สธ. เฝ้าระวัง 'เชื้อไวรัสซิกา' ใช้มาตรการสูงสุดในพื้นที่พบผู้ป่วย

กรมควบคุมโรค เผย ประเทศไทยเฝ้าระวังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างต่อเนื่อง พร้อมใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคระดับสูงสุดในพื้นที่ทันทีที่พบผู้ป่วย ขอ ปชช.มั่นใจระบบเฝ้าระวังของไทย-ติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง... http://winne.ws/n7081

394 ผู้เข้าชม
สธ. เฝ้าระวัง 'เชื้อไวรัสซิกา' ใช้มาตรการสูงสุดในพื้นที่พบผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 59 นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าสถานการณ์ความเสี่ยงโดยภาพรวมทั่วโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่มีโอกาสพบเชื้อไวรัสซิกาได้ทั่วไปในภูมิภาคที่มีพาหะนำโรค ปัจจุบันมี 70 ประเทศทั่วโลกที่พบผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งในบางประเทศก็มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยครั้งแรก พ.ศ.2555 โดยในช่วง พ.ศ.2555-2558 พบรายงานผู้ป่วยกระจายทุกภาคและมีผู้ป่วยยืนยันเฉลี่ยปีละ 5 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องส่งตัวอย่างไปตรวจที่ต่างประเทศ แต่ปัจจุบันประเทศไทยสามารถตรวจเองได้ และในปี 2559 นี้ ตั้งแต่ต้นปีมีรายงานผู้ป่วยใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งสามารถควบคุมโรคได้ในเวลาที่เหมาะสม ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ จันทบุรี เพชรบูรณ์ และบึงกาฬ  ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยให้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าว

นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทยขณะนี้ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้ 1.ประเทศไทยยังมีรายงานพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 

2.หลังดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นก็จะสามารถควบคุมโรคให้สงบลงได้ในเวลาที่เหมาะสม 

3.ยังไม่พบการระบาดที่ต่อเนื่องยาวนาน และ 

4.ยังไม่พบผู้ป่วยได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จากที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เป็นการสะท้อนถึงมาตรการเฝ้าระวัง ระบบตรวจจับที่ดี การวินิจฉัยโรค และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งระบบของประเทศไทยนั้นได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทยและติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคติดต่อ โรคที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค 4 ด้าน ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และ 4.การเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท และต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วน ร่วมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ให้การสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน หากพบผู้ป่วยให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ โดยเน้นดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคเข้มข้นทั้งจังหวัดในระดับสูงสุดทันทีที่พบผู้ป่วย ถึงแม้ว่าจะมีรายงานผู้ป่วยจำนวนหนึ่งในบางอำเภอก็ตาม

สำหรับอาการของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ อาการเหล่านี้ทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์หากติดเชื้อต่างๆ เช่น หัดเยอรมัน และไข้ขี้แมว เป็นต้น ก็อาจส่งผลถึงลูกในครรภ์ได้เช่นกัน เช่น มารดาหากติดเชื้อหัดเยอรมัน ทารกที่เกิดมาอาจมีความพิการ ตาบอด หัวใจพิการ และมารดาที่ติดเชื้อไข้ขี้แมว ทารกที่เกิดมาอาจมีความพิการทางสมองได้  

นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า ในปีนี้ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เชิญชวนประชาชนร่วมรณรงค์ป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนนี้ ซึ่งเป็นฤดูระบาดสูงสุดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ และเพื่อให้ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายและจำนวนผู้ป่วยลดลง กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือประชาชนในการควบคุมยุงลายในบ้านของท่านเองอย่างสม่ำเสมอ โดยดำเนินตามมาตรการ 3 เก็บ “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยใช้ยาทากันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องที่มีมุ้งลวด ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุขทั่วไป หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์ทันที.

ขอบคุณ, http://www.thairath.co.th/content/706710

แชร์