คน กับ พระ ควรอยู่ร่วมกันอย่างไร พระพุทธเจ้ามีคำตอบ

พิจารณากับสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ว่า ฆราวาส ได้ปฏิบัติต่อพระภิกษุ ด้วย ความคิดคำพูด และการกระทำ ที่เป็นความเมตตากรุณา หรือไม่ ? http://winne.ws/n24196

1.3 พัน ผู้เข้าชม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระภิกษุในสังคมไทยปัจจุบัน จากกรณีเงินงบประมาณสนับสนุนวัด นำไปสู่ประเด็นร้อนที่กำลังถกเถียงกันว่าพระควรจับเงินหรือไม่  สิ่งหนึ่งที่นับว่าเป็นปัญหาใหญ่สะท้อนให้เห็นความตกต่ำจากคุณสมบัติของความเป็นสังคมเมืองพุทธอย่างชัดเจนจากเหตุการณ์ดังกล่าวคือ ภาพการปฏิบัติตัวของฆราวาสบางกลุ่มที่ไม่ให้ความเคารพต่อพระภิกษุและต่อภาพลักษณ์ของพระพุทธศาสนาโดยรวม

ภาพสะท้อนดังกล่าวเห็นได้จาก  การกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของสำนักงานทางราชการที่มีหน้าที่ดูแลงานพระพุทธศาสนาระดับชาติได้แจ้งข้อกล่าวหา ที่นำไปสู่การจับกุมคุมขังและบังคับลาสิกขาของพระผู้ใหญ่ในระดับบริหารการคณะสงฆ์  ซึ่งเรื่องดังกล่าวโดยหน้าที่ที่เป็นเสมือนเลขานุการของวงบริหารพระผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่สามารถที่จะสอบถามที่ไปที่มาของกรณีปัญหานั้นๆด้วยสันติวิธีได้  แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองกลับเลือกใช้อำนาจและกำลังของเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเรื่องดังกล่าวด้วยท่าทีที่ไร้ความเคารพต่อพระผู้ใหญ่  ซึ่งมีคุณูปการมากต่อพระพุทธศาสนา ทั้งที่อยู่ในสถานะเพียงการ “ถูกกล่าวหา”เท่านั้น


จากการกระทำที่ไม่ปราณีปราศรัยของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง  สู่การขยายวงกว้างไปในสังคม ด้วยการระดมรายงานข่าวที่มีทั้งข้อมูลจริงบ้างความคิดเห็นบ้าง หรือคิดคาดเดาไปเองบ้าง กลายเป็นวาทะกรรม เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์แง่ลบในสังคมต่อพระภิกษุโดยปราศจากความระมัดระวังในถ้อยคำ แสดงให้เห็นถึงสภาพจิตใจที่หยาบกระด้างไร้มนุษยธรรมของผู้คนในสังคมเมืองพุทธอย่างน่าสลดใจ

การกระทำของกลุ่มคน3  ส่วนของสังคม  

-จากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติต่อพระภิกษุโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบเสียหายต่อส่วนรวม  

-จากสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวโดยไม่คำนึงภาพลักษณ์ของพระภิกษุและพระพุทธศาสนาที่มีผลต่อจิตใจของคนหมู่มากอย่างไร

-จากผู้คนในสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์โดยปราศจากการไตร่ตรองข่าวสารให้รอบคอบ

 

ในฐานะที่เมืองไทยเป็นเมืองพระพุทธศาสนาแล้ว  ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ควรที่จะเกิดขึ้นเลย   หากผู้คนเหล่านั้นมีความเป็น“ชาวพุทธ” อยู่ในหัวใจ 

คน กับ พระ ควรอยู่ร่วมกันอย่างไร พระพุทธเจ้ามีคำตอบ

การปฏิบัติต่อกันระหว่างฆราวาส และ พระภิกษุสงฆ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสสอนไว้ใน สิงคาลกสูตร (พระสุตตันตปิฎก, หมวดทีฆนิกาย)  คือ ธรรมะที่ว่าด้วยการปฏิบัติต่อกันในความสัมพันธ์ของคนฐานะต่างๆในสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และส่งผลให้คนในสถานภาพต่างๆซึ่งเป็นองค์ประกอบของโครงสร้างสังคมที่สำคัญ  สามารถพัฒนาสังคมในด้านต่างๆไปสู่ความเจริญประสบความสุขความสำเร็จ ตั้งแต่ในระดับส่วนตัว กระทั้งถึงส่วนรวมได้   

