จากศัลยแพทย์หัวใจ...กลายมาเป็นคุณหมอทั่วไป... เลิกรักษาคนไข้ด้วยการผ่าตัด ( ตอนที่1)

เมื่อผมตัดสินใจไปตรวจสุขภาพประจำปี ก็ได้มาหลายโรค อย่างแรกก็คือความดันเลือดสูงถึงขั้นต้องใช้ยา สองก็คือไขมันในเลือดสูงถึงขั้นต้องใช้ยา สามก็คือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ สี่ก็คือลงพุง คือน้ำหนักเกิน http://winne.ws/n8289

1.4 พัน ผู้เข้าชม
จากศัลยแพทย์หัวใจ...กลายมาเป็นคุณหมอทั่วไป... เลิกรักษาคนไข้ด้วยการผ่าตัด ( ตอนที่1)

หมอสันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์โรคหัวใจมือหนึ่ง โรงพยาบาลพญาไท เลิกรักษาคนไข้เพราะอะไร

ผมจะเล่าที่มาที่ไปให้ฟังนะครับ คือตัวผมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ ความชำนาญของผมก็คือผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือดหัวใจตีบหรือที่เรียกว่าผ่าตัด บายพาส การใช้ชีวิตในวัยทำงานของผมก็ค่อน ข้างใช้แบบสำบุกสำบันเหมือนกับหลายท่านในนี้ซึ่งผ่านวันเวลาแบบนั้นมาหมาดๆ คือทำงานมาก มากเกินไป และไม่ได้สนใจที่จะฟูมฟักดูแลร่างกายมากนัก เพราะมันก็ดีๆของมันอยู่ 

การผ่าตัดหัวใจเป็นงานที่มักจะต่อเนื่อง พูดง่ายๆว่าติดลม บางวันกว่าจะเสร็จก็สามสี่ทุ่ม กลับถึงบ้านก็ใกล้เที่ยงคืนไปแล้ว ลูกเมียเขาหลับกันหมดแล้ว ผมต้องไปค้นตู้เย็นหาอะไรกิน เมียเขาจะจัดอาหารโปรดของผมไว้ คือเค้กซาราลี บัทเทอร์เค้ก นั่นแหละของชอบ ผมกินมันทุกคืน แล้วผมเนี่ยสมัยที่ทำงานอยู่ไม่ดื่มน้ำเปล่านะครับ ดื่มโค้กแทนน้ำเปล่า วันหนึ่งก็หนึ่งลิตรขึ้นไป เพราะดื่มน้ำเปล่ามันไม่สะใจ แล้วเราก็มีเงินซื้อ ใครจะทำไม ในที่ทำงานผมดื่มกาแฟวันละหลายแก้วเพราะทำงานบริหารด้วย เวลานั่งประชุมฟังลูกน้องพูดเพ้อเจ้อผมก็จิบกาแฟไป วิธีชงกาแฟของผมก็เป็นมาตรฐานไทยแลนด์ คือ ทรี-อิน-วัน หมายความว่าน้ำตาล ครีมเทียมกาแฟ ผสมกันมาเสร็จเรียบร้อยในซองเดียว ใช้ชีวิตแบบนี้เรื่อยมา จนถึงวันที่เริ่มป่วย

ตอนนั้นผมอายุห้าสิบปลายๆแล้ว มันเริ่มด้วยอาการเวลาทำงานมากๆแล้วแน่นๆหน้าอกไม่สบาย จิตใจก็ค่อนข้างหงุดหงิดงุ่นง่านจนลูกน้องเข้าหน้าไม่ติด ตอนนั้นทำสองจ๊อบคือเป็นหมอผ่าตัดหัวใจด้วย เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลด้วย วันหนึ่งตอนเลิกงานประมาณเกือบสามทุ่ม เลขาหน้าห้องมาดักรอผมอยู่ที่ประตู แล้วรวบรวมความกล้าบอกผมว่า “อาจารย์รู้ตัวหรือเปล่าคะ ว่าอาจารย์นะ…หงุดหงิด”!!!!

