“เข้าพรรษา” สมดุลวิถีชีวิตกับธรรมชาติ

แก่นสาระสำคัญของธรรมเนียมประเพณีนี้ หากผู้คนในสังคมนำมาถือปฏิบัติก็ย่อมให้ประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวมได้อย่างแน่นอน ดั่งสัจจธรรมที่ว่า ธรรมะ เป็นอกาลิโก http://winne.ws/n24470

986 ผู้เข้าชม

เข้าพรรษา  น่ายินดีอย่างไร ? 

สมัยก่อน ช่วงเข้าพรรษาถือว่าเป็นช่วงเวลาดีๆ ช่วงหนึ่งในฤดูกาลต่างๆของชีวิตที่ทุกคนจะรู้ว่ามีเรื่องน่ายินดีอะไรบ้าง ซึ่งจะได้เล่าทบทวนในลำดับต่อไป

สังคมปัจจุบันที่วิถีชีวิตเปลี่ยนไปในทุกด้าน ทำให้ความทรงจำของช่วงเวลาดีๆ ดังกล่าว ค่อยๆเลือนลางไปจากวิถีชีวิตของผู้คน แต่ก็ยังไม่ถึงกับหายไป  และยังไม่สายที่จะนำวิถีชีวิตดีๆในอดีตกลับมาผสมผสานกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากฤดูกาลของชีวิต

เข้าพรรษา,  เป็นพุทธบัญญัติที่ปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ที่พระภิกษุสงฆ์จะอธิษฐานอยู่ประจำที่วัด ตลอด  3 เดือนในฤดูฝน ( เว้นแต่มีกิจจำเป็นตามที่มีบัญญัติไว้ในพระธรรมวินัยพระภิกษุสามารถเดินทางไปที่อื่นได้ แต่จะต้องกลับมาถึงวัดที่จำพรรษา ภายใน 7 วัน )

เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างไร ?   เป็นความลงตัวระหว่างวิถีชีวิตผู้คน กับธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้านต่อทุกฝ่าย  เพราะฤดูฝนการจะจาริกไปตามที่ต่างๆ เช่น เผยแผ่พระสัทธรรม หรือบำเพ็ยเพียรตามป่า ตามเขาย่อมไม่สะดวก ฉะนั้น,การที่พระภิกษุได้อยู่ประจำในวัด จึงนำมาซึ่งสิ่งดีๆ เหล่านี้คือ

1.     เมื่อได้พักอยู่ในวัดเป็นเวลานานทำให้พระภิกษุมีเวลาในการศึกษาไตรสิกขา พระธรรมวินัย และคำสอนต่างๆ ของพระพุทธองค์อย่างเต็มที่

2.     ประชาชนในชุมชนก็ได้โอกาสเข้ามาฟังธรรม เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ จากพระภิกษุสงฆ์มากขึ้น

3.     เป็นโอกาสดีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับกุลบุตร ที่จะออกบวชเพื่อศึกษาธรรมะจากพระอุปัชฌาย์  ประเพณีไทยบ้านมีลูกชายอายุครบ 20  ก็นิยมให้บวชช่วงเข้าพรรษาเพราะจะได้รับการอบรมหล่อหลอมนิสัยคุณธรรมต่างๆจากพระอุปัชฌาย์ อย่างเต็มที่

4.     เมื่อพระภิกษุและลูกหลานที่บวช ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างอยู่ประจำวัดญาติโยมประชาชนก็มีโอกาสทำบุญทำทานกับทั้งพระภิกษุและพระลูกพระหลานได้อย่างเต็มที่ 

5.     และเป็นช่วงเวลาอันดีที่พ่อแม่พี่น้องประชาชนเองจะได้ถือโอกาสนี้บำเพ็ญกุศลฝึกฝนตนเองเช่นกัน นั้นคือ การตั้งใจทำความดีเพื่อเป็นการสั่งสมบุญให้กับตัวเองอย่างจริงจังเพราะชีวิตฆราวาสที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพบางครั้งก็อาจต้องทำในสิ่งที่ผิดพลาดฉะนั้น เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษาประชาชนก็จะถือเป็นโอกาสดีที่จะตั้งใจทำกุศลให้กับตัวเอง เช่น ตั้งใจรักษาศีล  เลิกอบายมุข เลิกเหล้า เลิกทำสิ่งไม่ดีต่างๆ... ซึ่งหลายคนสามารถฝึกจนได้นิสัยดีๆ และมีกำลังใจเข้มแข็งกลายเป็นสามารถรักษาศีลได้ตลอด หรือเลิกเหล้า เลิกอบายมุข ได้อย่างเด็ดขาดก็มีมากมาย 

