“สมาธิ”เบื้องหลังทางรอดวิกฤตติดถ้ำของทั้ง 13 ชีวิต

“สมาธิ” เบื้องหลังของการอยู่รอดของทั้ง 13 ชีวิต ในถ้ำหลวงงานวิจัยของ ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน (Herbert Benson M.D.) ศาสตราจารย์ทางอายุรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า คนที่จิตเป็นสมาธิการเผาผลาญอาหารในร่างกายจะลดลง http://winne.ws/n24504

4.0 พัน ผู้เข้าชม
“สมาธิ”เบื้องหลังทางรอดวิกฤตติดถ้ำของทั้ง 13 ชีวิต

จากกรณีที่นักฟุตบอลเยาวชนพร้อมโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี ติดอยู่ในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกไม่เพียงแต่จะสร้างปรากฏการณ์แห่งความร่วมแรงร่วมใจให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเท่านั้น หากแต่ยังได้สร้างความสมานฉันท์ไปยังสังคมนอกประเทศออกไปเป็นวงกว้าง ดังจะเห็นได้จากการที่มีทีมกู้ภัย และผู้ชำนาญการในด้านต่างๆจากหลายๆประเทศเดินทางมาร่วมทีมค้นหา  รวมทั้งการที่คนทั่วโลกที่ติดตามข่าว พากันลุ้นให้พบทั้งสิบสามชีวิตโดยเร็วและสามารถช่วยพวกเขาออกมาได้อย่างปลอดภัยทุกคน

“สมาธิ”เบื้องหลังทางรอดวิกฤตติดถ้ำของทั้ง 13 ชีวิต

ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ทีมฟุตบอลเยาวชน จ.เชียงราย (source : https://web.facebook.com/eakatol)

ข้อมูลในโลกโซเชียลแสดงให้เห็นถึงความคิดของผู้คนต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ มีกลุ่มที่มองว่าผู้ติดถ้ำเป็นฮีโร่ กับอีกพวกที่มองว่าเป็นเรื่องน่าตำหนิในความซุกซน อย่างไรก็ดี ความเห็นของทั้งสองกลุ่มไม่มีถูกหรือผิด เพราะมุมมองของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน การพยายามตัดสินถูกผิดโดยมองจากต่างมุม ไม่เกิดประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น แต่กลับจะยิ่งสร้างความแตกร้าวในสังคมให้มากขึ้นไปอีก จึงควรต้องเปลี่ยนวิธีคิดและหันมามองในแง่ที่ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ให้ข้อคิดและบทเรียนอย่างไร น่าจะเป็นวิธีการที่มีประโยชน์ที่สุดในเวลานี้

“สมาธิ”เบื้องหลังทางรอดวิกฤตติดถ้ำของทั้ง 13 ชีวิต

ทหารปฏิบัติหน้าที่ส่งต่อสายไฟฟ้าเข้าถ้ำหลวงเพื่อหาทีมฟุตบอลและโค้ช (source : http://www.latimes.com)

การที่เด็กๆติดอยู่ในถ้ำนานถึงเก้าวัน และรอดชีวิตมาได้ทุกคนในสภาพที่แพทย์ระบุว่า ไม่มีใครได้รับอันตรายร้ายแรง ทำให้ทราบว่า พวกเขามีความเป็นทีมที่ดี เพราะในขณะที่ต้องเดินลึกเข้าไปในถ้ำเรื่อยๆเพื่อหนีน้ำที่หนุนเนื่องขึ้นมาทุกทีนั้น  พวกเขาต้องแข่งกับเวลา ต้องช่วยดูแลซึ่งกันและกัน เพราะทางเดินในถ้ำมีแสงไม่มากนัก พื้นดินก็ไม่สม่ำเสมอ มีหินแหลมคมอยู่มากมาย มีบางช่วงต้องปีนป่ายขึ้นที่สูง แม้ทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงสมกับเป็นนักกีฬา แต่การช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันอย่างมีวินัยภายใต้คำสั่งของโค้ช ทำให้พวกเขาปลอดภัยทุกคนจนถึงวันที่นักกู้ภัยชาวอังกฤษเข้าไปพบ

“สมาธิ”เบื้องหลังทางรอดวิกฤตติดถ้ำของทั้ง 13 ชีวิต

สมาชิกหนึ่งในทีมหมู่ป่าอะคาเดมีแม่สาย ยิ้มด้วยใบหน้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข หลังจากที่ได้รับการพบภายในถ้ำหลวง (source : www.facebook.com/ThaiSEAL)