จากศัลยแพทย์หัวใจ...กลายมาเป็นคุณหมอทั่วไป... เลิกรักษาคนไข้ด้วยการผ่าตัด ( ตอนที่1)

พอเจอจิ้งจกทัก ผมก็มานั่งมองตัวเอง เออ..สงสัยเราจะป่วยจริงๆแฮะ จึงหยุดงานไปให้หมอรุ่นน้องตรวจประเมินสุขภาพอย่างจริงจัง โดยธรรมชาติของหมอจะเหมือนกันทั้งหมอไทยและหมอฝรั่ง คือไม่เคยทำการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพราะถือว่าตัวเองเป็นหมอดูแลตัวเองอยู่ทุกวันอยู่แล้ว 

เมื่อผมตัดสินใจไปตรวจสุขภาพประจำปี ก็ได้มาหลายโรค อย่างแรกก็คือความดันเลือดสูงถึงขั้นต้องใช้ยา อย่างที่สองก็คือไขมันในเลือดสูงถึงขั้นต้องใช้ยา อย่างที่สามก็คือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งทราบได้จากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจดูแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ อย่างที่สี่ก็คือลงพุง คือน้ำหนักเกิน และส่วนใหญ่มาอยู่ที่พุง ไม่อ้วน แต่หุ่นเป็นแบบไอ้เท่งหนังตะลุง คือหลังค่อมพุงแอ่น นั่นคือตัวผมเมื่ออายุราว 56 ปี หมอรุ่นน้องซึ่งเป็นหมออายุรกรรมหัวใจก็ให้ยามาหลายตัว หนึ่งโรคก็หนึ่งตัว แถมอีกตัวหนึ่งคือยากล่อมประสาท

ผมกินยาตามหมอสั่งได้สองเดือนโดยใช้ชีวิตแบบเดิม ทำงานเหมือนเดิม อาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจไม่มีอะไรดีขึ้น แถมมีอาการซึมกะทือจากยากล่อมประสาทอีกด้วย

จิตใจก็แย่ การเป็นคนป่วยนั่นก็แย่ระดับหนึ่งแล้ว ยังมีความเบื่องานบวกเข้าไปอีก ทั้งๆที่เป็นเจ้านายเขาแต่มันก็เบื่อ มองอนาคตตัวเองด้วยความกังวล ว่าวันนี้เราเป็นความดันสูง ไขมันสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ กินยาหนึ่งกำมือ สิ่งที่รออยู่ข้างหน้าคืออะไรผมมองออกหมดแล้ว ถึงจุดหนึ่งก็ต้องไปทำบอลลูน ทำไปสักสองสามครั้งแล้วก็ต้องไปผ่าตัดบายพาส อย่างที่ผมทำให้คนไข้ทุกเมื่อเชื่อวันนั่นแหละ ทำแล้วบ้างก็ดีขึ้น บ้างก็ไม่ดีขึ้น บ้างก็ตาย เพียงแต่คราวนี้จะเปลี่ยนเป็นตัวผมนอนอยู่บนเขียง ให้หมอรุ่นน้องคนอื่นเป็นคนผ่าตัดให้

ในช่วงที่ผ่าตัดอยู่ วันไหนอารมณ์ดีๆผมจะบอกหมอที่เป็นลูกศิษย์ว่าคุณรู้ไหม วันหนึ่งข้างหน้าคนรุ่นหลานของเราจะเล่าสู่กันฟังด้วยความตลกขบขันว่าสมัย คุณปู่เนี่ย คนเราทำไมโง่จังนะ แค่ไขมันอุดหลอดเลือดหัวใจ หมอสมัยนั้นต้องเอาคนไข้มาผ่าแบะหน้าอกออกเพื่อทำบายพาสหลอดเลือด คือผมพูดอย่างนี้กับลูกน้องเพื่อจะย้ำให้เขาเห็นว่าการผ่าตัดบายพาสเป็นการ รักษาแบบเกาไม่ถูกที่คัน แต่เราก็ไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้อย่างน้อยตอนนี้ยังไม่มี เพื่อให้เขาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ขยันค้นคว้าวิจัยหากวิธีรักษาที่ดีกว่านี้ แต่ว่ามาถึงตอนนี้ผมเป็นคนป่วยแล้ว และวันหนึ่งผมจะต้องมารับการรักษาด้วยวิธีซึ่งผมรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่า “ไม่ใช่” ผมจะทำอย่างไรดี มีวิธีอื่นอีกไหมที่จะดูแลตัวเองโดยไม่ต้องผ่าตัด คิดไปคิดมาแล้วคำตอบก็มีอยู่คำเดียว คือ…“ไม่ทราบ”