“เข้าพรรษา”  สมดุลวิถีชีวิตกับธรรมชาติ

จากข้อดีดังกล่าวเราจะเห็นความเอื้อเฟื้ออบอุ่นของสังคมชาวพุทธที่สะท้อนออกมาในวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติได้อย่างลงตัว 

วิถีชีวิตแห่งความดี  ยังสะท้อนให้เห็นได้ในประเพณีการทำบุญช่วงเข้าพรรษาคือ ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน และ ถวายเทียนพรรษา  ซึ่งถือปฏิบัติบำเพ็ญกันมายาวนาน

ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝนมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดย อุบาสิกาวิสาขา ได้ขอพุทธานุญาตจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับสรงน้ำให้กับพระภิกษุ

ประเพณีถวายเทียน   การบูชาพระพุทธเจ้าด้วยประทีปเทียนไฟ  ถือเป็นประเพณีของชาวพุทธในทุกยุคทุกสมัย  เพราะชาวพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยเป็นปกติ 

ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า มีเรื่องเล่าว่า กุลธิดานางหนึ่งเมื่อฟังธรรมจาก วัดพระเชตะวันมหาวิหารแล้ว เวลาพลบค่ำนางก็ได้ให้คนที่บ้านนำประทีปไปจุดที่วัดเพื่อให้แสงสว่างแก่พระภิกษุและประชาชนที่มาฟังธรรมในเวลาค่ำ  เมื่อนางละจากโลกนี้ไปได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาที่มีรัศมีกายสว่างไสวสวยงามมาก  

ในชาดกซึ่งเป็นประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายเราจะพบว่าต่างได้ทำการสักการบูชาพระรัตนตรัยด้วยประทีปเทียนไฟทั้งนั้นและส่งผลให้ท่านเหล่านั้นมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามลำดับตั้งแต่ต้นกระทั้งถึงที่สูงสุด

ในด้านวิถีการดำรงชีวิต สังคมสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ฉะนั้น  ประทีปเทียนไฟจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ในการดำรงชีวิต

ประเพณีการถวายประทีปเทียนไฟ จึงเป็นบุญสำคัญที่ชาวพุทธยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา

โดยการถวายผ้าอาบน้ำฝน และ ถวายประทีปเทียนไฟนั้นมีอานิสงส์แก่ผู้ที่ถวายด้วยจิตที่เลื่อมใสศรัทธาดังนี้ 

1.     มีผิวพรรณวรรณะงดงาม สะอาด ผ่องใส

2.     มีดวงปัญญา เฉลียวฉลาด   มีกายทิพย์(เทวดา)ที่มีรัศมีสว่างไสว

3.     ได้รูปกายสวยงามถ้าเกิดเป็นหญิงก็สวย เป็นชายก็หล่อ  มีปัญญาเข้าใจความจริงของโลกและชีวิตและเป็นผู้มีทรัพย์มาก(ร่ำรวย)

4.      เป็นผู้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต มีพร้อมด้วยลาภยศ สรรเสริญ สุข

5.     เมื่อละโลกแล้ว ย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์

6.     ย่อมได้มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ 

วิถีชีวิตชาวพุทธ เป็นวิถีแห่งการสั่งสมความดี การพัฒนาตัวเอง  การอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล  ซึ่งแม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป  สิ่งแวดล้อมการดำรงชีวิตของมนุษย์จะเปลี่ยนไป  แต่แก่นสาระสำคัญของธรรมเนียมประเพณีนี้  หากผู้คนในสังคมนำมาถือปฏิบัติก็ย่อมให้ประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวมได้อย่างแน่นอน  ดั่งสัจจธรรมที่ว่า  ธรรมะ เป็นอกาลิโก คือไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอย่างไร ผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติตามธรรมด้วยความตั้งใจจริง  ก็ย่อมได้รับอานิสงส์อันดีงาม อย่างแน่นอน

สำหรับท่านที่สนใจบำเพ็ญบุญ และร่วมกิจกรรมประเพณีช่วงเข้าพรรษาของจังหวัดต่างๆทั่วประเทศไทยซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายทั้ง แห่เทียนพรรษา  ตักบาตรดอกไม้ ตักบาตรบนหลังช้าง พิธีสักการะพระเจดีย์สำคัญในจังหวัดที่มีองค์พระเจดีย์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองและอื่นๆอีกมากมาย สามารถติดตามข้อมูลได้จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
www.thai.tourismthailand.org หรือ https://travel.kapook.com/view196068.html


เรียบเรียงโดย โฆษิกา 

แชร์