การเชื่อข่าวอะไรง่าย ๆ จะกลายเป็นเครื่องมือของคนฉวยโอกาส

โทษของการโกหก เมื่อผสมกับความไม่รู้ของผู้ฟังและการเชื่ออะไรง่ายๆ โดยไม่คิดพิจารณาตื้นลึกหนาบางอย่างชัดเจน ด้วยองค์ประกอบเพียงไม่กี่อย่างเหล่านี้ ก็เพียงพอจะทำให้คนดีกลายเป็นคนเลว http://winne.ws/n24036

1.1 พัน ผู้เข้าชม
การเชื่อข่าวอะไรง่าย ๆ จะกลายเป็นเครื่องมือของคนฉวยโอกาส

นิทานสอนใจ เรื่อง หงส์จำแลง

          นานมาแล้ว ในรัฐฉู่มีชายชาวเขาคนหนึ่งจับไก่ฟ้าเป็นๆ มาได้ ก็เดินทางมุ่งหน้าไปขายในตลาด ระหว่างเดินทางเขาได้พบชายคนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยเห็นไก่ฟ้ามาก่อน ด้วยสีสันที่สวยงามของขนไก่ฟ้า ทำให้ชายผู้นี้สะดุดตาจนถึงกับตกตะลึง เขาจึงถามชายชาวเขาด้วยความอยากได้ว่า

          "หยุดก่อน พี่ชาย นกในมือของท่านนั้น เขาเรียกว่านกอะไร ดูช่างงดงามราวกับนกสวรรค์ในภาพวาดทีเดียว"

          "นายท่านไม่เคยเห็นมาก่อนหรือ นกที่อยู่ในมือของข้านี้ นี่แหละที่เขาเรียกกันว่า 'หงส์' ล่ะ!"

          เมื่อชายผู้นั้นได้ยินคำว่า "หงส์" เท่านั้น เขาก็รีบควักเงินจากกระเป๋า ออกมาอ้อนวอนขอซื้อทันที

          "จริงหรือ! พี่ชาย นกในมือของท่านนี้ คือหงส์ โอ้โฮ! วิเศษจริงๆ ข้าไม่นึกฝันมาก่อนเลยว่าตัวจริงจะงดงามถึงเพียงนี้ ขอพี่ชายได้โปรดขายให้แก่ข้าด้วยเถิดนะ"

          "ไม่ได้หรอกนายท่าน นกวิเศษหายากเช่นนี้ กว่าจะได้มานั้นข้าแสนยากลำบาก ต้องไปอยู่ป่านานหลายวัน ข้าอยาจะมีเอาไว้เป็นสิริมงคลแก่ตระกูลของข้า"

          "โธ่! พี่ชายโปรดขายให้แก่ข้าด้วยเถิด หากพี่ชายเห็นว่าเงินในมือของข้านี้น้อยเกินไป ข้าเพิ่มให้อีกเป็นสามเท่า"

          "ไม่ได้จริงๆ ข้าตัดสินใจขายหงส์ตัวนี้ให้ท่านไม่ได้หรอก ข้าเสียดาย"

          "หากพี่ชายเห็นว่าเงินของข้ายังน้อยเกินไป ข้าเพิ่มให้อีกเป็นหกเท่า"

          "ไม่ได้จริงๆ กว่าข้าจะได้นกวิเศษตัวนี้มา ข้าลำบากมาก ข้าขายให้นายท่านไม่ได้จริงๆ"

          ทั้งสองต่อรองกันอยู่พักใหญ่ ในที่สุดเมื่อชายชาวเขาได้ราคาที่พอใจแล้ว จึงตกลงขายไก่ฟ้าให้กับชายผู้นั้นไป

          เมื่อชายผู้นั้นได้ไก่ฟ้าไปแล้ว เขาก็นำกลับไปเลี้ยงที่บ้าน และตั้งใจว่าจะนำไก่ฟ้า หรือ "หงส์ปลอม" ราคาแพงนี้ไปทูลถวายกษัตริย์ด้วยหวังชื่อเสียงและบำเหน็จรางวัล

          ครั้นเวลาผ่านไปหลังจากนั้นสองวัน ยังไม่ทันที่เขาจะทูลถวาย ไก่ฟ้าก็ตายไป เขาเศร้าเสียใจอย่างมาก ร้องไห้ร้องห่มกินไม่ได้นอนไม่หลับหลายวัน

          ต่อมาเรื่องราวของเขาก็เล่าลือไปทั่วรัฐฉู่ และถูกต่อเติมเสริมแต่งจากปากหนึ่งไปสู่อีกปากหนึ่ง จนกระทั่งทำให้ประชาชนทั้งรัฐฉู่ พากันเข้าใจว่าไก่ฟ้าที่ตายไปนั้นเป็นหงส์ตัวจริง และต่างก็พากันเสียดายกับการจากไปของหงส์ปลอมกันเหลือเกิน ยิ่งกว่านั้น เมื่อเรื่องนี้ได้ยินไปถึงพระกรรณของกษัตริย์ฉู่ พระองค์ก็ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างมาก และทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ชายผู้นั้นเข้าเฝ้า และปูนบำเหน็จรางวัลแก่การแสดงความจงรักภักดีต่อการที่เขาจะนำหงส์มาถวาย

          เรื่องนี้เป็นที่มาของ สำนวนจีน "หงส์จําแลง" มีความหมายชี้ให้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการโกหกของคนเพียงคนเดียว ประกอบเข้าไปกับความจงรักภักดีของใครคนหนึ่ง แล้วส่งผลให้ประชาชนทั้งรัฐฉู่เชื่อคำโกหกของชายชาวเขากันไปทั้งเมือง แต่ชาวรัฐฉู่ยังโชคดีไม่น้อยตรงที่ว่า สิ่งที่พวกเขาเล่าลือนั้นไม่รุนแรงจนก่อผลเสียหายกระทั่งถึงแก่ชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ

          แต่อย่างไรก็ตาม "หงส์จำแลง" นี้ เป็นเรื่องน่าคิด เพราะทำให้มองเห็นโทษของการโกหก เมื่อผสมกับความไม่รู้ของผู้ฟังและการเชื่ออะไรง่ายๆ โดยไม่คิดพิจารณาตื้นลึกหนาบางอย่างชัดเจน ด้วยองค์ประกอบเพียงไม่กี่อย่างเหล่านี้ ก็เพียงพอจะทำให้คนดีกลายเป็นคนเลว ครอบครัวที่อบอุ่นกลายเป็นครอบครัวที่แตกแยก บ้านเมืองที่สงบสุขกลายเป็นบ้านเมืองที่แผ่นดินลุกเป็นไฟ

          เพราะฉะนั้น จึงมีสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝนขึ้นมาจากข้อคิดของเรื่องนี้คือ การพูดจาต้องเชื่อถือได้ พูดคำไหนต้องเป็นคำนั้น การจะตัดสินใจเชื่อถืออะไร ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและมากพอจะเชื่อถือ เพราะถ้าพลาดสองเรื่องนี้ไป ย่อมเป็นผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อตนเองและส่วนรวม

Cr.เสี่ยวเหลียงจือ


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

Buddthism In Japan

แชร์