้ 15 ปี สามเณรโตก็เรียนคัมภีร์มูลจบสิ้น แต่ความกระหายในความรู้วิชาต่างๆ ยังไม่หมด จึงอ้อนวอนพระอุปัชฌาย์ให้ช่วยสอน คัมภีร์พระปริยัติธรรม แต่ท่านแนะนำให้ไปเรียนกับพระครูจังหวัด วัดเมืองชัยนาท สามเณรโตจึงกลับมาอ้อนวอนตาผลและนางงุดให้ช่วยพาไป เป็นเช่นนี้จนต่อมา ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง

ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า "พฺรหฺมรํสี"

เนื่องจากเป็นนาคหลวงจึงเรียกว่า "พระมหาโต" มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

อย่างไรก็ดี พระมหาโต มีจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของ และทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม ท่านมีอุปนิสัยทำสิ่งใดตามความพอใจของตน ไม่ถือเอาความนิยมขอผู้อื่นเป็นหลัก และไม่ปรารถนายศศักดิ์หรือลาภสักการะใดๆ

แม้ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ก็ไม่ยอมเข้าสอบเปรียญธรรม ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 จะทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ แต่ท่านไม่ยอมรับ จึงคงเป็นพระมหาโตมาตลอดรัชกาล

ต่อมากล่าวกันว่า พระมหาโตได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่างๆ กัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาศน์ไว้ที่วัดสตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น

ปูชนียสถานทุกแห่งที่ท่านสร้าง จะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของท่านอยู่เสมอ การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ล้วนแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างจึงจะทำได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความศรัทธาและบารมีของท่าน ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านไปอย่างชัดเจน

๑๗ เม.ย.  ๒๓๐ ปีชาตกาลตำนาน "สมเด็จโต วัดระฆัง"  พระมหาเถระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 พระองค์โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง จนในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ "พระธรรมกิติ" และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี

อย่างที่กล่าวไว้ว่า โดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา คือราวช่วงปี พ.ศ. 2397 ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ "พระเทพกระวี" หลังจากนั้นอีก 10 ปี หรือราวช่วงปีพ.ศ. 2407 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า

"สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ"

สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า "สมเด็จโต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า "ขรัวโต"

๑๗ เม.ย.  ๒๓๐ ปีชาตกาลตำนาน "สมเด็จโต วัดระฆัง"  พระมหาเถระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับคำสอนเด่นๆ ที่ปรากฏ และเชื่อกันว่าเป็นคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ที่เป็นที่นิยมนับถือกันทั่วไป โดยไม่มีการอ้างอิงที่มาที่แน่ชัด เช่น "บุญเราไม่เคยสร้าง...ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า ..."

"ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว...เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัว...แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า...หมั่นสร้างบารมีไว้...แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง...จงจำไว้นะ... เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้... ครั้นเมื่อถึงเวลา... ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่...จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า"

จึงนับได้ว่า สมเด็จท่านรอบรู้แตกฉานใน พระธรรมวินัย และธรรมปฏิบัติ ความเป็นเลิศในการเทศนา ได้รับการยกย่องสรรเสริญในสติปัญญาและ ปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม เปี่ยมวินัย และธรรมปฏิบัติ

และท่านยังถือปฏิบัติในข้อธุดงค์วัตรทุกประการ คือ ฉันในบาตร ถือผ้าสามผืนออกธุดงค์ เยี่ยมป่าช้า นั่งภาวนา เดินจงกรม จนวาระสุดท้ายท่านมรณะภาพเมื่อวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 9 ปีจอ เวลา 2 ยาม หรือราวปี พ.ศ. 2410

โดยก่อนมรณะภาพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ)

แต่แล้วสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหม ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

http://www.nationtv.tv/main/content/378618688/

๑๗ เม.ย.  ๒๓๐ ปีชาตกาลตำนาน "สมเด็จโต วัดระฆัง"  พระมหาเถระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์Youtube.com
แชร์