พระพุทธศาสนากับภารกิจส่งต่อคำตอบแก้โจทย์ทุกข์ของชีวิต ในยุคเทคโนโลยี

หากพระพุทธศาสนา นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับภารกิจในการส่งต่อความดีสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกัน ก็เชื่อว่าการเผยแผ่การส่งต่อพุทธธรรมจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีพลัง http://winne.ws/n23644

1.1 พัน ผู้เข้าชม

พระพุทธศาสนากับภารกิจส่งต่อคำตอบแก้โจทย์ทุกข์ของชีวิต ในยุคเทคโนโลยี

ครั้งที่แล้วเราพูดคุยถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อผู้คนในยุคที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป หรือที่เรามองว่าเป็นความเจริญก้าวหน้า เพราะวิถีชีวิตมนุษย์มีอุปกรณ์ในการดำรงชีพที่สะดวกสบายกว่าสมัยก่อนแต่นั่นไม่ได้แปลว่า ปัญหาความทุกข์ของมนุษย์ได้รับการแก้ไขให้ลดน้อยลง  ตรงกันข้าม,กลับอาจเพิ่มปัญหาให้มนุษย์มากขึ้น

พระพุทธศาสนายังคงเป็นคำตอบ สำหรับการแก้โจทย์ทุกข์ในทุกสภาพ นั้นแปลว่าภารกิจของพระพุทธศาสนาในการส่งต่อคำตอบนั้นยังคงเป็นงานหนักที่ไม่เคยลดน้อยลงไม่ว่าสังคมผู้คนจะเปลี่ยนไปอย่างไร โดยเฉพาะในสภาพสังคมปัจจุบันที่มีเงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมที่ท้าทายภารกิจงานเผยแผ่รอบด้านทิศทางของภารกิจดังกล่าวควรจะเป็นไปอย่างไร พระอาจารย์ จุมพลปุญฺญพโล  ได้กรุณาแสดงความคิดเห็นไว้น่าสนใจค่ะ

พระพุทธศาสนากับภารกิจส่งต่อคำตอบแก้โจทย์ทุกข์ของชีวิต ในยุคเทคโนโลยี

หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วพระองค์เริ่มทำหน้าที่ จนกระทั้งคนเริ่มสนใจ พระพุทธศาสนาเดินเข้าหาประชาชน  ประชาชนก็เดินเข้าหาพระพุทธศาสนา  ก็เกิดความเข้าใจเกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเกิดความเป็นปึกแผ่น

นั้นคือ สมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเริ่มต้น และทรงรับผิดชอบภารกิจงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา  100 %  แล้วค่อยๆ มีผู้เข้ามาช่วยรับภารกิจนี้ร่วมกับพระองค์  คือ เหล่าพระอรหันต์ ที่สามารถเดินทางไปแสดงธรรมไปสร้างศรัทธาให้แก่ประชาชนแทนพระพุทธองค์ได้ และญาติโยมเองซึ่งมีหลายระดับเหมือนในปัจจุบัน แต่สมัยนั้น ญาติโยมฝ่ายฆราวาสที่เป็นกำลังสำคัญเป็นคนระดับแถวหน้าของสังคม เช่น กษัตริย์ นักปกครองเจ้าเมือง ข้าราชการ คฤหบดี แม้แต่ผู้นำทางจิตวิญญาณจากลัทธิต่างๆ ที่เมื่อเข้าใจสัจจะธรรมอันแท้จริงตามพระพุทธองค์แล้ว ก็หันมาถือพระรัตนตรัย และทุ่มเทช่วยเหลือภารกิจของพระพุทธศาสนา บุคคลเหล่านี้ไปถึงไหนก็นำเอาพระพุทธศาสนาไปถึงนั้นเพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนา ในยุคนั้นอยู่ในความรับผิดชอบช่วยกันรับภาระของพุทธบริษัท 4 เป็นอย่างดี 

เพราะฉะนั้น การส่งต่อพุทธธรรมคือ ความรับผิดชอบร่วมกัน 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป  ก็อาจทำให้เกิดความค่อยๆ ห่างเหินกันไป  ซึ่งปัจจัยมาทั้งจากภายใน และภายนอก  เพราะธรรมชาติชีวิตมักไหลไปตามสภาพแวดล้อมที่แล้วแต่จะไหลไปทางไหน
ซึ่งการที่ชาวพุทธเริ่มคลอนแคลน นั่นอาจเพราะระดับของการเข้ามาเกี่ยวข้องหรือ การเข้ามารับผิดชอบมีมากน้อยต่างกัน

ฉะนั้น วันนี้ของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การเริ่มต้นใหม่  เพราะพระพุทธเจ้าทรงค้นและเริ่มต้นมาแล้ว ณวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่ว่าเราต้องออกแรงต่อแค่ไหน ?

