พิณ-ซุง ดนตรีพื้นเมือง อนุรักษ์สู่คนรุ่นใหม่ !!!

ประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีภาษาท้องถิ่นสื่อสารกัน เรียกว่า ภาษาอีสาน เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงมีบทเพลงที่ไพเราะ หวานซึ้ง กินใจ เร้าใจ เรียกว่า เพลงหมอลำ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่นมาช้านานเป็นจุดเด่น http://winne.ws/n24081

1.3 พัน ผู้เข้าชม
พิณ-ซุง ดนตรีพื้นเมือง อนุรักษ์สู่คนรุ่นใหม่ !!!

บทเพลง หมอลำ จะไพเราะ สนุกสนานได้ จะต้องมีเครื่องดนตรีประกอบ  เช่น แคน กลอง ฉิ่ง ฉาบ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ พิณและซุง เพราะถือว่า เป็นหัวใจหลักในการบรรเลงบทเพลงหมอลำที่สุดแสนจะไพเราะ

พิณ-ซุง ดนตรีพื้นเมือง อนุรักษ์สู่คนรุ่นใหม่ !!!

สำหรับ พิณและซุง เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองประเภทดีด ที่ชาวอีสานรู้จักกันดีมาช้านาน โดยนำมาบรรเลงควบคู่กับแคนประสานเสียงกับบทเพลงหมอลำได้อย่างลงตัว ด้วยท้วงทำนอง ที่เร่าร้อน คึกคัก ตามแบบฉบับชาวอีสาน ใครได้ฟังจะต้องขยับแข้งขยับขาตามแบบไม่รู้ตัว เพราะมันในอารมณ์

เนื่องจากเกรงว่า เครื่องดนตรีพื้นเมืองประเภทดีด คือ พิณและซุง จะสูญหาย จึงได้มีการอนุรักษ์ ถ่ายทอดวิชาความรู้ในเรื่องการผลิตและการเล่นอย่างถูกวิธีสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน ทำให้เด็กและเยาวชนสนใจตอบรับเป็นอย่างดี 

นายอัมพร ขันแก้ว อายุ 69 ปี อยู่บ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 13 บ้านสร้างถ่อใน ต.สร้างถ่อน้อย อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ครูเพลงหมอลำ ซึ่งค่ำหวอดอยู่กับคณะหมอลำ แต่งเพลงให้นักร้องหมอลำมาหลายปี มีความต้องการที่จะอนุรักษ์ เครื่องดนตรีพื้นเมือง ประเภทดีด คือ พิณและซุง ไม่ให้สูญหาย จึงมีการเปิดสอนให้เด็กนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่ เข้ามาศึกษา ฝึกหัด การดีดพิณและซุง สามารถเล่นเป็นเพลงได้และจบไปแล้วหลายรุ่น ทำให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน มีงานทำ มีอาชีพติดตัว เป็นศิลปินกับคณะหมอลำ ที่สำคัญทำให้เยาวชนในหมู่บ้านห่างไกลยาเสพติดอีกด้วย

พิณ-ซุง ดนตรีพื้นเมือง อนุรักษ์สู่คนรุ่นใหม่ !!!

นายอัมพร ขันแก้ว บรมครูเพลงหมอลำ เล่าว่า บิดา เป็นศิลปินพื้นบ้าน (หมอลำ) สามารถเล่นได้ทั้งพิณและซุง รวมถึง ผลิตให้คณะหมอลำเป็นประจำ บางครั้งก็ถูกว่าจ้างให้ไปเดี่ยวพิณ เดี่ยวซุง ในงานพิธีมงคลต่างๆ ทั้งภาคอีสาน ซึ่งตนก็ได้ติดตามบิดาทุกหนทุกแห่ง ระหว่างที่ได้ติดตามบิดาไปเล่น ก็ได้มีการศึกษาเรียนรู้ควบคู่กันไป จึงมีความเชี่ยวชาญการเล่นและผลิตพิณและซุงเป็นอย่างดี กระทั่งบิดาเสียชีวิต ก็ได้มีการสืบทอดเจตนารมณ์ของบิดา เป็นเวลากว่า 60 ปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะดนตรีแบบโบราณนี้ไว้ ที่ผ่านมาก็เปิดสอนเด็กนักเรียน เยาวชนในหมู่บ้านจบไปหลายรุ่นแล้ว โดยสอนวิธีการเล่นพิณและซุงอย่างถูกต้อง ทำให้เด็กที่จบออกไปนำเอาความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพกับคณะหมอลำ หรือไม่ก็ไปรับจ้างเล่นตามงานพิธีมงคลหรืองานวัดต่างๆ เรียกว่า มีงานเล่นตลอดเวลา    

นายอัมพร บอกถึงวิธีผลิตพิณและซุงพอเข้าใจว่า ไม้ที่ใช้ทำพิณและซุงมี 3 ชนิด คือ ไม้ขนุน ประดู่ และไม้พยุง โดยใช้ไม้ยาว 1 เมตร หน้ากว้าง 10 เซนติเมตร แปรรูปเป็นตัวพิณและซุง และใช้คอนแทคและตัวคีย์ มี 11 ตัว จากนั้นใส่สาย 2 เส้น 3 เส้น 4 เส้นตามความต้องการ แล้วทำการปรับโทนเสียงให้เข้ากับโน้ตสากล เมื่อปรับเทียบเสียงถูกต้องแล้ว ก็ทำการตกแต่งลวดลายต่างๆ เช่น ลายกนก ลายมังกรและบายพญานาค บนเนื้อไม้พิณและซุงต่อมา ลงแลคเกอร์เพื่อความสวยงาม

พิณ-ซุง ดนตรีพื้นเมือง อนุรักษ์สู่คนรุ่นใหม่ !!!

สำหรับข้อแตกต่างระหว่างพิณและซุง คือ พิณจะใช้สายกีตาร์ มีเสียงแหลม เพราะไม่ได้เจาะเป็นโพรง แต่จะเจาะเป็นรูเท่านั้น ซึ่งจะดีดคู่กับเสียงร้องเพลงหมอลำผู้หญิง เล่นกับหมอลำซิ่งในปัจจุบัน ส่วนซุง ใช้สายลวดเบรกรถจักรยาน ซึ่งเป็นเกลียวที่แข็งแรงกว่าสายกีตาร์ เมื่อดีดแล้วจะให้เสียงทุ้มกังวาน เพราะเจาะเป็นโพรง ส่วนใหญ่จะเล่นกับคณะหมอลำย้อนยุค และที่สำคัญการดีดพิณจะต้องดีดทีละสาย ส่วนการดีดซุงจะดีดทุกสาย นั่นคือข้อแตกต่างของเครื่องดนตรีทั้ง 2 ชิ้น ส่วนราคาขายพิณและซุง เริ่มตั้งแต่ 500 – 5,000 บาท ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าจะต้องการแบบไหน ซึ่งปัจจุบันนี้ ก็ยังคงผลิตพิณและซุงป้อนคณะหมอลำ บางครั้งก็แต่งบทเพลงหมอลำแถมให้ด้วย เพื่อเป็นการเผยแพร่ศิลปะพื้นเมืองของชาวอีสานให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ขอขอบคุณ : บ้านเมือง

แชร์