ความโกรธ ทำให้อุณหภูมิเครียดเพิ่ม แนะประชาชนฝึกการ “ติดเบรก” คุมอารมณ์ !!!

กรมสุขภาพจิตเผยความโกรธทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น มีโอกาสทำสิ่งผิดพลาดได้สูง แนะประชาชนฝึกการติดเบรกควบคุมอารมณ์โกรธ 4 วิธี และใช้ 5 เทคนิคจัดการความโกรธ ด้วยวิธีเบี่ยงเบนความสนใจ http://winne.ws/n23803

904 ผู้เข้าชม
ความโกรธ ทำให้อุณหภูมิเครียดเพิ่ม แนะประชาชนฝึกการ “ติดเบรก” คุมอารมณ์ !!!

          นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้พบว่าสื่อโซเซียลมีการเผยแพร่คลิปการทะเลาะวิวาทกันบ่อยๆ ซึ่งอารมณ์โกรธนี้เป็นเรื่องปกติที่พบได้ในคนทั่วไป  มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ เช่น ถูกตำหนิ  ถูกนินทา ถูกโกง ถูกคนอื่นขับรถปาดหน้า หรือถูกเอาเปรียบ เป็นต้น   หากไม่สามารถควบคุมได้ จะกลายเป็นพลังทำลาย ทำอะไรหุนหันพลันแล่น การตัดสินใจผิดพลาดง่าย นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ทั้งความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ปัญหาที่ทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความโกรธจะนำไปสู่การเพิ่มความเครียด และในทำนองเดียวความเครียดก็มักจะทำให้มีความโกรธเพิ่มมากขึ้น  และอาจมีผลกระทบทางกายโดยขณะที่เราเกิดอารมณ์โกรธ ต่อมแอดรีนัลของร่างกาย จะขับสารคัดหลั่งชื่อแอดรีนาลินออกมาสู่กระแสโลหิต   สารนี้จะกระตุ้นประสาทอัตโนมัติทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หากเกิดในผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงอยู่เดิม อาจเพิ่มความเสี่ยงอันตราย  อาจทำให้เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก  เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ด้วยเช่นกัน

          อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า  ประชาชนทุกคนควรฝึกการติดเบรค เพื่อควบคุมอารมณ์และจัดการกับความโกรธของตัวเองให้ได้  เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่  โดยใช้วิธีฝึกการถามใจตัวเองในเบื้องต้น 4 ข้อดังนี้ 

1. มองและคิดไปให้ไกลถามตัวเองว่าเรื่องที่โกรธอยู่นี้สำคัญต่อตัวเราเองมากน้อยแค่ไหน   

2. ให้ถามตัวเองว่า ถ้าเราตอบโต้อะไรลงไปทันทีตามความโกรธ จะเกิดอะไรขึ้น “ได้แค่สะใจชั่วคราวแต่ต้องเสียใจเสียชื่อไปตลอดชีวิตหรือไม่”

3. ให้ลองถามตัวเองว่า เราได้เคยทำสิ่งเดียวกับที่คนอื่นทำกับเราในวันนี้หรือไม่ และเราเองก็ไม่รู้ตัวว่าทำให้คนอื่นโกรธเช่นกัน และ

4. ลองถามตัวเองว่า เพราะเหตุใดคนอื่น จึงทำเช่นนี้กับเรา ให้ลองคิดแบบมีเหตุมีผลว่าเขาอาจมีความจำเป็นจึงทำเช่นนั้น การถามตัวเอง จะช่วยประวิงเวลา ทบทวนตัวเอง ทำให้ใจเย็นลง ตั้งสติได้ ไม่หุนหันพลันแล่น และมองเห็นปัญหานั้นเล็กลง ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้จากการถามใจตัวเอง คือการให้อภัย  การปล่อยวาง และทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี

          ทางด้าน ดร.สุดา  วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตกล่าวว่า   เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น  ขอแนะนำให้ประชาชนใช้วิธีจัดการกับความโกรธ โดยเบี่ยงเบนความสนใจออกไปจากเหตุการณ์ที่ทำให้โกรธ แบบง่ายๆ 5 วิธี   เลือกทำวิธีการใดวิธีหนึ่งหรือทำหลายวิธีก็ได้  ดังนี้ 

1. พยายามนับ 1 ถึง 10 ในใจ ก่อนจะพูดอะไรออกไปขณะโกรธ  จะช่วยลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำในขณะกำลังโกรธได้   

2. ลองนับ 1 ถึง 10 รูปแบบใหม่ ซี่งจะทำให้ควบคุมความโกรธได้ดีขึ้น โดยนับพร้อมกับสูดลมหายใจเข้า-ออกทางช่องท้อง ลีกๆ ช้าๆ ระหว่างเลขแต่ละจำนวน  วิธีนี่จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เนื่องจากสมองได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น   

3. ให้นับ 1 ถึง 10 พร้อมกับนึกถึงสิ่งของที่ตัวเองชื่นชอบหรือนึกถึงสิ่งทำให้อารมณ์ดี เช่น ไอศกรีม 1 แท่ง  2 แท่ง 3 แท่ง จะทำให้จิตใจผ่อนคลายลงและเกิดความรู้สึกที่ดีแทนที่อารมณ์โกรธ 

4. ใช้วิธีนับเลขถอยหลังจาก 100 จนถึง 80  การใช้สมาธิจดจ่อกับการนับ ทำให้หยุดคิดถึงเรื่องที่กำลังโกรธได้  และ 

5. ให้ลองหลับตานึกถึงเหตุการณ์หรือสิ่งใด ๆ ในอดีตที่ได้พบเจอแล้วมีความสุขใจ สบายใจ คลายเครียด เช่นการท่องเที่ยวในที่ต่าง ๆ  เดินเที่ยวที่วัด จะช่วยทำให้ความโกรธลดลงได้ 

           สิ่งที่ไม่ควรทำขณะที่รู้สึกว่าตนเองโกรธจนควบคุมตัวเองได้ยาก ได้แก่ 1. ไม่ควรโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบายอารมณ์ขณะยังมีความโกรธรุนแรง เพราะจะทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดสติเผลอตัวเขียนระบายอารมณ์ในสิ่งที่ไม่สมควรและต้องมานึกเสียใจภายหลังที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว 2.ห้ามขับรถ เพราะอารมณ์โกรธจะทำให้เราหุนหันพลันแล่น ขาดสติ 3.ไม่ระบายอารมณ์ด้วยการดื่มเหล้า 4.หลีกเลี่ยงการทะเลาะเพราะจะลุกลามใหญ่โตได้ง่ายเนื่องจากการควบคุมตนเองไม่ได้5.ห้ามคิดหมกมุ่นอยู่กับคนหรือเรื่องที่ทำให้โกรธ เนื่องจากจะทำให้ความรู้สึกโกรธเพิ่มมากขึ้นและอาจทำให้เกิดความรุนแรงได้”  ดร.สุดากล่าว  

ขอขอบคุณ : บ้านเมือง

แชร์