ซึ่งเมื่อมองไปที่องค์ประกอบ คือ พุทธบริษัท 4 นั่นหมายความว่าต่างต้องเข้ามารับผิดชอบรับภาระในการทำนุบำรุงสืบสานและส่งต่อร่วมกัน 

พระพุทธศาสนากับภารกิจส่งต่อคำตอบแก้โจทย์ทุกข์ของชีวิต ในยุคเทคโนโลยี

พระพุทธศาสนา กับภารกิจในท่ามกลางยุคเทคโนโลยี

โลกเปลี่ยนไป และสิ่งหนึ่งคือ พระ และ ประชาชน อาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกัน   แต่ภาพลักษณ์ระหว่างความเป็นวิถีพระ กับความเป็นวิถียุคเทคโนโลยี  บางทีก็อาจจะแปลกตาสำหรับความคุ้นเคยในภาพลักษณ์ของพระ จากยุคก่อนๆ  

ซึ่งจุดนี้ ต้องทำความเข้าใจว่า ในแต่ละสังคมจะมีผู้ที่เป็นผู้นำ หรือ Leader ที่สังคมให้ความเชื่อถือ  นั่นแปลว่าแล้วแต่ผู้นำจะนำไปทางไหน 

พระพุทธศาสนาในบ้านเรามีผู้นำ ที่นำมาในภาพลักษณ์ของพระที่อาจไม่ได้เน้นการทำงานเผยแผ่เชิงรุกมากนัก  เพราะฉะนั้นภาพลักษณ์ของพระที่ทำงานเชิงรุกจึงอาจเป็นภาพที่ผู้คนไม่คุ้นและไม่ค่อยเข้าใจ และคนที่มาในยุคหลังๆ ก็เข้าใจตามรอยเดิมว่าพระ ต้องตัดขาดจากโลกไม่เอาอะไรเลย  ซึ่งถามว่าถูกไหมที่เข้าใจภาพพระอย่างนั้น,  ถูกต้อง...แต่ถูกครึ่งหนึ่ง

ครั้นเมื่อพูดถึง “ภารกิจการเผยแผ่พระพุทธศาสนา”เราก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทำงานมาอย่างไร  แล้วเราควรจะทำต่อไปอย่างไร  เมื่อเรามองอย่างนี้ เราจะพบว่าหลักการวิธีการที่ดีที่สุดมีอยู่แล้ว

เราจะเห็นว่า ยุคเริ่มต้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มทำงานเผยแผ่ ผลลัพธ์คือพระพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตจิตใจของผู้คนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งในระดับที่สามารถเปลี่ยนชีวิตความคิดความเชื่อของเจ้าลัทธิอื่นๆได้  ฉะนั้นระยะเวลา 45  ปี ของพระองค์ พระพุทธศาสนาจึงรุ่งเรืองมาก

ณ วันนี้แม้อาจจะยากที่จะทำให้ได้อย่างพระองค์ แต่อย่างน้อยเราอาจสามารถทำให้ได้คล้ายๆ อย่างพระองค์  ซึ่งนั้นคือ เหตุผลที่เราต้องมาศึกษาว่า พระพุทธองค์ท่านทำไว้อย่างไรจึงไปถึงตรงนั้นได้  เพราะแม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป แต่ปัญหาทุกข์ของมนุษย์ ก็เป็นเรื่องเดิมชีวิตมันเปลี่ยนแค่รูปลักษณ์ภายนอก

