คนที่ควรเลือกคบหา และอยู่ใกล้ๆ

ในขณะที่เราคบหาคนเหล่านั้นเป็น "เพื่อน" เราเคยคิดบ้างไหมว่าการพูดคุย หรือให้ความสนิทสนมของแต่ละคนนั้นควรมีขอบเขตแค่ไหน แล้วมีอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าเราควรให้ความไว้วางใจใครได้บ้าง ? http://winne.ws/n23366

9.7 พัน ผู้เข้าชม

ท่ามกลางคนมากหน้าหลายตา  บางคนอาจมีเพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คน  ในขณะที่บางคนอาจมีเพื่อนมากมายหลากหลายประเภท    ในขณะที่เราคบหาคนเหล่านั้นเป็น "เพื่อน"  เราเคยคิดบ้างไหมว่าการพูดคุย หรือให้ความสนิทสนมของแต่ละคนนั้นควรมีขอบเขตแค่ไหน  แล้วมีอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าเราควรให้ความไว้วางใจใครได้บ้าง ?

สุภาษิตบทหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า "คบคนพาล พาลพาไปหาผิด  คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล"  เป็นการสอนในเรื่องการคบคน ...เราเลือกคบคนแบบไหน เราก็จะเป็นแบบนั้น 

คนที่ควรเลือกคบหา และอยู่ใกล้ๆ

เมื่อพูดอย่างนี้ หลายๆคนอาจจะแย้งขึ้นมาว่า 

   "ฉันคบคนได้ทุกประเภท  ดี เลว อย่างไรคบได้หมด   ถ้าฉันรู้ว่าเพื่อนคนนี้ไม่ดี ฉันก็แค่กิน แค่เที่ยวกับมัน  ไม่เห็นจะต้องทำตัวให้แย่ๆแบบนั้นเลย"

 "ฉันก็เป็นของฉันอย่างนี้ ไม่มีใครสามารถทำให้ฉันเป็นคนเลว หรือคนดีได้ นอกจากตัวฉันเอง"

หากใครที่กำลังคิดแบบนี้อยู่  ขอให้ หยุด ! ลองอ่านบทความนี้แล้วกลับไปคิดทบทวนใหม่อีกครั้ง

ทำไมจึงได้มีคำกล่าวว่า "เราคบคนเช่นไร เราก็จะเป็นเช่นนั้น "  

  เช่น  หากเราคบคนไม่ดี ชอบเล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน หรือกินเหล้าเมายา  เมื่อแรกเริ่มเราก็รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี แรกๆบางคนอาจมีการเตือนเพื่อนว่าของพวกนั้นมันไม่ดี  แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เราคลุกคลีอยู่กับเพื่อนกลุ่มเดิมๆ  ทำให้เห็นสิ่งที่เพื่อนทำอยู่เป็นประจำ จึงเกิดเป็นความเคยชินต่อภาพเหล่านั้น  เมื่อเห็นภาพนั้นบ่อยๆ นานวันเข้าจึงกลายเป็นการตอกย้ำความรู้สึกสำนึกในการแยกแยะดีชั่วให้เจือจางลง  กลายเป็นความเคยชิน  ความรู้สึกว่าสิ่งนั้นไม่ดี ไม่ควรทำ  สิ่งนี้ดี ควรทำ  จะค่อยๆลดน้อยลงไป  จนกระทั่งวันหนึ่งเราจะเริ่มรู้สึกว่า การกระทำต่างๆเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติ  คนอื่นๆ เขาก็ทำกัน ไม่เห็นเขาจะทำความเดือดร้อนให้ใคร เงินก็เงินของเรา  ตัวก็ตัวของเรา  เมื่อคิดอย่างนี้จึงเริ่มอยากลองอยากทำตาม  ท้ายที่สุดก็กลายเป็นเห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่เพื่อนทำและกลายเป็นคนที่มีนิสัยและพฤติกรรมที่ไม่ดีเหมือนอย่างเพื่อนที่ตัวเองคบ

คนที่ควรเลือกคบหา และอยู่ใกล้ๆภาพ pixabay.com

ในทำนองเดียวกันกับการเลือกคบเพื่อนที่ดี  เราจะค่อยๆซึมซับความคิดดีๆ  พฤติกรรมดีๆ ทีละเล็กทีละน้อยเข้ามาไว้ในตัวเองโดยไม่รู้ตัว  เมื่อนานวันเข้าสุดท้ายก็กลายเป็นคนนิสัยดีๆไปโดยปริยาย 

คำสอนทางพระพุทธศาสนาในการเลือกคบคนนั้น พระพุทธองค์ทรงให้เราเลือกคบแต่ "กัลยาณมิตร" เพราะกัลยาณมิตรนอกจากจะพาเราไปในทางที่ดีแล้ว ยังพาให้เราพ้นจากประตูอบายอีกด้วย 

แล้วเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรนั้น ต้องมีลักษณะแบบไหน  เราลองมาศึกษากัน!!

