“โครงการชักน้ำ”เทคโนโลยีสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ดับแล้งเมืองละโว้

ระบบการจัดการน้ำเมืองละโว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งแรก คือการใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำโบราณที่มีมาก่อนรัชสมัยพระองค์ http://winne.ws/n23252

872 ผู้เข้าชม
“โครงการชักน้ำ”เทคโนโลยีสมัยสมเด็จพระนารายณ์  ดับแล้งเมืองละโว้

แม้ละครดัง“บุพเพสันนิวาส”จบบริบูรณ์ไปเรียบร้อย แต่กระแสฟีเวอร์ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความสนใจใฝ่รู้ศึกษาประวัติศาสตร์สยามครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทื่ “เมืองอโยธยา” เป็นราชธานี และเปรียบ“เมืองละโว้”เป็นราชธานีแห่งที่2

ด้วยความเจริญอย่างต่อเนื่องของ“เมืองละโว้” ทำให้เกิดการก่อสร้างใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พบว่าเมืองละโว้ตั้งอยู่ในที่ดอน ทำให้ฤดูแล้งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ จนมีระบบการจัดการน้ำเกิดขึ้น

เกร็ดความรู้จากหนังสือ “สาระน่าสนใจของประวัติศาสตร์ไทย ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” โดยนายภูธร ภูมะธน สถาบันราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี ระบุว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำ นำมาสู่การจัดการน้ำ มีการสร้างระบบเก็บกักน้ำ สร้างถังพักตะกอนและจ่ายน้ำไปตามท่อน้ำดินเผาฝังใต้ดินเพื่อใช้ในพระราชวัง อารามหลวง และบ้านขุนนาง

ระบบการจัดการน้ำเมืองละโว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งแรก คือการใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำโบราณที่มีมาก่อนรัชสมัยพระองค์ คือ ทะเลชุบศร ด้วยการสร้างประตูระบายน้ำปากจั่นและบังคับให้น้ำไหลตามท่อนำไปสู่ถังพักตะกอนคืออ่างแก้วและสระแก้ว จากนั้นจึงจ่ายน้ำตามท่อน้ำดินเผาที่ฝังใต้ดิน เพื่อนำไปใช้ เข้าใจว่าได้รับคำปรึกษาจากวิศวกรชาวเปอร์เซีย-โมกุล ว่ากันว่าระบบประปาเกิดขึ้นครั้งแรกที่นี่

“โครงการชักน้ำ”เทคโนโลยีสมัยสมเด็จพระนารายณ์  ดับแล้งเมืองละโว้

บันทึกของแชรแวส ผู้พำนักในสยามระหว่างพ.ศ.2224-2228 ระบุว่า ระบบน้ำที่เมืองลพบุรีใช้เวลาสร้างนานถึง10 ปี จึงแล้วเสร็จ

ต่อมาช่วง10ปีสุดท้ายของรัชกาล(พ.ศ.2221-2231) เมืองละโว้ ได้รับการก่อสร้างใหญ่โตมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเป็นเวลาการมาเยือนของราชทูตนานาประเทศ ทำให้อาคารขนาดใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก มีการตกแต่งอาคารให้สวยงามด้วยสวนและน้ำพุตามแบบเปอร์เซีย-โมกุล ทำให้ความจำเป็นของการใช้น้ำยิ่งมากขึ้นอีก

โครงการแหล่งป้อนน้ำใช้สำหรับเมืองละโว้แหล่งใหม่จึงเกิดขึ้น คือ ชักน้ำจากห้วยซับเหล็ก ห่างจากเมืองละโว้ไปทางทิศตะวันออกประมาณ12กิโลเมตร ผ่านลำรางส่งน้ำแบบเปิดรูปตัวยู จนถึงสระพักตะกอนน้ำที่บ้านวังศาลา(ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.ลพบุรี) จากนั้นจึงบังคับน้ำให้ไหลไปตามท่อน้ำดินเผา ฝังใต้ดินผ่านหอระบายแรงกดดันอากาศตรงมายังพระราชวัง โดยมีบาทหลวงฝรั่งเศสและอิตาลีเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้

โครงการบริหารน้ำให้เกิดประโยชน์ สะดวกและสวยงาม ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เมืองลพบุรี เป็นผลงานสำคัญในฐานะพระองค์ทรงเป็นผู้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในสยาม ใช้เวลาก่อสร้างและพัฒนานานเกือบ20ปี

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก : สำนักข่าวมติชน

แชร์