มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" !?!

15 มิถุนายน วันไข้เลือดออกอาเซียน สคร.7 จ.ขอนแก่น รณรงค์ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” http://winne.ws/n24120

2.9 พัน ผู้เข้าชม
มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" !?!

นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก ถือเป็นปัญหาสาธารณสุข ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น เหมาะสำหรับการแพร่พันธุ์ของลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ดังนั้น ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บูรไน เวียดนาม ลาว เมียนมา และกัมพูชา จึงมีมติร่วมกันกำหนดให้ทุกวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” - ASEAN Dengue Day 

มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" !?!

โดยจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในประเทศตระหนักในการป้องกันโรคไข้เลือดออก และร่วมกันแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยมีการระบาดอยู่ตลอดทั้งปี แต่จะระบาดมากที่สุดช่วงฤดูฝน เนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำขังนิ่งอยู่ตามภาชนะต่างๆ เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ ยางรถยนต์เก่า กระถางต้นไม้ แก้วน้ำ น้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง แจกัน เศษขยะ เป็นต้น กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของลูกน้ำยุงลาย ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว และเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อยุงลายเพิ่มมากขึ้น การระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วย 14,973 ราย เสียชีวิต 19 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าโรคไข้เลือดออกในปี 2561 ยังคงน่าเป็นห่วง คาดว่าจากนี้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ ส่วนสถานการณ์โรคในพื้นที่รับผิดชอบของ สคร.7 ทั้ง 4 จังหวัด (มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และขอนแก่น) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก รวม 445 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาโรคไข้เลือดออกนี้ภาครัฐไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนทุกท่าน ต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ด้วยการใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่

1. เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก

2.เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และ

3.เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เช่น โอ่ง ไห ขวด ถัง เป็นต้น ไม่ให้ยุงลายวางไข่ 

โดยต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน เพื่อป้องกัน 3 โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” นี้ เป็นมาตรการรับมือยุงลายที่ง่ายและมีประสิทธิภาพสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ย่อมดีกว่าการรักษาเมื่อต้องล้มป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก

นอกจากนี้ ประชาชนต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออก หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ใบหน้าหรือผิวหนังแดง อาเจียน ปวดท้อง ให้รีบพบแพทย์โดยเร็วเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา ก่อนที่อาการจะรุนแรงมากขึ้น และอาจเกิดอาการช็อกทำให้เสียชีวิตได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ขอขอบคุณ : mthai

แชร์