มารยาททางสังคม : สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญ ต่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต:รศ.ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์

มารยาททางสังคม : สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญมาก เช่น การพูด การยืน การเดิน การนั่ง การแต่งกาย การรักษาเวลา การเข้าประชุม แม้แต่มารยาทในที่สาธารณะ เช่นการซื้อของ การใช้ถนน การใช้สะพานลอย การใช้บันไดเลื่อน ฯลฯ http://winne.ws/n2583

1.2 แสน ผู้เข้าชม
มารยาททางสังคม : สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญ ต่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต:รศ.ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์

มารยาททางสังคม : สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญ

        ก่อนที่จะกล่าวถึง “มารยาททางสังคม” ผู้เขียนขอให้มาทำความรู้จักกับคำว่า  “มารยาท” ก่อนว่า คืออะไร “มารยาท” หรือ “มรรยาท” (etiquette or good manners) หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ หรือก็คือ การแสดงออกที่มีแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติโดยได้รับการอบรมให้งดงามตามความนิยมแห่งสังคมมารยาท ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด แต่ได้มาจากสิ่งแวดล้อม มีการศึกษา อบรมเป็นสำคัญ ดูกิริยา ฟังวาจาของคนแล้ว พอคาดได้ว่าผู้นั้นได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างไร พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของมารยาท คือ 

        ความสุภาพและสำรวม คนสุภาพจะเป็นคนที่มีจิตใจสูงเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะคนที่มีอะไรในตัวเองแล้วจึงจะสุภาพอ่อนน้อมได้ ความสุภาพอ่อนน้อมมิได้เกิดจากความเกรงกลัว แต่ถือว่าเป็นความกล้า 

        มารยาทเป็นคุณลักษณะประจำตัวของบุคคล ได้แก่ การสัมมาคารวะ ความสุภาพ อ่อนน้อม ความมีวินัยและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏแก่สายตาของผู้อื่น มารยาทเป็นคุณลักษณะประจำตัวของบุคคล

        ปัจจุบันด้วยพิษของโลกาภิวัฒน์และโลกของการแข่งขันและการทำงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่แย่งเวลาในการที่จะปลูกฝังสิ่งดีงามเหล่านี้ไป เกิดการหลงลืมคำว่า “มารยาท” และได้เกิดการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ยึดตนเองเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงคนในสังคมรอบข้างว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ตนเองกระทำ กล่าวง่ายๆ ว่า “ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเรา คือ เราต้องสบาย ต้องได้ ไม่ต้องเสีย หรือต้องสำเร็จ” จึงทำให้สังคมเกิดความสับสนว่า “สิ่งใดควรทำและสิ่งใดไม่ควรทำ” “สิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม” “สิ่งใดถูกกาลเทศะหรือไม่ถูกกาลเทศะ” บุคคลที่มีกริยามารยาทดีจะมีโอกาสได้รับความนิยมชมชอบและชื่นชมจากบุคคลรอบข้าง 

        ไม่มีกริยาที่แสดงท่าทีข่มคนอื่น เพื่อให้เขาดูด้อยกว่าตนเอง ซึ่งดูเหมือนจะดีที่สร้างสถานการณ์ที่เหนือกว่าบุคคลอื่น แต่สิ่งที่ทำไปนั้น กลับติดลบ เพราะสิ่งที่ทำไปไม่ได้ใจคนที่เห็นหรือคนที่ถูกกระทำ และบางครั้งกลับกลายเป็นการเอาคืน จึงทำให้บรรยากาศดี ๆ ที่จะทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขหายไป และถ้าเป็นหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกันด้วยแล้ว ความร่วมมือในการทำงานจะหายไป ผลงานที่ได้อาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น บางครั้งดูเหมือนประสบความสำเร็จดี แต่ถ้ามองลึกลงไปในรายละเอียดแล้วจริง ๆ อาจไม่ได้ประสบความสำเร็จจริง ๆ ก็ได้ 

       การที่จะทำให้ครอบครัว หน่วยงาน และสังคมน่าอยู่นั้น สิ่งที่ต้องปลูกฝังและฝึกฝนมาตั้งแต่เล็กจนโต  เพราะมารยาทแสดงออกมาที่กิริยาท่าทางและการพูดจา  อาศัยการบอกอย่างเดียวไม่ได้  ต้องฝึกเองจนเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ คนดี มารยาทดีเท่ากัน แต่อาจไม่เหมือนกัน  เพราะคนมีบุคลิกภาพต่างกัน การแสดงออกย่อมต่างกัน

