วิเคราะห์เรื่องสิทธิมนุษยชนไทย ในภาวะถอยหลังลงคลอง

ที่ปรึกษา Human Right Watch ประจำประเทศไทย ได้วิเคราะห์เรื่องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ คสช.ได้เข้ามาบริหารประเทศ จะตรงกับที่ทางคสช.ได้พูดไว้หรือเปล่า ต้องลองอ่านในมุมมองของเขาดูค่ะ http://winne.ws/n3729

1.3 พัน ผู้เข้าชม

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจและบริหารราชการแผ่นดิน

มาถึงวันนี้สถานการณ์ดังกล่าวลดน้อยถอยลงไป หรือพอที่จะบอกได้เต็มปากเต็มคำตามที่ คสช.ย้ำอยู่เสมอว่าไร้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ลองไปติดตามมุมมองของ นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ผ่านการให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมาตลอด

โดยดูจากสภาพปัญหา แนวโน้มหรือลู่ทางของปัญหาสิ้นสุดลงว่าพอจะเห็นวี่แววหรือไม่

ทั้งการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในด้านสิทธิการเมืองและสิทธิพลเมือง

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการสมาคม การยอมรับฟังความเห็นต่าง โดยเฉพาะประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ มีการเปิดพื้นที่ให้หรือไม่ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัด

โดยเฉพาะ คสช.เมื่อเข้ามาปุ๊บก็ให้สัญญาถึงการเดินตามโรดแม็ปและจะเปลี่ยนผ่านกลับไปสู่สภาวะปกติ มีรัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้ง

ก็เอาสิ่งที่ คสช.ให้สัญญาเอาไว้ใช้เป็นดัชนีชี้วัด

แต่สภาพความเป็นจริงตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ตกอยู่ในภาวะถดถอยอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด

สังเกตได้ว่าฮิวแมนไรท์วอทช์ ไม่ได้บอกว่าประเทศไทยได้ 3 หรือ 4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 แต่ได้ติดตามคำมั่นสัญญาของ คสช.ที่ย้ำมาตลอดว่าจะมอบให้คนไทย ตกลงมันมีหรือไม่

ที่สำคัญคำสัญญาที่ คสช.ให้ไว้ไม่ใช่เฉพาะแค่คนไทย แต่ยังไปพูดบนเวทีระหว่าง

ประเทศ เช่น ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น (United Nations General Assembly) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ก็ไปพูดที่เวทีนี้ หรือตอนไปสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมประชุมกับมิตรประเทศ ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป ก็ย้ำเรื่องนี้อีก

ถือเป็นสัญญาที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะแค่กับคนไทย แต่เป็นสัญญากับประชาคมโลก

กำลังจะบอกว่าพฤติการณ์ของ คสช.เดินสวนทางกับคำสัญญาที่ คสช.ให้ไว้กับคนไทยและประชาคมโลก นายสุณัย บอกว่า นับวันยิ่งมีความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ

ขอย้อนกลับไปดูในช่วงเริ่มรัฐประหารใหม่ๆ ก็ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้อำนาจกองทัพเต็มที่ แต่ภาพพจน์ไม่ดี หลังจากนั้นก็ยกเลิกกฎอัยการศึก เปลี่ยนไปใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

สอดคล้องกับเวทียูพีอาร์ (รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน Universal Periodic Review ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ) ล่าสุด ซึ่งมีรอบการตรวจสอบทุก 5 ปี ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาว่า มาตรา 44 แย่มากกว่ากฎอัยการศึก เพราะไม่มีขอบเขตจำกัดการใช้อำนาจ

พร้อมสะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมีเยอะขึ้นและโยงกับบรรยากาศการเมืองของประเทศโดยจากรายงานของยูเอ็น รายงานของมิตรประเทศ และเอ็นจีโอองค์กรสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกันหมด

ว่า คสช.กระชับอำนาจเป็นรัฐทหาร เผด็จการ ตรวจสอบไม่ได้ ใช้อำนาจแบบไม่มีขีดจำกัด

เป็นอำนาจที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในบริบทของประเทศ ที่ให้อำนาจกับหัวหน้าคณะรัฐประหารอย่างเต็มที่โดยไม่จำกัด ที่สำคัญไม่มีการกลั่นกรองการใช้อำนาจ ใช้แล้วไม่ต้องรับผิดใดๆด้วย

จากมาตรา 44 ก็ยังคลอดลูกออกมาเป็นคำสั่งที่ 3 และคำสั่งที่ 13 กระชับอำนาจของคณะทหารให้มีมากขึ้นไม่มีขอบเขตจำกัด

รวมถึงคำสั่งอื่นที่นำศาลทหารมาใช้แทนศาลพลเรือน ยิ่งสะท้อนภาพรัฐทหารถูกกระชับมากขึ้น ทั้งขยายประเด็นลงทางลึก-ทางดิ่ง-ขยายแนวกว้าง ทหารทำทุกเรื่อง จากเดิมดูเฉพาะด้านความมั่นคง

สภาวะความเป็นรัฐทหารถูกทำให้กลายเป็นสภาวะปกติ ทำให้นานาชาติกังวลจนเขาใช้คำว่า New Normal สภาวะปกติใหม่ของประเทศไทย คือ สภาวะรัฐทหาร

ปูทางให้เป็นรัฐทหารให้เข้มข้นมากขึ้น ไม่ใช่ เป็นการปูทางไปสู่ประชาธิปไตย

รัฐทหารชี้แจงว่า ประชาชนชอบที่ คสช.เข้ามา เพราะไม่มีม็อบ ไม่ตีกัน ขณะที่พยายามบอกว่าประเทศต่างๆที่วิจารณ์ประเทศ ไทยล้วนมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน นายสุณัย บอกว่า สิทธิมนุษยชนเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ ฉะนั้นไม่ควรไปบอกว่าประเทศอื่นไม่ทำตามพันธกรณี เราไม่เห็นต้องแคร์ แต่ทำไมเราไม่ทำตัวให้ดีขึ้น