อาจกล่าวได้ว่า กีฬา นอกจากจะทำให้ผู้เล่นมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังสร้างวินัยซึ่งแม้จะมองไม่เห็น แต่รับรู้ได้จากสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติ  การเชื่อฟังคำสั่งโค้ช คือวินัยข้อหนึ่งซึ่งน่าชื่นชม ดังมีเรื่องเล่ากันว่า โค้ชเอก ผู้มีอายุเพียง 25 ปี ได้ดูแลเด็กๆด้วยความเสียสละ และเอาใจใส่  เขาได้สละขนมและน้ำดื่มให้เด็กๆรับประทานเพื่อประทังความหิว เมื่อเสบียงหมด เด็กๆกระหายน้ำ จึงพยายามจะดื่มน้ำมากมายที่ท่วมอยู่บนพื้นถ้ำ โค้ชเอกบอกลูกทีมของเขาว่า ให้อดทนค่อยๆดื่มน้ำที่หยดลงจากผนังถ้ำแทน เพราะน้ำที่ท่วมอยู่บนพื้น เป็นน้ำสกปรก ดื่มเข้าไปแล้วทำให้ป่วยได้ นอกจากนี้ เขายังบอกให้เด็กๆ เคลื่อนไหวให้น้อยที่สุดเพื่อประหยัดพลังงานในร่างกายโดยการนอน ในขณะที่ทุกคนนอนนิ่งๆอยู่บนเนินสูงภายในถ้ำมืดๆโดยไม่รู้วันรู้คืนนั้น โค้ชได้สอนให้นักฟุตบอลทั้งสิบสองคนทำสมาธิเพื่อต่อสู้กับความหิว และสร้างพละกำลังให้กับใจ ซึ่งเทคนิคเหล่านี้เขาได้เรียนรู้จากการที่ได้เคยบวชอยู่ถึงแปดพรรษา สันนิษฐานว่าเพราะสมาธินี่เอง ทำให้พวกเขาสามารถต่อสู้กับความหิวได้ตลอดระยะเวลาเก้าวันจนถึงวันที่นักดำน้ำชาวอังกฤษเข้าไปพบ

“สมาธิ”เบื้องหลังทางรอดวิกฤตติดถ้ำของทั้ง 13 ชีวิต

ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน (Herbert Benson M.D.) ศาสตราจารย์ทางอายุรศาสตร์แห่งโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด   (source : www.thewholehealthlife.com)

สมาธิกับความสามารถในการอดอาหารและการต่อสู้กับความหิวไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งในวงการวิทยาศาสตร์และแวดวงของผู้ฝึกสมาธิ  มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับการที่พระธุดงค์ผู้ฝึกสมาธิอยู่ตามถ้ำหรือในป่า รวมถึงเรื่องของโยคีในอินเดีย ที่ไม่ต้องรับประทานอาหารเป็นเวลานานในขณะที่ทำสมาธิแต่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ว่ากันว่า จิตที่เป็นสมาธิจะควบคุมกลไกต่างๆในร่างกาย  ร่างกายของผู้ที่อยู่ในสมาธิจะใช้พลังงานน้อยมาก ซึ่งเรื่องนี้ได้มีหลักฐานยืนยันจากงานวิจัยของ ดร.เฮอร์เบิร์ต เบนสัน ศาสตราจารย์ทางอายุรศาสตร์แห่งโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาด ผู้ซึ่งได้เคยไปศึกษาพุทธศาสนาในอินเดีย และทิเบต จากการได้ศึกษาด้วยตนเอง เขาได้พบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการที่จิตเริ่มนิ่ง จึงได้ตั้งสมมติฐานว่า สมาธิมีผลในเชิงบวกต่อร่างกาย เมื่อกลับไปอเมริกา จึงเริ่มทำการวิจัยเรื่องผลของสมาธิที่มีต่อร่างกายอย่างเป็นเวลากว่าสามสิบปี  ผลจากการวิจัยพบว่า เมื่ออาสาสมัครผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยได้ทำสมาธิ อัตราการเต้นของหัวใจจะช้าลง ความดันโลหิตลดลง คลื่นสมองช้าลงและมีความเป็นระเบียบขึ้น ความตึงตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายผ่อนคลายลง และการเผาผลาญอาหารในร่างกายก็ลดลงด้วย นี่คือเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ตอบว่า เพราะเหตุใดผู้ทำสมาธิจึงมีความต้องการอาหารน้อยหรือไม่ต้องการอาหารเลย การค้นพบในครั้งนั้นนำไปสู่การค้นคว้าเรื่องสมาธิกับร่างกายมนุษย์ในทางการแพทย์อีกมากมาย แพทย์แผนปัจจุบันยอมรับว่า จิตใจและร่างกายมีความสัมพันธ์กันจริง และสมาธิมีผลต่อการรักษาโรค  คือช่วยรักษาโรคได้ เพราะสมาธิทำให้จิตใจและร่างกายผ่อนคลายจนระบบต่างๆในร่างกายจะทำงานช้าลง เมื่อร่างกายผ่อนคลายไม่เครียด อัตราการป่วยก็จะต่ำ หรือในกรณีที่ป่วยแล้ว และโรคนั้นเกิดจากความเครียดของร่างกายและจิตใจ สมาธิที่ทำให้เกิดความผ่อนคลาย จะมีผลเทียบเท่ากับยาที่ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น หรือบางรายช่วยให้หายป่วยได้(Benson,1975)  การปฏิบัติสมาธิทำให้ร่างกายหลั่งสารที่ชื่อว่า เบต้า เอนดอร์ฟิน (Beta Endorphins) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายฝิ่นออกมา สารตัวนี้จะช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และยังช่วยปรับสภาพร่างกายให้ไม่เหมาะสมกับการเจริญของเซลมะเร็ง ช่วยลดความเจ็บปวด ลดความเครียด และช่วยยืดอายุ นอกจากนี้การปฏิบัติสมาธิ มีผลทำให้ผู้ปฏิบัติรู้สึกสดชื่น อิ่มเอิบ สบาย และมีความสุขเพราะคลื่นสมอง(Brainwaves) จะถูกปรับให้เข้าสู่สภาวะสมดุลย์และผ่อนคลาย (2012)