เมื่อเราศึกษาการทำงานของพระพุทธองค์จะเห็นว่า พระองค์ทำงานเผยแผ่เชิงรุก ซึ่งตรงนี้เราควรจะได้ถอดวิธีการและหัวใจการทำงานของพระองค์ออกมา  เพื่อให้การทำงานเผยแผ่พุทธธรรมหรือส่งคำตอบเพื่อแก้ไขทุกข์สู่เพื่อนมนุษย์เป็นไปในรอยเดียวกันกับที่พระพุทธองค์ทรงทำมา ( ซึ่งถ้าจะกล่าวในรายละเอียดก็จะยาวมาก...วันนี้เราจะกล่าวเพื่อให้เห็นภาพรวม )

ดังนั้นโดยประวัติศาสตร์แล้ว เราจะเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงนำให้พระภิกษุทำงานเชิงรุก และขณะเดียวกันก็มีเชิงรับด้วย

การทำงานเชิงรุก คือ ผู้ที่มีความพร้อม มีกำลังมากพอที่จะช่วยฉุดดึงผู้คนเข้าสู่เส้นทางแห่งสัมมาทิฐิได้  บุคคลเหล่านี้ก็คือ พระพุทธองค์เองและเหล่าพระอริยะสาวกทั้งหลาย ฉะนั้นในพระไตรปิฎก เรามักจะพบว่า พระอรหันต์รูปเดิมๆหลายรูป เช่นพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอานนท์ พระอนุรุทธะ ... ฯลฯ ท่านจะมีบทบาทในภารกิจเผยแผ่พระพุทธศาสนาตลอดยุคพุทธกาล

และในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มฆราวาส คือ คนในระดับผู้นำสังคมเช่น นักปกครอง นักธุรกิจ ฯลฯ ที่ช่วยกันชี้นำสังคม หรือช่วยกัน Lead ประชาชนมาสู่วิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามได้

 ฉะนั้น ในขณะที่ทำประโยชน์ตน คือการปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุธรรมพ้นทุกข์แล้วภารกิจสำคัญอีกประการคือ การช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ไปด้วย(มากหรือน้อยตามกำลังของเขา)

เพราะนี้คือ หนึ่งในปณิธานของพระโพธิสัตว์ที่ตั้งใจสร้างบารมีมาเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ตามพระองค์ไปด้วย 

ด้วยภารกิจนี้ ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุจึงจาริกไปตามเมือง ตามหมู่บ้าน ชุมชน เข้าหาผู้คนเพื่อไปสร้างศรัทธา ไปแสดงธรรม ไปเป็นเนื้อนาบุญเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมีกำลังใจทำความดี นี้คือ งานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำมา

แต่อีกด้านหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ คนเรามีอัธยาศัยที่ต่างกันแม้บวชเป็นพระแล้ว ก็เช่นกัน

พระหลายรูปท่านก็ชอบความสงบวิเวกไม่ถนัดที่จะทำงานเชิงรุกหรืองานเผยแผ่  ท่านเหล่านี้ก็จะปฏิบัติธรรมอยู่กับวิถีชีวิตที่สงบและไม่ข้องเกี่ยวกับผู้คน แต่ถ้าคนไปหาท่านก็แสดงธรรมแนะนำข้อปฏิบัติที่เหมาะแก่ชีวิตฆราวาสได้ 

อีกส่วนหนึ่ง คือ พระที่กำลังฝึกตัว  เพราะงานเผยแผ่ คือ การนำความดีออกสู่โลก  ชวนผู้คนคิดดี พูดดี ทำดี มันสวนกับกระแสโลกเพราะฉะนั้น พระภิกษุที่จะทำภารกิจนี้ต้องแกร่งมากๆ ในระดับที่เป็นต้นแบบให้กับผู้คนได้ โดยที่ตัวเองไม่ถูกกระแสโลกดึงไป

แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าต้องรอให้เป็นพระอรหันต์ หรือ พร้อมระดับ 100%  เพราะถ้ามัวรอความพร้อม  บางทีอาจสายเกินไปที่จะช่วยเพื่อนมนุษย์  ฉะนั้น ทั้งประโยชน์ตน และ ประโยชน์ท่าน เป็นงานในชีวิตของพระภิกษุที่จะต้องทำไปพร้อมๆกัน  ภารกิจของพระพุทธศาสนาก็เป็นมาแบบนี้

