“เสพติดดิจิตัล” ภัยเงียบต่อสุขภาพ

การใช้งานสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน บางคนจ้องหน้าจอจนเกิดความเจ็บป่วย หลายองค์กรพยายามออกมาสร้างแรงกระเพื่อม เพื่อให้สังคมตระหนักถึงภัยของการ “เสพติดดิจิตัล” http://winne.ws/n27001

1.2 พัน ผู้เข้าชม
“เสพติดดิจิตัล” ภัยเงียบต่อสุขภาพ

        ในโลกยุคที่เทคโนโลยีรายล้อมตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ถ่ายทอดผ่านอินเทอร์เน็ต เกมส์ หรือแอพพลิเคชั่นสังคมออนไลน์ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ที่จะพยายามดึงความสนใจจากผู้ใช้งาน หลายคนจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียที่หลากหลาย ส่งผลให้สุขภาพย่ำแย่ จึงมีกลุ่มคนที่ออกมาเตือนเพื่อให้คนทั่วไปรู้เท่าทัน และต้องการที่จะสร้าง “ความสุขสมดุลในโลกยุคดิจิตัล” ให้กับสังคมปัจจุบัน

        คุณ Nina Hersher ผู้บริหารระดับสูงของสมาคมการค้า Digital Wellness Collective บอกว่า “เรากำลังอยู่ในยุคที่ความสนใจของคน ถูกตีเป็นมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ” โดยองค์กรที่เธอทำงานแห่งนี้มีเป้าหมายเพื่อหาจุดสมดุลในการใช้เทคโนโลยีสำหรับคนทั่วไป ให้เหมาะสมทั้งด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ

       คุณ Hersher เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ต้องต่อสู้กับอาการพูดติดอ่างในวัยเด็ก ซึ่งเธอชี้ว่าเคยใช้การสบตากับคู่สนทนาเพื่อส่งสัญญาณว่าเธอต้องการจะสื่อสารด้วย

       เธอบอกกับวีโอเอว่า “ทุกวันนี้คนใช้มือถือ แทบจะไม่ละสายตาจากหน้าจอ เธอจึงอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้คนหันมาสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว อยู่กับปัจจุบันมากกว่านี้”

      ความเจ็บป่วยจากการเสพติดดิจิตัลเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น

      “Nomophobia” หรืออาการหวาดกลัวจากการขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสาร

       "Tech neck" คืออาการปวดคอจากการก้มมองหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน โดยการก้มที่ 45 องศาทำให้คอต้องรับน้ำหนักของศีรษะที่มากกว่าปกติ

       “Email Apnea” เป็นอาการกลั้นลมหายใจโดยไม่รู้ตัวขณะอ่านหรือพิมพ์ข้อความผ่านหน้าจอ

       นักจิตวิทยา Anatasia Kim ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์จากสถาบัน the Wright Institute ที่ตั้งในเมือง Berkeley รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า “หากคุณมีอาการตื่นเต้นทุกครั้งที่จำนวนคนกดไลค์เพิ่มสูงขึ้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม”

      ทางด้านพยาบาลผดุงครรภ์ Kristen Graser เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เธอตัดสินใจลดการใช้ โทรศัพท์มือถือ สืบเนื่องมาจากวันที่เธอกำลังดูแลเด็กแรกเกิด แต่ด้วยความคุ้นเคยเธอได้เหลือบมองหน้าจอมือถือ จุดนั้นเองทำให้คุณ Graser ตระหนักได้ว่าเธอกำลังสูญเสียการควบคุมตัวเอง

       ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่พยายามรณรงค์ให้สังคมเห็นถึงข้อเสียของการใช้เวลากับเทคโนโลยีที่มากเกินไป เช่น องค์กร America Offline ได้สร้างการออกค่ายสำหรับวัยรุ่นที่ปราศจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งโครงการนี้ริเริ่มมาจากโค้ชบาสเก็ตบอลเยาวชนที่อยากให้เด็กลดการจ้องหน้าจอ

       แม้การใช้ชีวิตโดยปราศจากเทคโนโลยีการสื่อสารอาจจะเป็นสิ่งที่สุดโต่งจนเกินไปสำหรับใครหลายคน สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือหาจุดสมดุลในการใช้ประโยชน์ของอุปกรณ์เหล่านี้โดยไม่ให้มันมาทำลายสุขภาพและชีวิตของเรา

ที่มา https://www.voathai.com

แชร์