กฎหมายควรรู้ : ให้ยืมเงินอย่างไรถึงจะฟ้องคดีได้

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ http://winne.ws/n7915

1.6 พัน ผู้เข้าชม
กฎหมายควรรู้ : ให้ยืมเงินอย่างไรถึงจะฟ้องคดีได้ขอบคุณภาพจาก mcot-web.mcot.net

การกู้ยืมเงินกันเมื่อมีปัญหาขึ้นมา ถ้าจะต้องฟ้องร้องเป็นคดีจะใช้หลักฐานที่สำคัญคือหลักฐานเป็นหนังสือ

ดังในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓ การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ดังนั้น เงื่อนไขที่จะฟ้องคดีกู้ยืมเงินจะต้องมีลักษณะ ดังนี้

๑. กู้ยืมกัน ๒,๐๐๐ บาทหรือ น้อยกว่า ๒,๐๐๐ บาท ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องคดีได้

๒. กู้ยืมเงินกันกว่า ๒,๐๐๐ บาท ขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้กู้

๓. หลักฐานเป็นหนังสือ ที่สำคัญคือ จะต้องปรากฏลายมือชื่อผู้กู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๔๘/๒๕๓๐

จำเลยเขียนจดหมายถึงโจทก์ มีใจความว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปเพื่อสร้างบ้าน ท้ายจดหมาย จำเลยเขียนชื่อเล่นด้วยตัวอักษรหวัดแกมบรรจง ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๒๖๒/๒๕๓๕

จำเลยทั้งสอง กู้ยืมเงินโจทก์ไป สัญญาตอนต้นมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้กู้ แต่จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในช่องพยาน ส่วนจำเลยที่ ๑ ตอนต้นของสัญญาไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้กู้ แต่จำเลยที่ ๑ ลงชื่อในช่องผู้กู้เอกสารดังกล่าว เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามมาตรา ๖๕๓ วรรคแรกแล้ว จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

แต่ถ้าไม่มี ลายมือชื่อผู้กู้ ถือไม่ได้ว่า มีหลักฐานเป็นหนังสือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๘๙/๒๕๓๘

จำเลยเขียนเอกสารการกู้ยืมเงินด้วยลายมือตนเอง มีข้อความว่า จำเลยเป็นผู้กู้ยืมเงินโจทก์ แต่จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นหลักฐาน การกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้

สำหรับการคืนเงินอย่างไรให้ถูกต้อง ไม่ต้องถูกฟ้องทวงอีกนั้นดูที่มาตรา ๖๕๓ วรรคสอง ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งคือ
๑. ต้องเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ
๒. ต้องเป็นกรณีการใช้หนี้เป็นเงินตรา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๘๒/๒๕๒๔

จำเลยนำสืบว่า ได้เอาที่ดินใช้หนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา ๖๕๓ วรรคสอง ก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๖๕/๒๕๓๑

ชำระหนี้เงินกู้ด้วยการโอนเงินทางโทรเลข เข้าบัญชีของโจทก์ เป็นการชำระหนี้อย่างอื่น ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๖๕๓ วรรคสอง สามารถนำสืบการใช้เงินได้

สรุปว่า เมื่อได้ใช้เงินแล้ว ลูกหนี้ต้องมีอย่างหนึ่งอย่างใดคือ
๑. หลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อ ผู้ให้กู้ หรือ
๒. เอกสารหลักฐานแห่งการกู้ยืมเวนคืนมายังลูกหนี้แล้ว
๓. ได้มีการแทงเพิกถอนการกู้ลงในเอกสารกู้ยืมนั้นแล้ว

หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศ ทาง www.matichon.co.th โดยมี นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ

(Visited 81,261 times, 1 visits today)

ที่มา : MThai 

แชร์