       ต้องแสดงออกมาแล้วเป็นผลดีแก่ตัว  เพราะทำให้ผู้อื่นพอใจด้วยรู้สึกว่าได้รับเกียรติ   เมื่อให้เกียรติแก่ผู้อื่น  ตนเองก็จะเป็นผู้มีเกียรติด้วย  มารยาทที่พบเห็นกันบ่อย ๆ และควรรักษาไว้ในสังคมและปลูกฝังให้ลูกหลานคนไทยต่อไป 

มารยาททางสังคม : สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญ ต่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต:รศ.ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์

1. มารยาทในการพูด

 มารยาทในการพูดที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้
        1.1 คำกล่าว “ ขอบคุณ ” จะใช้เมื่อมีผู้อื่นให้สิ่งของ  ให้ความช่วยเหลือ ให้บริการ หรือเอื้อเฟื้อทำสิ่งต่าง ๆ ให้ ไม่ว่าจะโดยหน้าที่ของเขา หรือมีน้ำใจหรือไม่ก็ตาม เช่น บริกรเสริฟน้ำให้ คนลุกให้นั่งหรือช่วยถือของให้บนรถประจำทาง คนช่วยหยิบของให้เวลาของหล่นลงพื้น พนักงานรักษาความปลอดภัยช่วยบอกทางในขณะจอดรถ หรือคนช่วยเปิดประตูให้ เป็นต้น  การกล่าวคำขอบคุณนั้น ถ้ากล่าวกับผู้ที่อาวุโสกว่า หรือมีวัยเสมอกันจะใช้คำว่า “ขอบคุณ” หรือถ้ากล่าวกับคนอายุน้อยกว่าจะใช้คำว่า  “ ขอบใจ ” ส่วนระดับของการขอบคุณนั้นจะใช้คำว่า “ขอบคุณ” “ขอบคุณมาก” “ขอบพระคุณมาก” “ขอบใจ” “ขอบใจมาก” ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้พูดต่อสิ่งที่ทำให้หรือได้รับ โดยเฉพาะคำว่า “ขอบพระคุณมาก” จะใช้กับผู้อาวุโส มิใช่แค่คำพูดเท่านั้น น้ำเสียงที่พูด กิริยา ท่าทางที่พูดจะบอกว่า ผู้นั้นพูดออกมาจากความรู้สึกที่อยู่ในใจจริงๆ หรือพูดออกมาตามหน้าที่ หรือตามสถานการณ์ที่บังคับที่ทำให้ต้องพูด ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงสิ่งที่พูด และยิ่งยกมือไหว้พร้อมกับกล่าวคำขอบคุณกับผู้อาวุโสไปพร้อมกัน จะทำให้ดูอ่อนน้อม และได้รับความเมตตาจากผู้อาวุโสมากยิ่งขึ้น และการพูดขอบคุณแบบขอไปทีกับไม่พูดนั้น ผู้เขียนเห็นว่า การพูดก็ดีกว่าการไม่พูด เพราะแสดงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ดีกว่าการไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

         1.2 คำกล่าว “ ขอโทษ ” จะใช้เมื่อทำสิ่งที่ไม่ดี /สิ่งที่ผิด / สิ่งผิดพลาด/ สิ่งที่ไม่เหมาะสม/ การรบกวน/ การขัดจังหวะขณะพูดหรือทำงานเมื่อมีธุระด่วน/ การพูดจาหรือแสดงกิริยาที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมต่อบุคคลอื่นทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจก็ตาม  เป็นต้น การกล่าวคำขอโทษนั้น จะใช้คำว่า “ขอโทษ” เมื่อผู้พูดรู้สึกสำนึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำ/ พูด/ แสดงออกมา ถ้าพูดออกมาด้วยความรู้สึกผิด จะทำให้คำขอโทษนั้นมีความหมายที่ผู้ฟังหรือคนกระทำรู้สึกดีขึ้นและพร้อมที่จะให้อภัย และถ้าเขาให้อภัยแล้ว 

         กล่าวคำขอบคุณที่เขาให้อภัยเราด้วย แต่ถ้ากล่าวคำขอโทษออกมาแบบเสียไม่ได้ หรือในท่าทีที่ไม่เหมาะสม คำขอโทษนั้นจะมีน้ำหนักน้อยที่อาจทำให้เขาอาจไม่ให้อภัยหรือให้อภัยตามมารยาทสังคมเท่านั้น แต่ในใจยังรู้สึกติดใจอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในอนาคตได้ที่อาจมีการเอาคืนในภายหลัง แต่การกล่าวคำว่าขอโทษแบบเสียไม่ได้ก็ยังดีกว่าการไม่ยอมกล่าวคำขอโทษออกมา เพราะย่อมแสดงถึงว่าเราลดตัวตนหรือทิฐิของเราลงมาในระดับหนึ่ง  และยอมที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต ถึงแม้ความรู้สึกสำนึกผิดจะช้าก็ตาม ในการกล่าวคำขอโทษนั้น 