“สมาธิ”เบื้องหลังทางรอดวิกฤตติดถ้ำของทั้ง 13 ชีวิต

ภาพจาก Facebook ของ โค้ชเอก เอกพล จันทะวงษ์ ในกิจกรรมที่เคยพาทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย เข้าไปนั่งสมาธิในถ้ำ (source : https://web.facebook.com/eakatol)

รายงานทางการแพทย์ดังกล่าวช่วยไขข้อข้องใจที่ว่า เด็กๆรอดชีวิตจากการอดอาหารในถ้ำมืดๆเป็นเวลาถึงเก้าวันมาได้อย่างไร  นอกจากนี้ยังทำให้ตระหนักว่า แม้ร่างกายจะอ่อนแรงแต่การทำสมาธิช่วยให้พวกเขามีจิตใจที่เข้มแข็ง และมีสติที่จะเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีเกินวัย โชคดีเหลือเกินที่โค้ชเอกของเด็กๆ รู้วิธีที่จะเอาตัวรอดได้ในเวลาวิกฤติของชีวิตเช่นนั้น การต้องดูแลเด็กๆถึงสิบสองคนในเวลาคับขันแข่งกับความเป็นความตาย และต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นโดยที่ไม่รู้อนาคตถึงเก้าวัน เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ถ้าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ และไม่มีคุณธรรมพื้นฐานคือความเมตตาที่มีต่อเด็กๆแล้ว เราคงจะไม่ได้เห็นความพร้อมเพรียงเป็นทีมที่น่าชื่นใจของทีมหมูป่าอะคาเดมีอย่างที่ได้เห็นอยู่ในวันนี้  ต้องขอบคุณพวกเขาทุกคน รวมทั้งทีมช่วยเหลือ ตลอดจนผู้ที่ให้กำลังใจทั่วโลกที่ทำให้ได้รู้ว่า เหตุการณ์นี้ไม่ได้มีแต่เรื่องเลวร้ายไปทั้งหมด หากแต่ยังมีเรื่องราวดีๆให้นำมาขบคิดเตือนใจได้มากทีเดียว ที่สำคัญ สมาธิ ดีขนาดนี้ เราคงต้องต้องชวนกันฝึกสมาธิทุกวัน เพื่อสร้างสติ เพิ่มพลังทั้งกายและใจ เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับชีวิตในวันพรุ่งนี้และวันต่อไป เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า เหตุคับขันที่จำเป็นต้องอาศัยสติและกำลังใจเพื่อความอยู่รอดจะเกิดขึ้นกับเราตอนไหน


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

https://www.diri.ac.nz/news/meditation-survival-in-caves/

แชร์