พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

หลวงปู่วัดปากน้ำ เป็นตัวอย่างของพระภิกษุผู้สมบูรณ์พร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร เป็นพระนักปฏิบัติ และเป็นพระนักพัฒนา http://winne.ws/n24954

1.4 พัน ผู้เข้าชม
พระมงคลเทพมุนี (สด  จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

     1. ประวัติก่อนบวช

         ชาติกำเนิดและชีวิตวัยเยาว์

         พระมงคลเทพมุนี ท่านมีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันศุกร์ ที่ 10ตุลาคม พ.ศ. 2427  ตรงกับวันแรม 6ค่ำ เดือน 11 ปีวอก ณ หมู่บ้านเหนือฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง  ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้องจ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของ นายเงิน มีแก้วน้อย และนางสุดใจ มีแก้วน้อยท่านเรียนหนังสือกับพระน้าชายที่วัดสองพี่น้องต่อจากนั้นได้มาศึกษาต่อที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐมได้ศึกษาหนังสือขอมจนสามารถอ่านหนังสือพระมาลัย ซึ่งเป็นภาษาขอมทั้งเล่มจนคล่องหลังจากนั้นจึงได้ช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าข้าว

        ในวัยเด็กท่านเป็นเด็กฉลาด ใจคอเด็ดเดี่ยวมั่นคงเมื่อตั้งใจทำสิ่งใดเป็นต้องพยายามทำจนสำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จเป็นไม่ยอมเด็ดขาดเช่น ท่านเคยช่วยทางบ้านเลี้ยงวัว เมื่อวัวพลัดเข้าไปในฝูงวัวบ้านอื่นท่านจะต้องไปตามวัวกลับมาให้ได้ ไม่ว่าวัวจะไปอยู่ที่ไหนดึกดื่นอย่างไรก็ตามเมื่อไม่ได้วัวมาก็ไม่ยอมกลับนอกจากนั้นท่านยังประกอบไปด้วยเมตตาจิตในสัตว์ เช่น ถ้าใช้วัวไถนาก็จะคอยสังเกตดูดวงตะวันว่าใกล้เพลหรือยัง เพราะท่านถือคติโบราณว่า “เพลคาบ่าวัว”ถือว่าบาปมากท่านจะเลิกตรงเวลาจนโยมพี่สาวนึกว่าท่านขี้เกียจ เมื่อถูกดุท่านก็ไม่ยอมทำตามเพราะเห็นว่าวัวเหนื่อยมากแล้วก็จะนำไปอาบน้ำจนเย็นสบายและปล่อยให้ไปกินหญ้าอย่างเป็นอิสระ

 เหตุที่ปฏิญาณตนบวชจนตาย

         เมื่ออายุ 14 ปี บิดาได้เสียชีวิตลง เนื่องจากตรากตรำในการค้าข้าว  ท่านจึงต้องมารับช่วงคุมงานแทนจนกระทั่งอายุย่างเข้า 19 ปี ระหว่างทำการค้าข้าวอยู่นั้นวันหนึ่งท่านนำเรือเปล่ากลับบ้าน พร้อมกับเงินที่ได้จากการค้าหลายพันบาทจำเป็นต้องผ่านมาทางคลองเล็กซึ่งเป็นคลองลัดชาวบ้านเรียกว่า “คลองบางอีแท่น”คลองนี้ไม่ยาวมากนักแต่เปลี่ยวและมีโจรผู้ร้ายชุกชุม  ท่านซึ่งยืนถือท้ายเรืออยู่และเป็นจุดสำคัญที่โจรจะทำร้ายได้ก่อนก็สับเปลี่ยนให้ลูกจ้างมาถือแทน ส่วนท่านหยิบปืนยาวไปถ่อเรือแทนลูกจ้างทางหัวเรือพอเรือแล่นเข้าที่เปลี่ยวเข้าไปเรื่อย ๆ  พลันก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า “คนพวกนี้ เราจ้างเขามาเพียง 11 - 12 บาทเท่านั้น ส่วนตัวเราเป็นทั้งเจ้าของทรัพย์และเจ้าของเรือ  เมื่อมีภัยใกล้ตายกลับโยนไปให้ลูกจ้าง”

        เมื่อคิดตำหนิตัวเองเช่นนี้ก็ไม่อยากเอาเปรียบลูกจ้างท่านจึงตัดสินใจกลับมาถือท้ายเรือตามเดิมยอมเสี่ยงรับอันตรายแต่ผู้เดียวเมื่อเรือพ้นคลองมาได้ ท่านก็มาพิจารณาเห็นว่า “การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบากบิดาของเราก็หามาอย่างนี้ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้นถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตาเข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายขายหน้าไม่เทียมหน้าเขาบุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกันจนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้ก็คงทำอยู่อย่างนี้เหมือนกันก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว ตัวเราก็จักตายเหมือนกันเราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า”ท่านจึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลยขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต” นี่เป็นคำอธิษฐานเหมือนกับท่านได้บวชมาแล้วตั้งแต่อายุ 19 ปี  เมื่อได้ตั้งใจแน่วแน่เด็ดเดี่ยวแล้วก็ขะมักเขม้นประกอบอาชีพหนักยิ่งขึ้นเพื่อสะสมทรัพย์ไว้ให้มารดาได้เลี้ยงชีพ เมื่อปราศจากท่านแล้วมารดาจะได้ไม่ลำบากนับว่าท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทียิ่งนัก

        2.อุปสมบท 

          ท่านได้อุปสมบทเมื่อ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2449ขณะมีอายุย่างเข้า 22 ปี ณพัทธสีมาวัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีมีฉายาว่า จนฺทสโร  