สิงคาลกสูตรหรือ  ทิศ 6  คือ ข้อควรปฏิบัติต่อกันของคนในสังคม ดังนี้

1.การปฏิบัติต่อบิดา มารดา (ทิศเบื้องหน้า)  2. การปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ (ทิศเบื้องขวา)

3. การปฏิบัติต่อภรรยาหรือสามี (ทิศเบื้องหลัง ) 4. การปฏิบัติต่อมิตรสหาย ( ทิศเบื้องหลัง )

5.การปฏิบัติต่อคนรับใช้ ลูกน้อง (ทิศเบื้องล่าง )  และ 6. การปฏิบัติต่อสมณชีพราหมณ์(ทิศเบื้องบน )

สิงคาลกสูตร  ให้คำตอบได้ชัดเจนว่าการปฏิบัติตัวระหว่าง พระภิกษุสงฆ์และ ฆราวาสผู้คนทั้งหลาย ควรเป็นอย่างไร  ขออธิบายโดยย่อดังนี้

พระภิกษุ พึ่งปฏิบัติหรืออนุเคราะห์ฆราวาส  6 ประการ  คือ

1. ห้ามเสียจากบาป  คือสอนให้ผู้คนรู้ว่า อะไรคือ ความชั่ว การกระทำที่เรียกว่าชั่ว เป็นอย่างไร และต้องงดเว้นอย่างเด็ดขาด 

2.  ให้ตั้งอยู่ในความดี  คือ สอนให้ให้ผู้คน คิดดี พูดดี ทำดี  ให้รู้ว่าอย่างไรเรียกความดี  มีกี่ประการ  มีหลักการวิธีการทำความดี ทำบุญอย่างไร ทั้งในบุญเขต และที่เป็นการสงเคราะห์โลก เป็นต้น

3. อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม คือ  พระภิกษุย่อม คิด พูด กระทำ เพื่ออบรมสั่งสอนถ่ายทอดธรรมะให้กับผู้คนด้วยใจที่มีเมตตากรุณามีความปรารถนาดี หวังจะให้ผู้คนมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าทั้งในทางโลกและทางธรรม

4.  ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง  คือ การที่พระภิกษุนำธรรมะที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติมาแล้ว  มาถ่ายทอด อธิบายให้ผู้คนเข้าใจและสามารถนำไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้ ทั้งนี้เพราะธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความละเอียดลึกซึ้ง ต้องอาศัยผู้มีปัญญามีความเพียรตั้งใจศึกษาให้เข้าใจอย่างแท้จริงจึงจะสามารถนำธรรมะนั้นมาบอกสอนแก่ผู้คนได้อย่างถูกต้อง

อนึ่ง ฆราวาสที่ครองเรือน ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพไม่มีเวลาที่จะศึกษาธรรมะอย่างจริงจังและเต็มเวลา ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธเหมือนพระภิกษุ  ดังนั้น พระภิกษุจึงสามารถช่วยเหลือนำความรู้นำหลักการที่ดีต่อการดำรงชีวิตจากธรรมะของพระพุทธเจ้ามาถ่ายทอดแบ่งปันให้ซึ่งผู้คนประชาชนก็ไม่ขาดประโยชน์ในส่วนนี้

5.  ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด  คือ การพร่ำสอน ย้ำเตือน ทบทวน อธิบายจนกระทั้งผู้คนเข้าใจอย่างถูกต้อง และนำธรรมะข้อนั้นๆไปใช้ให้เกิดคุณประโยชน์ต่อตัวเองและส่วนรวมได้ เพราะการฟังธรรมะ เพียงแค่ครั้งเดียว ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าใจในทันที  ต้องฟัง ต้องทบทวนต้องอาศัยการศึกษาการถามตอบอธิบายหลายๆ ครั้ง จึงจะสามารถเข้าใจอย่างถ่องแท้ (เช่นเดียวกับการศึกษาวิชาการทางโลก ที่ต้องอ่านหนังสือหลายรอบ และหลายเล่มกว่าจะเข้าใจในเรื่องหนึ่งๆ )