        ถ้ากล่าวกับผู้อาวุโสควรยกมือไหว้พร้อมกันไปด้วย จะทำให้ผู้อาวุโสที่เราขอโทษเขารู้สึกดี และบอกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของผู้นั้นด้วย  จะทำให้ดูดีและน่ารักในสายตาผู้อาวุโสและสายตาของผู้ที่ได้พบเห็นหรืออยู่ในสถานการณ์นั้น

         1.3 คำพูดที่ใช้เมื่อสนทนาหรือกล่าวถึงผู้อื่นในลักษณะให้เกียรติ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก ดังคำโบราณว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว” ก็แสดงว่า การพูดนั้นเป็นคุณแก่ผู้พูด คำพูดที่จะให้คุณ ก็คือ คำพูดดีๆ ที่พูดต่อกัน น้ำเสียงในการพูดให้น่าฟัง อ่อนโยน ใช้ภาษาที่เหมาะสม ถูกกาลเทศะ แสดงความให้เกียรติ รักษาน้ำใจผู้อื่น และ

        ไม่ควรพูดประชดประชันหรือซุบซิบนินทาผู้อื่นให้เสียหาย 

        คำพูดดี ๆ นั้นจะหมายรวมถึงการที่ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น 

        ไม่ยกตนข่มผู้อื่น หรือแสดงตนว่าอยู่เหนือคนอื่น หรือพูดไม่ถูกกาลเทศะ การพูดเหล่านี้นอกจะไม่ให้คุณแล้ว ยังแสดงถึงความไม่มีมารยาทในการพูด จะทำให้เกิดผลกระทบตามมากับผู้พูด ทำให้ผู้พูดขาดทุน เพราะขาดความน่ารัก ไม่ได้ใจผู้ฟัง และยังก่อให้เกิดความขัดแย้งกันตามมาด้วย 

        การพูดที่ให้เกียรติผู้อื่นนั้น ไม่ใช่ให้เกียรติเฉพาะผู้อาวุโส/ ผู้ใหญ่เท่านั้น ต้องรวมไปถึงผู้ที่มีศักดิ์และสถานะเท่าเทียมกัน จนถึงผู้ที่มีศักดิ์หรือสถานภาพด้อยกว่าผู้พูดด้วย โดยเฉพาะถ้าผู้พูดเป็นผู้อาวุโสกว่าหรือเป็นผู้บังคับบัญชา ยิ่งต้องพูดดีและให้เกียรติกับผู้ที่ทำงานร่วมกันไม่ว่าเขาอยู่ในสถานภาพไหนก็ตาม จะทำให้ได้ใจผู้ฟัง และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำงาน

        1.4 การทักทาย ในประเพณีไทยจะทักทายกันโดยการไหว้และกล่าวคำว่า “สวัสดี” ส่วนสากลเวลาพบกันจะทักทายกันโดยยื่นมือขวาจับกันและเขย่ามือเล็กน้อย และทักทายด้วยคำสวัสดีเป็นภาษาต่างประเทศและถามสารทุกข์สุกดิบระหว่างกัน

         1.5 การแนะนำบุคคลให้รู้จักกัน หลักโดยทั่ว ๆไปแล้ว  จะแนะนำผู้อาวุโสมากก่อนผู้มีผู้อาวุโสน้อยกว่า หรือแนะนำผู้เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือมีตำแหน่งระดับสูงกว่าก่อนผู้อื่น  ถ้ามีสถานภาพเสมอกันก็ให้แนะนำตามความเหมาะสม อาจแนะนำผู้ที่มาก่อนก็ได้

มารยาททางสังคม : สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญ ต่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต:รศ.ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์

2. มารยาทในการเดิน ยืน และนั่ง

        2.1 การเดินควรเดินด้วยอาการสำรวม และ

2.2 เมื่อเดินกับผู้ใหญ่ไม่ควรเดินนำหน้า ควรเดินตาม ยกเว้น ต้องนำทางผู้ใหญ่ และควรเดินเยื้องอยู่ด้านข้างใดข้างหนึ่งแล้วแต่สถานที่ ซึ่งปกติจะอยู่ด้านซ้ายมือของผู้ใหญ่ และห่างพอสมควร  