จากศัลยแพทย์หัวใจ...กลายมาเป็นคุณหมอทั่วไป... เลิกรักษาคนไข้ด้วยการผ่าตัด ( ตอนที่1)

ณ ตอนนั้นผมเรียนจบแพทย์มาได้สามสิบปีแล้ว ผ่านการเป็นแพทย์ทั่วไป แล้วไปฝึกอบรมเป็นศัลยแพทย์ทั่วไป ทำงานพักหนึ่งแล้วไปฝึกอบรมเป็นศัลยแพทย์ทรวงอกทำงานพักหนึ่งแล้วไปฝึกอบรมต่างประเทศเป็นศัลยแพทย์หัวใจ ทำงานพักหนึ่งแล้วก็ค่อยๆจำกัดชนิดการผ่าตัดลงจนแทบจะเหลือแต่การผ่าตัด บายพาส คือมุดรูเล็กลงๆเรื่อยๆ เหลือความรู้อยู่แต่เรื่องที่ตนเองเชี่ยวชาญอยู่นิดเดียว สามสิบปีที่ผ่านไป มีความรู้อะไรใหม่ๆเกิดขึ้นในวิชาแพทย์บ้าง ผมไม่ได้ติดตามเลย ผมตัดสินใจถอยกลับมาเรียนวิชาแพทย์ใหม่ด้วยตนเอง ทั้งๆที่ยังทำงานอยู่นั่นแหละ ผมทำในสิ่งที่นักวิชาการเขาเรียกว่า “การทบทวนวรรณกรรม (literature review)“ คือถอยไปตั้งต้นย้อนยุคเมื่อผมจบแพทย์ใหม่ๆ แล้วไล่มาทีละปีพ.ศ.ว่านับตั้งแต่นั้นมามีงานวิจัยทางการแพทย์อะไรใหม่ๆเกิด ขึ้นโดยที่ผมไม่ทราบบ้าง

ผมได้พบว่ามีงานวิจัยการรักษาโรคหัวใจที่ให้ผลเหลือเชื่อเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อนเลย ทั้งๆที่ผมเองก็เป็นหมอหัวใจ ผมจะยกตัวอย่างงานวิจัยบางงานที่เตะตาผมจังๆให้ ท่านทราบนะ

งานวิจัยนี้ชื่อ EUROSAPIRE เป็นงานวิจัยขนาดใหญ่ ใช้คนไข้โรคหัวใจถึง 13,935คน ทำในโรงพยาบาลชั้นดีในยุโรป 67 รพ. ใน 22 ประเทศ และมีระยะติดตามดูนานถึง12 ปี คือเขาติดตามดูคนไข้โรคหัวใจขาดเลือดที่ได้รับการรักษาตามวิธีมาตรฐานปัจจุบัน กล่าวคือกินยา บอลลูน บายพาส คือจะดูว่าถ้าเป็นคนไข้ที่ดี หมอบอกให้กินยาก็กิน และรักษาอยู่กับโรงพยาบาลที่ดี หมอดี เครื่องมือดี ดูซิว่าผ่านไป 12 ปี แล้วคนไข้จะมีอะไรดีขึ้นบ้างไหม ผลวิจัยที่ได้ก็คือ ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย อย่างเรื่องความอ้วน ยิ่งรักษากันไปก็ยิ่งอ้วนเผละยิ่งขึ้น ผ่านไปสี่ปีคนอ้วนเพิ่มขึ้น 25% ผ่านไปแปดปี เพิ่มขึ้นอีก 33% ผ่านไปสิบสองปี เพิ่มขึ้นเป็น 38%

มาดูความดันเลือดบ้าง ผ่านไปสี่ปีคนเป็นความดันเลือดสูงเพิ่มขึ้น 32% ผ่านไปแปดปีเพิ่มเป็น 43% ผ่านไปสิบสองปีเพิ่มเป็น 56% เรียกว่ารักษาไปรักษามากลายเป็นความดันเลือดสูงซะมากกว่าครึ่ง มาดูการเป็นเบาหวานก็ได้ ผ่านไปสี่ปีเป็นเบาหวาน 17%ผ่านไปแปดปีเพิ่มเป็น 20% ผ่านไปสิบสองปีเพิ่มเป็น 28% คือการแพทย์แผนปัจจุบันนี้รักษาคนไข้โรคหัวใจยิ่งทำกันไปก็ยิ่งสาละวันเตี้ย ลง พูดเป็นภาษาจิ๊กโก๋ก็คือ