6.  บอกทางสวรรค์ให้  คือ ทั้งหมดที่กล่าวมาพระภิกษุย่อมพร่ำสอนให้ผู้คนละชั่ว ทำแต่ความดี และทำใจให้บริสุทธิ์ ให้ผู้คนตั้งมั่นในสิ่งที่เป็นกุศล เป็นความดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เมื่อมีชีวิตอยู่ก็มีความสุข  เมื่อละจากโลกนี้ ก็มีสุขคติเป็นที่ไป

เมื่อพระภิกษุ ปฏิบัติต่อประชาชนทั้งหลายดังที่กล่าวมาแล้ว  ประชาชนหรือฆราวาสควรปฏิบัติตอบแทนต่อพระภิกษุ  5 ประการ ดังนี้ คือ

1.  ด้วยเมตตากายกรรม  คือ ปฏิบัติสิ่งใด กระทำสิ่งใดต่อพระภิกษุด้วยใจที่มีเมตตา  ด้วยกิริยามารยาทที่สำรวมเรียบร้อย มีความเคารพจริงใจ  เป็นต้น

2.  ด้วยเมตตาวจีกรรม  คือ การพูด การจา กับพระภิกษุให้พูดจาด้วยใจที่มีเมตตา ด้วยถ้อยคำที่สุภาพ เป็นปิยวาจา เรียบร้อยเหมาะสม

3.  ด้วยเมตตามโนกรรม คือจะคิดสิ่งใดต่อพระภิกษุ ก็คิดด้วยใจที่มีเมตตา กรุณา

4.  ด้วยการไม่ปิดประตู (คือยินดีต้อนรับ) คือ มีความยินดีที่จะต้อนรับปฏิสันถารพระภิกษุ  ให้ความช่วยเหลือในกิจธุระที่ฆราวาสช่วยได้หรือมีโอกาสได้รับใช้ช่วยเหลือพระพุทธศาสนา เป็นการกตัญญูต่อความเป็นเนื้อนาบุญของพระภิกษุเป็นต้น

5.  ด้วยการคอยถวายอามิสทาน  คือ ถวายปัจจัย 4  หรือสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หรือต่อการทำภารกิจเผยแผ่ธรรมะของพระภิกษุ เช่น ถวายอาหาร ยารักษาโรค  ไตรจีวร ช่วยสร้างวัด สร้างศาสนาสถาน สถูปเจดีย์ ศาลาการเปรียญเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำนุบำรุงสืบทอดพระพุทธศาสนา  เป็นต้น

 จากหลักการ และวิธีการใน สิงคาลกสูตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ 

หันมาพิจารณากับสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ว่า  ฆราวาส ได้ปฏิบัติต่อพระภิกษุ ด้วย ความคิดคำพูด และการกระทำ ที่เป็นความเมตตากรุณา หรือไม่ ?

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นคำตอบได้ชัดเจนว่า  เป็นไปในทางตรงกันข้าม ผู้คนบางส่วนในสังคมปฏิบัติต่อพระภิกษุด้วยความรุนแรงทั้งคำพูดการกระทำ  ที่สะท้อนให้เห็นสภาพจิตใจที่ไร้ความเมตตาไร้ความมีมนุษยธรรม ต่อพระภิกษุสงฆ์

เมื่อการปฏิบัติของคนในเมืองพระพุทธศาสนา  ย้อนแย้งกับคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้    เมื่อสภาพจิตใจตกต่ำสวนทางกับสัจจะธรรมอันดีงาม  จะหวังความก้าวหน้าของสังคมในด้านอื่นนั้นย่อมเป็นเรื่องยาก

อนึ่ง, พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงตรัสไว้ด้วยว่า  ความกตัญญู คือ เครื่องหมายของคนดี

ต่อพฤติการณ์ของผู้คนในบ้านเมืองนี้กำลังตอบแทนพระพุทธศาสนาด้วยการกระทำอันไร้ความเมตตาต่อพุทธบุตรของพระพุทธองค์ ผู้เป็นศาสดาแห่งศาสนาที่ให้คุณูปการต่อบ้านเมืองมานับ1000 ปี อย่างที่เป็นอยู่นี้  ...ควรเรียกคนอย่างนี้ว่าอะไร ? 


โฆษิกา : เรียบเรียง 

ขอบคุณภาพประกอบจาก Tnews.co.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เงินทอนวัด : https://bit.ly/2teeLVi

แชร์