พลังแห่งเรื่องเล่าจาก " Edmonton "

... เอ็ดมันตัน (Edmonton) เมืองหลวงของรัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา เคยเผชิญวิกฤต “ภาพลักษณ์เมือง” แต่ฝ่าฟันมาได้อย่างสวยงามด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคนท้องถิ่น... http://winne.ws/n25513

1.5 พัน ผู้เข้าชม

     เอ็ดมันตัน (Edmonton) เมืองหลวงของรัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา เคยเผชิญวิกฤต “ภาพลักษณ์เมือง” แต่ฝ่าฟันมาได้อย่างสวยงามด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคนท้องถิ่น

วิกฤตที่ว่าคือ ในขณะที่ชาวเมืองเอ็ดมันตันรู้สึกดีกับเมืองของตนเองมาก แต่ภาพที่คนภายนอกมองคือ เอ็ดมันตันเป็นเมือง “น่าเบื่อ หนาวเย็น และอยู่ไกล” ยืนยันด้วยผลสำรวจจาก Longwoods International จนบิลล์ ซีเกล (Bill Siegel) ซีอีโอของบริษัท ถึงกับออกปากว่า 

“ไม่เคยเห็นความแตกต่างมหาศาลขนาดนี้ เมื่อเทียบความเห็นของคนท้องถิ่นกับคนภายนอก”

พลังแห่งเรื่องเล่าจาก " Edmonton "

     นี่เป็นราคาที่เอ็ดมันตันต้องจ่าย บริษัทท้องถิ่นของเอ็ดมันตันลำบากมากในการ “ดึงดูด” คนหนุ่มสาววัย 18-35 ปีเข้ามาทำงาน ไม่มีใครอยากย้ายมาอยู่ที่นี่ แต่ยินดีย้ายไปซิลิคอนแวลลีย์ ชิคาโก หรือนิวยอร์ก ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีของเอ็ดมันตันจึงไปต่อไม่ได้ ถ้าปราศจากแรงงานมีฝีมือเหล่านี้ อีกทั้งหนุ่มสาวท้องถิ่น แม้จะ “รักบ้านเกิด” แต่ก็ทยอยย้ายออกไปหางานทำในเมืองอื่นกันหมด

     เทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในแคนาดาอย่างแวนคูเวอร์ (Vancouver) โทรอนโต (Toronto) มอนทรีอัล (Montreal) และคัลการี (Calgary) เอ็ดมันตันเสียเปรียบในแง่ที่ว่า ไม่มีทิวเขาสวยงาม ไม่ติดทะเล ไม่มีสายการบินใดบินตรงมาที่นี่ ต้องต่อเครื่องก่อนทั้งนั้น อีกทั้งความได้เปรียบในแง่ค่าใช้จ่ายการทำธุรกิจและความสะดวกของขั้นตอนขอจดทะเบียนธุรกิจ ก็อยู่เพียงแค่ระดับค่าเฉลี่ยของแคนาดา

     ในปี 2012 ภาคราชการและเอกชนของเอ็ดมันตันจึงร่วมมือกัน “ปรับ” ภาพลักษณ์ของเมือง ด้วยโครงการ “Make Something Edmonton” เป็นเครื่องมือบอกต่อความน่าอยู่ของเอ็ดมันตัน โครงการนี้เปิดให้ชาวเมืองทุกคน “เล่าเรื่อง” ของตัวเองผ่านเว็บไซต์ ว่าตนเองทำอะไร สร้างอะไร เพื่อชูภาพลักษณ์ของเอ็ดมันตันที่ว่า ที่นี่อะไรก็เป็นไปได้ คุณสร้างอะไรบางอย่างจากศูนย์ได้ที่เอ็ดมันตัน โดยเชื่อว่า กลุ่มคนที่เคยเป็น “ผู้อ่าน” คือชาวเมืองทุกคน “รู้” อะไรบางอย่างเกี่ยวกับเมืองแม่ของตนเอง และอยากนำเสนอข้อดีให้โลกรู้