         พระอาจารย์ดี  วัดประตูสารอ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง  อินฺทโชโต)วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้องจ.สุพรรณบุรีเป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้องอ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อยู่ 1 พรรษาหลังจากปวารณาพรรษาแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ขณะเรียนท่านมีความลำบากเรื่องบิณฑบาตเป็นอันมากบางวันบิณฑบาตได้ไม่พอฉัน บางวันได้เพียงส้มผลเดียว บางวันไม่ได้เลยท่านก็ไม่ฉันของพระรูปอื่น ซึ่งได้อาหารเพียงเล็กน้อย ท่านคิดว่า“อย่างน้อยที่สุดถ้าจะต้องตายเพราะไม่ได้ฉันอาหารก็จะเป็นเหตุให้พระทั้งเมืองมีฉันเพราะว่าใคร ๆ จะเล่าลือกันไปทั่วจนทำให้ชาวบ้านสงสารพระภิกษุ”

         สร้างมหาทาน

        มีอยู่วันหนึ่งท่านออกไปบิณฑบาตอยู่จนสายได้ข้าวเพียงหนึ่งทัพพีและกล้วยน้ำว้าหนึ่งผล กลับมาถึงกุฏิด้วยความเหนื่อยอ่อนเพราะไม่ได้ฉันมา ๒ วันแล้วเมื่อเริ่มลงมือฉันได้คำหนึ่ง ท่านก็เหลือบไปเห็นสุนัขตัวหนึ่งผอมโซเพราะอดอาหารมาหลายวันแม้กำลังหิวจัดก็ยังมีเมตตาสงสารสุนัขตัวนั้นจึงได้ปั้นข้าวที่เหลืออีกคำหนึ่งและแบ่งกล้วยน้ำว้าครึ่งผลให้แก่สุนัขผอมโซตัวนั้นสุนัขกินแต่ข้าวไม่กินกล้วย ท่านก็คิดว่า “ไม่รู้ว่าเจ้าไม่กิน”คิดจะเอากล้วยกลับมาแต่เห็นว่าไม่สมควรเพราะได้สละขาดไปแล้วจะเอากลับมาฉันใหม่ในที่นั้นก็ไม่มีใครจะประเคนให้ด้วย  เหตุการณ์นี้ทำให้ท่านตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขึ้นชื่อว่าความอดอยากอย่างนี้ขออย่าให้มีอีกเลย” หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่ท่านไปบิณฑบาตปรากฏว่าได้อาหารมามากมาย ท่านจึงได้แบ่งถวายพระภิกษุรูปอื่นด้วย

        การศึกษาปริยัติธรรม

        ท่านเริ่มเรียนบาลีโดยท่องสูตรก่อนเมื่อท่องจบสูตรเบื้องต้นแล้วเริ่มเรียน มูลกัจจายน์(คัมภีร์ไวยากรณ์บาลี) ขึ้นไป จากนั้นเรียนนามสมาส ตัทธิตอาขยาต กิตก์ แล้วเริ่มเรียนคัมภีร์ ตั้งแต่ธรรมบท มงคลทีปนี และสารสังคหะตามความนิยมในสมัยนั้นจนชำนาญเข้าใจและสามารถสอนผู้อื่นได้ขณะกำลังเรียนอยู่นั้นท่านต้องพบกับความลำบากมากต้องเดินทางไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่าง ๆเมื่อฉันแล้วข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวราราม กลับมาฉันเพลที่วัดพระเชตุพนฯเพลแล้วไปเรียนต่อที่วัดมหาธาตุ ตอนเย็นไปเรียนที่วัดสุทัศน์ฯบ้าง วัดสามปลื้มบ้างกลางคืนเรียนที่  วัดพระเชตุพนฯ แต่ไม่ได้ไปติดๆกันทุกวันมีเว้นบ้างสลับกันไป

        สมัยที่ท่านศึกษาอยู่นั้นใช้หนังสือขอมที่จารลงในใบลานนักเรียนก็เรียนไม่เหมือนกัน บางองค์เรียนธรรมบทบั้นต้น บางองค์เรียนบั้นปลายยิ่งเรียนมากหนังสือที่เอาไปเรียนก็เพิ่มมากขึ้นพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำท่านพยายามไม่ขาดเรียนแบกหนังสือข้ามฟากลงท่าประตูนกยูงวัดพระเชตุพนฯ ไปขึ้นท่าวัดอรุณฯเข้าศึกษาในสำนักวัดอรุณฯ ท่านเล่าให้ฟังว่าลำบากอยู่หลายปีความเพียรของท่านทำให้คุณยายนวมชาวประตูนกยูง เกิดความเลื่อมใส ปวารณาทำปิ่นโตถวายทุกวันนับแต่นั้นมาความลำบากในเรื่องภัตตาหารของท่านก็หมดไป

        ท่านเดินทางไปศึกษาในสำนักต่าง ๆ มาหลายปี ครั้นต่อมาข้าหลวงในวังกรมหมื่นมหินทโรดมเลื่อมใสในท่านเวลาเพลช่วยจัดภัตตาหารมาถวายทุกวันทำให้พระเดชพระคุณหลวงปู่สามารถตั้งโรงเรียนขึ้นเองที่ วัดพระเชตุพนฯโดยเริ่มเรียนธรรมบทก่อน ต่อมาการศึกษาบาลีเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยมโดยทางคณะสงฆ์จัดหลักสูตรการศึกษา ให้เริ่มเรียนไวยากรณ์ก่อนเป็นลำดับไป

แชร์