คนที่ควรเลือกคบหา และอยู่ใกล้ๆภาพ pixabay.com

"กัลยาณมิตร" คือ มิตรที่มีคุณธรรมความดีงามในตัวเอง  สามารถเป็นต้นแบบเหนี่ยวนำให้คนรอบข้างเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีงาม  มีความยินดีในการช่วยเหลือ  เกื้อกูล โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ   ซึ่งตรงกับหลัก "กัลยาณมิตรธรรม 7 "  คือ

1. ปิโย      คือ  ความน่ารัก     หมายถึง  เป็นคนที่มีความรัก ความเมตตากรุณากับเพื่อนด้วยความจริงใจ  เข้าถึงจิตใจและสร้างความสนิทสนมเป็นกันเองได้ เมื่อเราอยู่ใกล้ๆ จะรู้สึกอบอุ่น  สบายใจ  อยากคบหา 

2. ครุ       คือ  น่าเคารพ        หมายถึง  เป็นคนที่มีความประพฤติดีงาม  เหมาะสมแก่ฐานะ และบทบาททางสังคม  เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนอื่น  สามารถเป็นที่พึ่งพายามทุกข์ได้

3. ภาวนีโย       คือ  น่าเจริญใจในคุณธรรม     หมายถึง  เป็นคนที่มีความประพฤติอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา  มีความรู้จริง  ฝึกฝนและพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่ความเจริญอยู่เสมอ จนเป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้าง 

4. วัตตา      คือ  รู้จักพูดให้ได้ผล        หมายถึง  เป็นคนที่สามารถเลือกใช้คำพูดในการอธิบาย  ชี้แจงให้คนอื่นเข้าใจ  สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง  มีประสิทธิภาพ  รวมทั้งคอยให้คำแนะนำตักเตือนและเป็นที่ปรึกษาที่ดีได้  คนเช่นนี้ย่อมเป็นนักพูดที่ดี

5. วจนขโม       คือ  อดทนต่อถ้อยคำ      หมายถึง  เป็นคนที่พร้อมรับฟังคำพูดของคนอื่นด้วยความใส่ใจ  ไม่แสดงกิริยารำคาญหรือแสดงกิริยาว่าไม่สนใจฟัง หรือพูดโต้แย้งในขณะที่คนอื่นยังพูดไม่จบ  รวมทั้งยังเป็นผู้ที่อดทนต่อคำพูดที่คนอื่นพูดล่วงเกินตัวเองได้ด้วยอาการสงบ  คนเช่นนี้ย่อมเป็นผู้ฟังที่ดี

6. คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา        คือ  แถลงเรื่องลึกล้ำได้         หมายถึง   เป็นคนที่สามารถอธิบายเรื่องที่ลึกซึ้ง ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย  สามารถแนะนำการใช้ชีวิตให้อยู่ในคุณงามความดี ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท  คนเช่นนี้ย่อมเป็นผู้ปัญญา รู้จริง

7. โนจัฏฐาเน นิโยชเย       คือ   ไม่ชักนำสู่ทางเสื่อม      หมายถึง  ไม่ใช้ความรู้ชักนำให้คนรอบข้างทำสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรม  หรือชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสียชื่อเสียง

คนที่ควรเลือกคบหา และอยู่ใกล้ๆภาพ pixabay.com

เนื่องจากการใช้ชีวิตของคนทุกคนที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนหลากหลายประเภท  เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตั้งแต่เราเกิดมาจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิต มีคนมากมายที่เข้ามาให้เราได้รู้จัก คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง  เพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน  เพื่อนร่วมงาน แม้กระทั่งการติดต่อธุรกิจ หรือติดต่องานต่างๆ ล้วนต้องมีความเกียวข้องกับบุคคลทั้งสิ้น

คนที่อยู่รอบๆตัว จึงมีความสำคัญ และถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อทิศทางในการดำเนินชีวิตของเราไม่มากก็น้อย  แม้เราจะมีความรู้มากพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร  แต่บางครั้งเราอาจเจอปัญหาที่ต้องการคนที่ให้คำปรึกษาที่ดี  หรืออาจมีความทุกข์ใจที่อยากหาคนมาคอยรับฟัง  อยากหาคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ  

คนที่เป็น "กัลยาณมิตร" นั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในฐานะ "เพื่อน"เสมอไป  แต่กัลยาณมิตรคือคนที่อยู่รอบๆตัวเรานั่นเอง      และนี่คือเหตุผลที่สำคัญว่า   ทำไมเราจึงต้องเลือกคบคน   !!!


แล้วลักษณะของ "เพื่อน"  ที่ไม่ควรคบเป็นแบบไหน  ?  

ครั้งหน้าเราลองมาศึกษากัน  


บทความโดย  เดอะซัน

 

แชร์