“..วิธีการรักษาโรคหัวใจของการแพทย์แผนปัจจุบันที่ทำกันอยู่นี้มัน..ไม่เวอร์ค

คราวนี้มาดูงานวิจัยนี้นะ หมอคนนี้ชื่อ Caldwell Esselstyn เขาเป็นหมอทางด้านต่อมไร้ท่อ เขาได้ทำงานวิจัยโดยเอาคนไข้โรคหัวใจของเขามา 22 คน จับทุกคนสวนหัวใจฉีดสี ถ่ายรูปไว้หมด ว่าคนไหน หลอดหัวใจตีบที่หลอดเลือดเส้นไหน ตีบมากตีบน้อยแค่ไหน แล้วถ่ายรูปไว้ แล้วให้คนไข้เหล่านี้กินแต่อาหารมังสะวิรัต กินอยู่นาน 5 ปี แล้วเอาคนไข้ทั้งหมดกลับมาสวนหัวใจฉีดสีถ่ายรูปใหม่ แล้วเอารูปครั้งแรกและครั้งที่สองมาเปรียบเทียบกัน ก็พบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบของคนไข้เหล่านี้กลายเป็นโล่งขึ้น อย่างตัวอย่างคนไข้คนนี้ ก่อนเริ่มวิจัย ผลฉีดสีเป็นอย่างนี้ คือเวลาเราฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือดแล้วถ่ายเอ็กซเรย์ออกมาเป็นภาพยนตร์ ตัวสีจะเห็นเป็นสีขาวอย่างนี้ เวลาที่สีวิ่งผ่านจุดที่หลอดเลือดหัวใจมันตีบแคบหรือขรุขระ เนื้อสีสีขาวมันก็จะถูกบีบให้แคบและเห็นขอบขรุขระด้วยอย่างนี้ ส่วนภาพนี้เป็นผลการฉีดสีหลังจากกินมังสะวิรัติไปแล้วห้าปีจะเห็นว่ารอยตีบรอยขรุขระที่หลอดเลือดหายไป เหลือแต่ลำสีที่วิ่งได้เต็มหลอดเลือดตามปกติ

นี่เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกที่ยืนยันว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เรา เชื่อกันมาแต่เดิมว่าเป็นแล้วไม่มีทางหายนั้นไม่เป็นความจริง ผลการติดตามฉีดสีซ้ำนี้ยืนยันว่ามันหายได้ และในงานวิจัยของเอสเซลส์ทินนี้ ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้มันหายคือการปรับอาหารการกิน

จากศัลยแพทย์หัวใจ...กลายมาเป็นคุณหมอทั่วไป... เลิกรักษาคนไข้ด้วยการผ่าตัด ( ตอนที่1)

ผมเห็นงานวิจัยนี้ครั้งแรกผมทึ่งมาก ทั้งๆที่เขาทำไว้ตั้งสิบกว่าปีมาแล้ว แต่ผมเองเป็นหมอหัวใจผมกลับไม่ทราบเลย เห็นอย่างนี้ผมเชื่อแล้วว่าโรคหลอดเลือดหัวใจมันหายได้ แต่ผมยังมีข้อกริ่งเกรงอยู่ประเด็นหนึ่ง คือตัวผมเองก็เป็นนักวิจัย งานวิจัยที่ไม่ได้สุ่มกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่มไว้เปรียบเทียบกันนั้น จะสรุปเอาดื้อๆว่าหลอดเลือดตีบหายเพราะปรับอาหารย่อมไม่ได้ มันต้องมีงานวิจัยแบบเดียวกันที่เอาคนไข้มาสุ่มตัวอย่างเป็นสองกลุ่มแล้ว เปรียบเทียบกันดู จึงจะพิสูจน์ได้จะจะว่ามันหายเพราะปรับอาหารจริงหรือไม่

แล้วผมไม่ต้องรอนานเลย หมอคนนี้ชื่อ Dean Ornish เขาเป็นหมอหัวใจ เขาได้ทำงานวิจัยที่เอาไข้โรคหัวมาเกือบร้อยคนจับฉลากแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ใครจับได้เบอร์ดำ ไปเข้ากลุ่มควบคุมซึ่งไม่ต้องทำอะไรนอกจากใช้ชีวิตแบบที่เคยทำมาตามปกติ ใครจับได้เบอร์แดงไปเข้ากลุ่มที่ต้องปรับชีวิต คือต้องทำสามอย่าง ได้แก่ (1) ต้องกินอาหารมังสะวิรัติบวกปลา บวกนมไร้ไขมัน (2) ต้องออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 ครั้ง (3) ต้องจัดการความเครียดด้วยการทำสมาธิตามดูลมหายใจ หรือรำมวยจีน หรือโยคะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทุกวัน 