พลังแห่งเรื่องเล่าจาก " Edmonton "©flickr/Winter fun in Edmonton

     ในเว็บไซต์ makesomethingedmonton.ca มีเรื่องราวและวิดีโอมากมายที่เขียนและถ่ายทำโดยชาวเมือง เนื้อหาเกี่ยวกับการ “สร้าง” อะไรบางอย่างในเอ็ดมันตัน ไม่มีใครจำกัดขอบเขตว่าต้องสร้างผลิตภัณฑ์เท่านั้น อาจเป็นการทำงานจิตอาสา ช่วยเพื่อนบ้านทำอะไรสักอย่าง เริ่มต้นธุรกิจใหม่ จัดงานเทศกาลศิลปะหรือเทศกาลดนตรี หรือเปลี่ยนโฉมย่านเก่า โครงการนี้เชิดชูทั้งศิลปิน ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่พ่อแม่ที่ไม่ได้มีทักษะพิเศษอะไร แต่ช่วยงานอาสาสมัครที่โรงเรียนของลูก บางคนเป็นโค้ชทีมฟุตบอล คิดโครงการระดมทุนในออฟฟิศ หรือแม้แต่ใครที่อยากจัดงานปาร์ตี้เล็กๆ ในซอยบ้าน ก็เขียนเรื่องราวมาโพสต์ลงได้ แม้โครงการนั้นๆ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ก็เขียนเรื่องมาโพสต์เพื่อขอคำแนะนำได้ จะมีคนอ่านมาช่วยกันคอมเมนต์เอง กลายเป็นคอมมูนิตี้ ที่มีทั้งการนำเสนอ ให้ และรับ ทั้งข้อมูลและเรื่องราวสร้างกำลังใจ

เว็บไซต์นี้มีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้คนภายนอกได้เห็นความเป็นเอ็ดมันตันแท้ๆ และทำให้ทุกคนรู้สึกว่า ถ้าอยากสร้างอะไรสักอย่างด้วยมือตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือใหญ่โตแค่ไหน ให้มาที่นี่ เอ็ดมันตัน

พลังแห่งเรื่องเล่าจาก " Edmonton "©makesomethingedmonton.ca

     หลังดำเนินการมา 4 ปี ปลายปี 2016 โครงการ Make Something Edmonton ได้รับรางวัล City Nation Place Award for Best Expression of Place Brand Identity ในงาน Annual City Nation Place Conference จัดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยเหตุผลว่า เป็นการผนึกกำลังระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ ในการสร้างแบรนด์และอัตลักษณ์ความเป็นเมืองอย่างได้ผล โดยใช้พลังจากระดับรากหญ้า (grassroots approach)

     ปี 2017 กูเกิล ประกาศว่า จะตั้งบริษัทลูก Deepmind ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่เอ็ดมันตัน เป็นออฟฟิศต่างชาติแห่งแรกของ Deepmind และจะร่วมมือวิจัยกับมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา (University of Alberta) ที่มีผลงานโดดเด่นในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ เชื่อแน่ว่า หลังจากบริษัทระดับโลกอย่างกูเกิลเลือกมาตั้งออฟฟิศที่นี่ จะดึงดูดแรงงานหนุ่มสาวให้ย้ายมา และบริษัทอื่นๆ จะค่อยๆ ตามมาในที่สุด


     เอ็ดมันตันกำลังค่อยๆ เปลี่ยนจากเมืองที่มีภาพลักษณ์ “น่าเบื่อ หนาวเย็น และอยู่ไกล” มาเป็นหนึ่งในเมืองเทคโนโลยีหลักของแคนาดา และมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ด้วยพลังแห่งเรื่องเล่าจากคนท้องถิ่น



ขอขอบคุณ ภาพ / เนื้อหา : creativethailand
เรื่อง : กรณิศ รัตนามหัทธนะ

แชร์