พระพุทธศาสนากับภารกิจส่งต่อคำตอบแก้โจทย์ทุกข์ของชีวิต ในยุคเทคโนโลยี

เพียงแต่ ณ ปัจจุบันนี้

พระที่จะมาเป็นผู้นำ ลดจำนวนน้อยลงไปมาก และส่วนใหญ่เมื่อท่านมุ่งฝึกปฏิบัติธรรมปฏิบัติสมาธิมากๆ และได้ผลในระดับหนึ่ง สิ่งที่ท่านพบอาจเกิดในลักษณะที่ว่า

1.     มันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะมาถึงสภาวธรรมหรือเข้าใจธรรมะในระดับนี้ ที่มีความสงบสุขอย่างนี้ๆ เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นอาจรู้สึกว่าไม่อยากสูญเสียความสงบด้วยธรรมะนี้ไป ก็ไม่อยากจะข้องเกี่ยวกับผู้คน

2.     เมื่อท่านพิจารณาว่า มันเป็นเรื่องยากที่แม้แต่ตัวท่านเองจะมาถึงณ จุดนี้ ที่ต้องผ่านการต่อสู้กับกิเลส การเอาชนะตัวเอง เมื่อมองกลับไปแล้วพบว่ามันยากลำบากมาก

กับการแก้ไขตัวเอง  ฉะนั้น ถ้าจะให้ไปแก้คนอื่นมันเป็นเรื่องยากยกกำลังขึ้นไปอีก
หลายท่านจึงเลือกที่จะอยู่กับความสันโดษมากกว่า

แต่ถ้าถามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านต้องการอะไร  มองจากประวัติศาสตร์แล้วพระองค์ทรงต้องการให้พระภิกษุทำทั้งประโยชน์ตน และ ประโยชน์ผู้อื่นโดยทรงให้ดูกำลังของตนเอง คือ เมื่อบวชแล้วตั้งใจฝึกตนดีแล้ว  เมื่อมีกำลังมากพอก็ก้าวออกมาหาประชาชน เหมือนที่พระองค์ก็ทรงทำหน้าที่ตลอดสมัยของพระองค์   และนั้น คือหัวใจที่จะทำให้บรรยากาศของพระพุทธศาสนากลับไปสว่างไสวมีชีวิตชีวาเหมือนในครั้งพุทธกาล

พระพุทธศาสนากับภารกิจส่งต่อคำตอบแก้โจทย์ทุกข์ของชีวิต ในยุคเทคโนโลยี

พระพุทธศาสนา ต้องปรับตัวอย่างไร ?

ภารกิจของพระพุทธศาสนา คือ การส่งผ่านคาวมดีเข้าสู่สังคมในทุกระดับ  พุทธบริษัท 4 ในพระพุทธศาสนาไม่ว่าในยุคไหนมีหน้าที่ในการนำสิ่งที่ได้มาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่งต่อไปสู่ผู้คนในสังคม  เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาความทุกข์ของมนุษย์โดยตรง   เป็นคำตอบ ที่คนในโลกต้องการ

ดังนั้น ในการทำงานแต่ละยุค จึงขึ้นอยู่กับว่าโลกในยุคนั้นมีอะไรให้ใช้ในการทำงานได้บ้าง ในอดีตมีอะไรก็ใช้ในแบบที่มี ในยุคนี้มีเครื่องมืออะไรบ้าง เราก็ใช้ในแบบที่โลกมีให้ใช้ 

มันเป็นแต่เพียง สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป  แต่ความเป็นพระ ไม่ได้เปลี่ยน   เพราะสิ่งที่ พระ ส่งผ่านไปให้สังคม คือความดีงาม  คือ วิธีการเข้าใจโลก และการใช้ชีวิต  เพื่อให้ชีวิตเป็นทุกข์น้อยที่สุด 

ฉะนั้น ไม่ว่ายุคสมัยนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม  พระ คือ แหล่งของแสงสว่างที่ส่งผ่านสิ่งดีๆสู่สังคม

และด้วยโลกยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย

หากพระพุทธศาสนา นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับภารกิจในการส่งต่อความดีสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้ามาช่วยกัน ก็เชื่อว่าการเผยแผ่การส่งต่อพุทธธรรมจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีพลัง

พระพุทธศาสนากับภารกิจส่งต่อคำตอบแก้โจทย์ทุกข์ของชีวิต ในยุคเทคโนโลยี
แชร์