ก่อนเริ่มวิจัยก็เอาทุกคนทั้งสองกลุ่มมาสวนหัวใจฉีดสีถ่ายรูปหลอดเลือดไว้ก่อน พอครบหนึ่งปีก็เอามาสวนหัวใจฉีดสีถ่ายรูปอีก พอครบห้าปีก็เอาทุกคนมาสวนหัวใจฉีดสีถ่ายรูปอีก ผลวิจัยที่ได้ยืนยันงานวิจัยของเอสเซลส์ทีน คือ กลุ่มที่ปรับชีวิตรอยตีบที่หัวใจโล่งขึ้น ขณะที่กลุ่มที่อยู่เฉยๆรอบตีบเดินหน้าตีบแคบลง ผลการสวนหัวใจเมื่อห้าปีก็ยิ่งยืนยันว่ากลุ่มที่ปรับชีวิตรอยตีบก็ยิ่งโล่ง ขึ้นอีก กลุ่มที่อยู่เฉยๆรอยตีบก็ยิ่งตีบแคบลงอีก ต้องเจ็บหน้าอกบ่อยกว่า เข้าโรงพยาบาลบ่อยกว่า

มาถึงตรงนี้โรคหลอดเลือดหัวใจนั้นชัดแล้วว่ามันหายได้ด้วยการกินอาหารที่มี พืชเป็นหลัก ออกกำลังกาย และจัดการความเครียด 

 แล้วความดันเลือดสูงละ ผมได้ค้นคว้าต่อไปอีก ก็พบว่ามีงานวิจัยการลดความดันเลือดโดยไม่ใช้ยาทำไว้เป็นจำนวนมาก เรียกว่าเป็นหลักฐานที่ชัดเจน ผมสรุปมาให้ดูตรงนี้คือถ้าลดน้ำหนักได้ 10 กก. ความดันตัวบนจะลดลง 20 มิล ถ้ากินอาหารมังสะวิรัติบวกนมไร้ไขมันบวกปลาความดันตัวบนจะลดลง14 มิล ถ้าออกกำลังกาย ความดันตัวบนจะลดลง 9 มิล ถ้าเลิกกินเค็ม ความดันตัวบนจะลดลง 8 มิล ถ้าบวกสี่อย่างนี้เข้าด้วยกันความดันตัวบนก็จะลดลงได้มากโดยที่ไม่ต้องใช้ยา เลย

จากศัลยแพทย์หัวใจ...กลายมาเป็นคุณหมอทั่วไป... เลิกรักษาคนไข้ด้วยการผ่าตัด ( ตอนที่1)

คราวนี้โดยบังเอิญ ผมก็ไปพบงานวิจัยปรับชีวิตเพื่อรักษาเบาหวานเข้า งานวิจัยนี้เรียกว่างานวิจัย DPPRG เขาเอาคนที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 100 มา 3234 คน มาจับฉลากแบ่งเป็นสามกลุ่ม

 กลุ่มที่ 1. ให้ปรับชีวิตในสามประเด็นคืออาหาร ออกกำลังกายและจัดการความเครียด

 กลุ่มที่ 2. ให้กินยาเบาหวานซะเลยรู้แล้วรู้รอด

 กลุ่มที่ 3. ไม่ต้องทำอะไร ใช้ชีวิตไปตามปกติของตน แล้วตามดูคนพวกนี้ไปสี่ปี ดูว่าใครจะป่วยเป็นโรคเบาหวานมากกว่ากัน ผลเป็นอย่างนี้ครับ

กลุ่มที่ไม่ทำอะไรเลยเป็นเบาหวานมากที่สุด กลุ่มที่กินยาเบาหวานเป็นเบาหวานรองลงมา ส่วนกลุ่มที่ปรับชีวิตเป็นเบาหวานน้อยที่สุด น้อยกว่ากลุ่มแรกเกินสองเท่าตัว

ผมศึกษางานวิจัยถึงการปรับอาหารเพื่อลดไขมันในเลือดและลดการเป็นโรค เริ่มต้นผมก็มาสะดุดที่งานวิจัยขนาดใหญ่ของฮาร์วาร์ดอันนี้ 