        2.3 เมื่อเดินสวนทางกันควรเดินชิดซ้าย และ

        2.4 ถ้าสวนทางกับผู้ใหญ่ควรก้มตัวเมื่อเดินผ่าน ถ้าเป็นทางแคบควรหยุดให้ผู้ใหญ่ไปก่อน 

        2.5 ถ้าผู้ใหญ่นั่งอยู่ ควรหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น เป็นต้น 

        2.6 ส่วนการยืนนั้น ไม่ควรยืนค้ำศีรษะผู้ใหญ่ และ

        2.7 ถ้ายืนอยู่กับผู้ใหญ่ต้องอยู่ในอาการสำรวม ไม่ยืนแยกขา 

        2.8 ไม่ยืนกอดอกหรือเอามือล้วงกระเป๋า เป็นต้น 

        2.9 ส่วนการนั่ง ควรนั่งในท่าที่สบาย แต่อยู่ในอาการสำรวม 

        2.10 ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง นั่งแยกขา นั่งโยกเก้าอี้ หรือ

        2.11 นั่งประเจิดประเจ้อที่ทำให้ดูโป้ หรือไม่อยู่ในอาการสำรวม  

        2.12 ไม่ควรเยียดขาหรือกระดิกเท้าขณะนั่งเวลานั่งกับผู้อื่นหรือในที่ระโหฐาน และ

        2.13 ไม่นั่งค้ำศีรษะผู้ใหญ่ เป็นต้น

3. มารยาทในการไปชมมหรสพ การไปซื้อของ หรืออยู่ในที่สาธารณะ

        3.1 ไม่แทรกหรือตัดแถวผู้อื่น ในขณะชมมหรสพ

        3.2 ไม่ควรลุกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็น 

        3.3 ไม่ควรส่งเสียงรบกวนผู้อื่นโดยการสนทนากันดัง ๆ 

        3.4 ไม่วิพากษ์วิจารณ์การแสดง หรือแสดงอาการสนุกสนาน เป่าปาก ตบมือจนเกินกว่าเหตุ 

        3.5 ไม่ควรเกี้ยวพาราสี หรือกอดจับต้องกันเมื่ออยู่ในโรงมหรสพ หรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ

4. มารยาทในการแต่งกาย

        การแต่งกายแสดงถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม แล้วยังแสดงถึงอุปนิสัยใจคอ จิตใจ รสนิยม ตลอดจนการศึกษาและฐานะของแต่ละบุคคลได้เป็นอย่างดี การแต่งกายของผู้ที่อยู่ในสังคมจึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีหลักสำคัญที่ควรปฏิบัติดังนี้

         4.1 ความสะอาด ต้องเอาใส่เป็นพิเศษ โดยเริ่มต้นด้วยเครื่องแต่งกาย  ได้แก่  เสื้อผ้า ถุงเท้า  รองเท้า  เครื่องประดับ  กระเป๋าถือ  ต้องสะอาดหมด  ใช้เครื่องสำอางค์แต่พอควรและร่างกาย     ก็ต้องสะอาดทุกส่วนตั้งแต่   ผม  ปาก  ฟัน  หน้าตา  มือ  แขน  ลำตัว  ขาและเท้าตลอดจนถึงเล็บ รวมไปถึงกลิ่นตัวที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ   ต้องอาบน้ำฟอกสบู่ให้หมดกลิ่นตัว  ถ้าทำได้ทุกส่วน ก็ถือว่าสะอาด
        4.2 ความสุภาพเรียบร้อย  โดยเครื่องแต่งกายนั้นต้องอยู่ในลักษณะสุภาพเรียบร้อย  ไม่รุ่มร่ามหรือรัดตัวจนเกินไป   ไม่ใช้สีฉูดฉาด   ควรแต่งให้เข้ากับสังคมนั้น   ความสุภาพเรียบร้อยนั้นรวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องใช้  เครื่องประดับและการแต่งหน้าแต่งผมด้วย
        4.3 ความถูกต้องกาลเทศะ  โดยการแต่งกายควรให้ถูกกาลเทศะ  เป็นเรื่องสำคัญมาก   เช่น ไปประชุม หรือไปศึกษาดูงาน ควรแต่งกายให้สุภาพตามประเพณีนิยม ฯลฯ เพื่อให้สมเกียรติกับงานที่ไป

มารยาททางสังคม : สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญ ต่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต:รศ.ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์

