ปิยวาจา : วาจาอันเป็นที่รัก !!!

การกล่าววาจาอันเป็นที่รัก ก็ย่อมเป็นที่รัก “วันนี้ คุณกล่าววาจาอันเป็นที่รักแล้วหรือยัง?” http://winne.ws/n24542

5.3 พัน ผู้เข้าชม

ความหมายของคำว่า “ปิยวาจา”

ปิยะ แปลว่า ที่รัก อันเป็นที่รัก

วาจา แปลว่า คำ ถ้อยคำ คำกล่าว คำพูด การพูด

ปิยวาจา คือ คำพูดอันเป็นที่รัก หมายถึง การกล่าวคำสุภาพ สมานสามัคคี เป็นคำพูดที่ทำให้เกิดเป็นมิตรไมตรีและความรักใคร่นับถือกัน รวมถึงการปันกำลังใจให้ยามเหนื่อยล้า ครอบคลุมไปถึงการพูดด้วยความเมตตา ไม่ทำร้ายทำลายผู้อื่น หมายรวมถึงคำพูดที่เป็นประโยชน์ คือประกอบด้วยเหตุผล มีหลักฐานให้ผู้อื่นนิยมยอมรับและทำตามได้

ปิยวาจา : วาจาอันเป็นที่รัก !!!

การพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญมากในชีวิตประจำวัน เพราะตรงประเด็นที่สุด รับรู้ได้เร็วที่สุด ถ่ายทอดข้อมูลได้มากที่สุด ที่สำคัญคือจะพูดให้ผู้อื่นรู้สึกดีหรือแย่ก็เพราะคำพูดนี่แหละ ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างคำพูดเพื่อประกอบการพิจารณาและตรองตาม

ตัวอย่างคำพูด 1

เมื่อวานเราไปวัดทำบุญตักบาตร มีนั่งสมาธิด้วย แต่เจอเหตุการณ์ คุณยายหันหลังมองกลุ่มอาสาสมัครจัดทำความสะอาดและดูแลความเรียบร้อย เราก็สงสัยเหมือนกันว่ามองทำไม? เนื่องจากเพิ่งไปถึง เขานั่งสมาธิกันไปแล้ว เราก็รีบเข้าไปนั่ง ไม่ไกลจากคุณยายท่านนี้ นั่งไปสักพักก็รู้สึกว่าเราก็ต้องเหลียวหลังมองกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มนี้ เพราะส่งเสียงคุยกันดังทีเดียว คิดในใจว่าจะอาสามาดูความสงบเรียบร้อยหรือมาทำอะไรกันนี่ และแล้วคุณยายท่านเดิมก็หันเหลียวหลังมาอีกรอบด้วยสายตาที่ดุ(พูดไม่ได้นั่งสมาธิกันอยู่) เราก็ดันได้ยินคำว่า “งี่เง่า” จากกลุ่มน้องกลุ่มอาสาสมัคร ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคุณยายได้ยินหรือป่าวเราก็ได้แต่ปลงและก็ยังอยากถามว่ามาเป็นอาสาสมัครหรือมาทำอะไรกันนี่”

ข้อความข้างต้น โดยส่วนตัวคิดว่า คำว่า “ปิยวาจา”  คือพูดสุภาพแล้วยังทำให้ได้ฉุกคิดว่า เราจำเป็นต้องฉลาดพิจารณาให้ดีก่อนพูด เพราะพูดอะไรออกไปก็เข้าตัวผู้พูดเองทั้งนั้น 

ตัวอย่างคำพูด 2

เมื่อวานเราได้โอกาสไปเดินเวียนประทักษิณเนื่องในวันอาสาฬหบูชา พระเยอะ คนเยอะมาก เดินต่อแถวกันยาวมากมีทั้งเด็กที่พ่อแม่อุ้มมาด้วย เด็กเล็ก ๆ ที่เพิ่งเดินได้ เด็กวัยรุ่นก็มี หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ก็มี วัยทำงาน ผู้สูงวัย มีหมด มีกระทั่งนั่งรถเข็นก็มา เห็นผู้สูงวัยเดินพยุงผู้สูงวัยกว่าเดินไปด้วยกันก็มี น่ารักดี บรรยากาศดีมาก ทุกคนมุ่งหน้าเดินพร้อมสวดมนต์บทธรรมจักรตามเทรนด์วันอาสาฬหบูชา เป็นบรรยากาศที่ไร้กังวลจริง ๆ หันมองไปทางไหนก็เป็นภาพดี ๆ ทุกคนตั้งใจเดินเวียนประทักษิณเพื่อแสดงความเคารพบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มือถือดอกไม้บ้าง ถือเทียนบ้าง โคมไฟบ้าง ไม่ได้ถืออะไรก็เยอะแต่ใช้วิธียกมือไหว้ไปตลอดทางบ้าง เป็นความตั้งใจดี รับรู้ได้ว่ามีแต่คนดี ๆ อยู่รอบกาย”

ข้อความข้างต้น โดยส่วนตัวคิดว่าใครได้ยินได้ฟังก็มีความสุขไปด้วย

จะสังเกตได้ว่า ตัวอย่างคำพูดทั้ง 2 ข้างต้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คำพูด 1 แม้เป็นการพูดแบบสุภาพ แต่ก็รับรู้ได้ว่าเป็นการต่อว่า คนฟังฟังแล้วก็หดหู่ อาจจะไม่อยากรับรู้ ฟังแล้วก็ไม่สบายใจ แม้เป็นเรื่องจริง (ส่วนการจะพัฒนากลุ่มคนอาสาสมัครก็เป็นเรื่องของหน่วยงานนั้นๆ หรือองค์กรนั้น ๆ ในที่นี้ไม่ขอกล่าวถึง) ที่ต้องการกล่าวคือ โดยส่วนตัวคิดว่า คำพูด 2 นั้น ใคร ๆ ก็อยากฟัง เพราะมีแต่เรื่องดี ๆ ได้ยินได้ฟังแล้วสบายใจ มีความสุข แบ่งปันกำลังใจ ทำให้อยากไปมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ เป็นต้น

การพูดแบบปิยวาจาต้องฝึก ฝึกจนชำนาญ จนชินปาก เพื่อน ๆ ของเราหลายคน เขาฝึกกันระดับคำอุทานกันเลย คือตกใจปั๊บ อุทาน แต่สิ่งดี ๆ คำพูดดี ๆ ฝึกจนติดปาก เช่น พระช่วย พุทโธ หลายคนอุทานยาว ๆ เช่น พ่อแม่ช่วยด้วย สัมมาอะระหัง ก็มี น่ารักดี 

มีอาจารย์ท่านหนึ่งสอนว่า การพูดปิยวาจา คือ ไม่มีคำวิจารณ์ ไม่มีคำตำหนิ ไม่มีข้อร้องเรียน ไม่มีการโจมตี ไม่มีการสอน ให้เคารพซึ่งกันและกัน

ต่อจากนี้ไป เรามาหยุดคิดก่อนพูด และพูดแต่ปิยวาจา คือพูดสุภาพ พูดแต่สิ่งดี ๆ มีประโยชน์  พูดให้คนอื่นสบายใจ รักเรา น่าจะดีกว่ามั๊ยคะ

ขอขอบคุณ : na_diary (Cr. ครูบาอาจารย์)

ขอขอบคุณรูปภาพ : thairath

แชร์