ในงานวิจัยนี้ ฮาร์วาร์ดตามดูคนแปดหมื่นกว่าคนนาน 12 ปี เพื่อจะดูว่าการกินไขมันแบบไหนทำให้ป่วยและตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจมาก ที่สุด โดยใช้แคลอรี่ที่เท่ากันเป็นตัวเทียบ และเอาแคลอรี่จากอาหารคาร์โบไฮเดรตเป็นเกณฑ์มาตรฐาน พูดง่ายๆว่าเป็นงานวิจัยเทียบระดับความชั่วร้ายของไขมันชนิดต่างๆ ก่อนหน้านี้ผมมีความเข้าใจว่าน้ำมันหมู น้ำมันวัว หรือที่เรียกกันว่าไขมันอิ่มตัวนั้น เป็นไขมันที่ชั่วร้ายที่สุด แต่พอมาศึกษางานวิจัยนี้จึงรู้ว่าเข้าใจชีวิตผิดไปแล้ว

ผลของงานวิจัยนี้ ไขมันที่ชั่วร้ายที่สุดคือไขมันทรานส์ ทำให้ป่วยและตายมากกว่าคาร์โบไฮเดรตถึง 93% ชั่วร้ายกว่าน้ำมันหมูน้ำมันวัวที่ทำให้ป่วยและตายมากกว่าคาร์โบไฮเดรตสิบ กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น คือสรุปว่าไขมันทรานส์นี้ชั่วร้ายกว่าน้ำมันหมูหลายเท่า

ตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่าไขมันทรานส์นี่มันอะไรกันวะ เมื่อศึกษาเพิ่มเติมจึงได้ทราบว่าไขมันทรานส์นี้แต่ก่อนมันมีในอาหารของ มนุษย์เราน้อยมาก เพราะมันไม่มีอยู่ในธรรมชาติแต่เมื่อยี่สิบปีก่อนคนเราเกิดความกลัวน้ำมันหมูน้ำมันวัวแบบขี้ขึ้นสมอง คนก็หันไปหาน้ำมันพืชซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว เช่นน้ำมันถั่วเหลือง แต่ว่าน้ำมันไม่อิ่มตัวนี้มันเอามาทำอาหารอุตสาหกรรมไม่ได้ เพราะมันเหลวเละ อัดเป็นก้อนไม่ได้ ทำให้เป็นผงก็ไม่ได้ นักอุตสาหกรรมจึงเอาน้ำมันพืชมา แล้วใส่ไฮโดรเจนเข้าไปเพื่อให้โมเลกุลของมันมีความเสถียร ทำเป็นก้อนได้ ทำเป็นผงได้ น้ำมันที่ได้จากการใส่ไฮโดรเจนนี้เรียกว่าไขมันทรานส์ มันทำมาจากน้ำมันถั่วเหลืองก็จริง แต่มันกลายเป็นน้ำมันอีกอย่างไปแล้วคุณสมบัติมันเปลี่ยนไปแล้ว เหมือนคนเคยเป็นเสื้อเหลืองตอนนี้เปลี่ยนเป็นเสื้อแดง มันคนละเรื่องแล้ว แต่เมื่อสิบกว่าปีก่อนวงการแพทย์ยังไม่รู้ เราก็เอาไขมันทรานส์มาทำอาหารอุตสาหกรรมเช่นเนยเทียม ครีมเทียมใส่กาแฟ และเอามาทำ เค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบต่างๆ เหล่านี้แหละคือไขมันทรานส์

ผมถึงบางอ้อเลย เพราะผมดื่มกาแฟ “ทรีอินวัน” ใส่ครีมเทียมและน้ำตาลก้อนวันละหลายแก้ว มีคุ้กกี้ควบกับกาแฟเสมอ แถมกลับบ้านโซ้ยเค้กซาราลีเป็นมื้อเย็นอีก เรียกว่าผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ของไขมันทรานส์ ไขมันที่ชั่วร้ายที่สุดมาซะนานนะเนี่ย อุตส่าห์เลิกแคบหมูของโปรดนึกว่าจะได้ดี..ที่ไหนได้


   เมื่อคุณหมอทราบสาเหตุที่ทำให้เกิด หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง และ โรคอ้วน คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ จะทำอย่างไร???

โปรดติดตามตอนต่อไป

แชร์