พ่อค้าออนไลน์กำลังป่วนโลกการเงินแบบเก่า

พ่อค้าการเงินออนไลน์ที่เป็นฟินเทค กำลังสร้างความลำบากให้กับธนาคารและสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในประเทศต่างๆทั่วโลก มีข่าวธนาคารป่วนเพราะต้นทุนสูงและต้องปลดคนทำงานให้ได้ยินอยู่อย่างต่อเนื่อง http://winne.ws/n24636

3.6 พัน ผู้เข้าชม

ฟินเทคที่เป็นสตาร์ทอัพทางด้านการเงิน กำลังเดินเครื่องแบบติดเทอร์โบขยายตัวให้สินเชื่อส่วนบุคคลในอเมริกา เพราะเป็นช่องว่างทางการตลาดที่ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆละเลยไม่ค่อยสนใจมานาน เพราะมีความเสี่ยงสูง และต้นทุนดำเนินการสูง

สินเชื่อส่วนบุคคลในอเมริกาเติบโตอย่างต่อเนื่องจนในปัจจุบันเมื่อนับตัวเลขถึงเดือนมีนาคม 2018 มียอดสินเชื่อสูงถึง 120,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 4 ล้านล้านบาท โดยเมื่อสิบปีก่อนมียอดเพียง 71,900 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้อยู่ในกลุ่มที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีทางด้านการเงินซึ่งเอามาใช้สำหรับฟินเทคใหม่ๆ ทำให้พ่อค้าการเงินรายเล็กเหล่านี้มีศักยภาพในการแข่งขันสู้กับธนาคารและสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ได้

ฟินเทคในอเมริกาในปี 2010 มีสัดส่วนของยอดสินเชื่อส่วนบุคคลเพียง 1% วันนี้ขยายตัวเป็น 1 ใน 3 ของตลาด ถือเป็นส่วนแบ่งตลาดสูงสุด บริษัทสตาร์ทอัพทางด้านการเงินหรือฟินเทคที่เป็นผู้ให้เงินกู้ เช่น Lending Club, Prosper, Avant

ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ฟินเทคมีโอกาสเติบโต เพราะธนาคารและสถาบันการเงินใหญ่ต่างๆหลีกเลี่ยงที่จะให้เงินกู้ส่วนบุคคลตั้งแต่ช่วงเกิดเศรษฐกิจถดถอยในอเมริกา เพราะเป็นเงินกู้ที่มีความไม่แน่นอนสูง และอาจเป็นผลทำให้ผู้ให้กู้ขาดทุนจำนวนมาก

ด้วยเหตุที่ธนาคารและสถาบันการเงินใหญ่ๆเริ่มถอยห่างออกจากตลาดนี้ จึงเป็นโอกาสให้เหล่าฟินเทคเติบโตอย่างแข็งแกร่งในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล ผู้ขอกู้ก็ชอบแพลตฟอร์มแบบดิจิตอลด้วย ทำได้รวดเร็วและเป็นเครดิตที่ให้กันง่ายๆ เงินกู้ส่วนบุคคลไม่ต้องมีเอกสารที่มาพร้อมกับหลักทรัพย์ค้ำประกัน เงินกู้สามารถโอนไปให้ผู้กู้ได้อย่างรวดเร็ว

พ่อค้าออนไลน์กำลังป่วนโลกการเงินแบบเก่า

ในหลายๆกรณี เงินกู้ส่วนบุคคลถูกผู้กู้เอาไปใช้เพื่อรีไฟแนนซ์สำหรับหนี้อย่างอื่น เช่น บัตรเครดิต เงินที่กู้ที่เอามาซ่อมแซมบ้าน 

พอถูกแย่งธุรกิจไปมากๆ ธนาคารและสถาบันการเงินใหญ่ๆก็เริ่มพยายามตอบโต้แย่งลูกค้ากลับคืนมาจากฟินเทคบ้าง แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีพอ

สัดส่วนเงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลอเมริกาในปัจจุบัน คือ Fintech 31,000 ล้านดอลลาร์, Bank 22,500 ล้านดอลลาร์, Credit Unions 18,700 ล้านดอลลาร์

สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง Goldman Sachs ก็โดดเข้ามาในตลาดธนาคารออนไลน์ด้วย เริ่มทำธุรกิจในปี 2016 มีลูกค้ามากกว่า 1.5 ล้านราย ตั้งแต่เริ่มธุรกิจ ปล่อยกู้ไปแล้วมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์

ในอเมริกา สัดส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลมีอยู่เพียง 6% ในขณะที่มีสินเชื่อรถยนต์ 26% และสินเชื่อบัตรเครดิต 60% ถ้าสภาพเศรษฐกิจยังดีอยู่ สินเชื่อเหล่านี้ก็คงไม่มีปัญหามาก แต่ถ้าเกิดเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหม่ก็จะทำให้เกิดยอดหนี้สูญเพิ่มขึ้น

พ่อค้าการเงินออนไลน์ที่เป็นฟินเทค กำลังสร้างความลำบากให้กับธนาคารและสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในประเทศต่างๆทั่วโลก มีข่าวธนาคารป่วนเพราะต้นทุนสูงและต้องปลดคนทำงานให้ได้ยินอยู่อย่างต่อเนื่อง

ที่จริงในวันนี้เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ธนาคารออนไลน์เต็มรูปแบบกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก สามารถให้บริการทางด้านการเงินทุกอย่างได้เหมือนธนาคารหรือสถาบันการเงินในปัจจุบัน มีข้อแตกต่างอยู่ที่ ฟินเทคที่เป็นธนาคารออนไลน์ให้บริการลูกค้าด้วยความสะดวกรวดเร็วไม่ยุ่งยาก และข้อสำคัญที่สุด คือ คิดดอกเบี้ยหรือค่าบริการถูกกว่าธนาคารระบบเก่า

ธนาคารและสถาบันการเงินที่ตั้งมานาน มีสาขามากมาย คนทำงานเยอะแยะ มีตึกใหญ่โตที่มีค่าใช้จ่ายและการบำรุงรักษาสูง สิ่งเหล่านี้เคยเป็นหน้าตาของธนาคารให้ดูยิ่งใหญ่น่าเชื่อถือ วันนี้กลับกลายเป็นความอุ้ยอ้ายและเป็นภาระรายจ่ายที่ต้องแบกรับมากมาย กลายเป็นข้อเสียเปรียบที่เป็นต้นทุนเดิมที่ต้องแบกรับในวันนี้และอนาคต

หากธนาคารหรือสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม ยังมัวนิ่งเฉยไม่ทำอะไร หรือเดินหน้าปรับปรุงไปอย่างช้าๆ เราคงได้เห็นการล่มสลายของธนาคารและสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่หลายแห่งในหลายประเทศ 

คงคล้ายๆกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับสื่อทีวีและหนังสือพิมพ์ที่เราได้เห็นการล่มสลายในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้จนดูเป็นเรื่องคุ้นเคย

คอยดูกันต่อไปว่า มันจะเกิดการล่มสลายกับยักษ์ใหญ่ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆในอนาคตจริงหรือไม่!!!


โดย Suttichai Taksanun

https://qz.com/…/personal-loans-are-surging-in-the-us-fuel…/

แชร์