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ไม่มีอำนาจต่อรองระหว่างประเทศ แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นคือศักดิ์ศรี เกียรติภูมิเรื่องประชาธิปไตย นานาชาติให้ความหวังเป็นที่พึ่งพาอาศัย เป็นเสาหลักในการเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชน

ตอนนี้เราไม่ใช่แค่อยู่ท้ายขบวน แต่ยังตกขบวน ทำไมวันนี้ไม่ยกความเด่นของประเทศไทยให้กลับมาอีกครั้ง โดยทำตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ถ้าสิทธิมนุษยชนมีปัญหา คนไทยย่อมได้รับผลกระทบ เราต้องแยกว่าหน้าที่ของรัฐในการรักษากฎหมาย ดูแลความสงบของบ้านเมืองเป็นพันธกิจที่สำคัญ แต่การดูแลความสงบเรียบร้อยจะต้องไม่แลกมาด้วยการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

โดยเฉพาะการลิดรอนที่ไม่จำเป็น เช่น ขณะนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีกองกำลังติดอาวุธมาก่อเหตุหรือไม่ ก็ไม่ใช่ กลับกลายเป็นว่าตามสถิติคนถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ในฐานความผิดยุยงปลุกปั่นหรือพูดยุยงปลุกปั่นผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งที่เป็นการแสดงความคิดเห็นด้วยสันติ ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธ

คดีเหล่านี้ไปถึงไหนแล้ว ไม่มีการรายงานความคืบหน้า ขยายผลจับกุมสาวไปถึงใคร เครือข่ายที่บอกมีใหญ่โตตามแผนผัง ผังเหล่านั้นเป็นผังจริงหรือผังเฉพาะกิจ

อย่าลืมว่าในต่างประเทศยอมรับการลดทอนพันธะด้านสิทธิมนุษยชนอยู่บ้าง โดยต้องอธิบายว่ามีภัยคุกคามที่ชัดเจนคืออะไร กติการะหว่างประเทศมองว่ารัฐแต่ละประเทศสามารถทำได้ โดยแจ้งกลับไปที่ยูเอ็นว่า ตอนนี้มีความจำเป็นเพราะอะไร แต่ของประเทศไทยไม่ได้ตอบว่าเพราะอะไร พิสูจน์ไม่ได้ ไม่มีคำอธิบาย

เมื่อบวกกับคำสัญญาของ คสช.ที่พันตัวเองว่าจะเปลี่ยนผ่านประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนผ่าน กลายเป็นพฤติกรรมการสืบทอดอำนาจ

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า คสช.จะกลับตัวทันได้อย่างไร เพื่อที่จะสอบผ่านด้านสิทธิมนุษยชน นายสุณัย บอกว่า ขณะนี้ยังกลับตัวทัน เพราะจุดที่เราเรียกร้องไม่ได้มากไปกว่าสิ่งที่ คสช.สัญญาเอาไว้เอง ธงเป็นแบบนี้

เมื่อ คสช.สัญญาแบบนี้ก็ต้องทำตามสัญญา ยังไม่สายที่พอจะกลับตัวได้หลายเรื่องอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ขณะนี้เข้าสู่โหมดการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโรดแม็ป

หากจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย กระบวนการทำประชามติ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญควรให้มีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่รัฐจะต้องยุติการข่มขู่รายวัน และเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนแสดงออกโดยสันติ มีอารยะ จะเชียร์จะค้านไม่มีปัญหา อย่าจับอาวุธมาทำร้ายกัน อย่าใช้เฮทสปีช (Hate Speech) สร้างความเกลียดชัง

ถ้า คสช.กลับตัวทัน โดยเปิดพื้นที่ที่จะเข้าสู่สิทธิพื้นฐานจะได้รากของสิทธิขั้นพื้นฐานประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันยังต้องปรับและกลับตัวในเรื่องศาลทหาร ทำไมเอาคดีการเมืองไปขึ้นศาลทหาร กลายเป็นทหารจับกุม คุมตัวไปสอบสวนในค่ายทหาร ส่งสำนวนอัยการศาลทหาร ตุลาการศาลทหาร ทั้งหมดเป็นองคาพยพที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหมทั้งหมด และกลาโหมเป็นองคาพยพอยู่ในบังคับบัญชาของ คสช.

ซึ่งเป็นคู่กรณีของคนที่ถูกดำเนินคดี องคาพยพจึงขาดความเป็นกลางและอิสระตามหลักการระหว่างประเทศ

แต่ทำไมในพื้นที่ขัดแย้งด้วยอาวุธใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เคยใช้ศาลทหารไต่สวนพลเรือน

ฉะนั้นต้องปรับเข้าสู่ระบบศาลปกติ เพราะประเทศไทยยังไม่ใช่รัฐล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ศาลยังสามารถทำงานได้ตามปกติ ภาพพจน์ของประเทศจะดีขึ้น ส่งผลดีต่อการปรองดองในประเทศ

และถึงเวลาที่ คสช.จะต้องมองความคิดเห็นที่ต่างว่าเป็นเรื่องปกติในสังคม ไม่ใช่ไปไล่ปรับทัศนคติคนอื่นๆ

แต่ คสช.ต้องปรับทัศนคติตัวเอง.

ทีมการเมือง

ขอบคุณ www.thairath.co.th

วิเคราะห์เรื่องสิทธิมนุษยชนไทย ในภาวะถอยหลังลงคลอง
แชร์