5. มารยาทในการรักษาเวลา

        การนัดหมายกับผู้อื่นในการทำงาน การประชุม การไปเที่ยว จะต้องตรงเวลาและรักษาเวลาให้ดี ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่สามารถทำได้ต้องรีบแจ้งหรือบอกผู้ที่เรานัดหมายก่อนล่วงหน้าหรือเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าไม่แจ้งและคนที่นัดรอเก้อ จะถือว่าเป็นคนไม่ตรงต่อเวลา และไม่มีมารยาททางสังคม การรักษาเวลาถือเป็นการให้เกียรติต่อกันที่มีความสำคัญมากพอ ๆ กับการรักษาคำพูด

6. มารยาทในที่ประชุม 
                
        มารยาทในที่ประชุมเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการให้เกียรติกัน และเคารพในการแสดงความคิดเห็นของกันและกัน มารยาทที่ต้องรักษาไว้ เช่น 

        6.1 การตรงต่อเวลาในการเข้าประชุม 

        6.2 การขออนุญาตที่ประชุมเมื่อเข้าประชุมสายหรือการออกจากห้องประชุมก่อนกำหนด 

        6.3 การยกมือขวาขึ้นเพื่อขอแสดงความคิดเห็นหรือต้องการถาม การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย 

        6.4 การเป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักอดทนฟังเรื่องราวที่ผู้อื่นกำลังแสดงความคิดเห็นให้จบก่อนว่าเขาต้องการแสดงความคิดเห็นหรือบอกอะไร 

        6.5 ไม่พูดแทรกหรือตัดบทไม่ให้พูดขณะที่ผู้อื่นกำลังแสดงความคิดเห็น  

        6.6 การไม่พูดกวนหรือต่อเรื่องให้ยาวออกนอกประเด็นจากเรื่องที่ประชุม 

        6.7 การเคารพกฎ กติกาของที่ประชุม การเคารพมติของที่ประชุม 

        6.8 การไม่คุยเรื่องส่วนตัว คุยเสียงดัง หรือวิพากษ์วิจารณ์หรือนินทาผู้อื่นในขณะประชุม 

       6.9 การพูดในที่ประชุมควรใช้เหตุผล หลักการ และความจริง ไม่ใช้อารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ที่จะเอาชนะ มีอัตตาสูง หรือต้อง

        6.10 การพูดปกป้องตนเองก่อนที่จะฟังเรื่องราวให้จบ จะทำให้ที่ประชุมปั่นป่วน ไร้ระเบียบ และทำให้การประชุมนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ

        มารยาททางสังคมยังมีอีกหลายด้านที่เราควรยึดในการปฏิบัติ  เช่น การรู้จักเกรงใจในเรื่องการขอความช่วยเหลือ การขอยืมของ การสั่งงาน การไปพบ/การไปเยี่ยม/การใช้โทรศัพท์ติดต่อในเวลาส่วนตัวหรือที่บ้าน เป็นต้น การไม่ถือวิสาสะในเรื่อง การเข้าห้องผู้อื่นโดยไม่เคาะประตู การหยิบหรือใช้หรือเข้าไปสำรวจบ้านหรือห้องของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต การเปิดจดหมายหรืออิเมลของคนอื่นออกอ่านโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น การให้เกียรติผู้อื่น ด้วยวาจาและท่าทาง การใช้โทรศัพท์ การนอน การช่วยเหลือผู้อื่น การเล่นกีฬาหรือเกมต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาจากหนังสือ หรือเว็บไซต์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ ดังนั้น การที่มนุษย์เราอยู่ในสังคมเดียวกันจะต้องเคารพกฎ กติกา ขนบธรรมเนียมประเพณี และบรรทัดฐานของสังคมที่เราอยู่ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและทำงานอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข 

         มารยาททางสังคมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ทำให้คนเรารู้สึกดีต่อกัน สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญ เพราะการมีมารยาทดีเปรียบเสมือนมีอาภรณ์ประดับกายที่งดงาม เป็นที่ชื่นชนและยอมรับของบุคคลรอบข้าง ผู้ที่มีมารยาทดี มักประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน เนื่องจากได้รับการยอมรับและเชื่อถือทางสังคม การมีมารยาทดีจึงเปรียบเสมือนในเบิกทางไปสู่ความสำเร็จ  (อัจฉรา นวจินดา) จึงควรส่งเสริมให้สังคมเรารักษามารยาททางสังคมกันเถอะ


เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์

ขอบคุณภาพจาก www.google.com

แชร์