ให้โอกาสและลดช่องว่าง "ผู้ป่วยจิตเวช"

แม้ว่าทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิตเวชในสังคมไทยมากขึ้น จะเห็นว่าคนไทยเปิดใจ เข้ารับการรักษากับจิตแพทย์กันเยอะขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาบางส่วนคือการยอมรับและโอกาสในการประกอบอาชีพ http://winne.ws/v9844

1.5 พัน ผู้เข้าชม

การยอมรับและโอกาสในสังคมไทย

          ถึงแม้ว่าทุกคนจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิตเวชในสังคมไทยมากขึ้น เราจะเห็นว่าคนไทยเปิดใจ เข้ารับการรักษากับจิตแพทย์กันเยอะขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางส่วน คือการยอมรับและโอกาสในการประกอบอาชีพ เพื่อให้มีรายได้และใช้ชีวิตในสังคมเหมือนคนทั่วไปได้ ติดตามจากรายงานของคุณศุภวิชช์ 

           ทุกวันนี้ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการป่วยทางจิตในสังคมไทยยังคงมีอยู่ ภาพจำว่าผู้ป่วยโรคจิตนั้น เป็นบุคคลอันตราย ที่มักจะทำร้ายตัวเอง หรือคนรอบข้าง ในภาวะคลุ้มคลั่ง ได้กลายเป็นทั้งกำแพง และตราบาปว่า ผู้ป่วยทางจิต ไม่อาจใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องเก็บตัวกับอยู่บ้าน ขณะที่บางรายมีโรงพยาบาลเป็นบ้านหลังที่ 2 

           ไม่ว่าจะเป็น โรคจิต ซึมเศร้า อารมณ์ 2 ขั้ว วิตกกังวล ล้วนเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำสมาธิ 

                                                                                                                                                             

 ตัวอย่าง 

           อุดม วิจิตพาวรรณ ผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ เคยทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อชีวิตพบจุดพลิกผัน ทำให้เขากลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชในที่สุด 

           อุดมเล่าถึงอาการที่ตัวเองต้องรับมือนั้น ตั้งแต่อาการ ลุกลี้ลุกลน หูแว่ว นอนไม่หลับ เครียดและวิตกกังวล ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้ว จนเข้ารับการรักษาที่สถาบันจิตเวช ขณะเรียนมหาวิทยาลัย แต่อาการกลับมากำเริบรุนแรงขึ้น เมื่อหยุดยาด้วยตนเอง 

           หลังจากนั้น เขาได้เข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ถึงแม้ อุดมจะถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้ป่วยจิตเวชสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ก็ไม่สามารถกลับไปทำงานตามเดิมได้ 

           มาวันนี้ อุดม มีรายได้จากการเป็นบารริสต้า พาร์ทไทม์ ในร้านกาแฟหลังคาแดง ซึ่งถือเป็นโครงการฝึกอาชีพ ของผู้ป่วยจิตเวชของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ทำให้มีรายได้ที่พอจะประทังชีวิตตนเองได้ 

                                                                                                                                                                

การดูแลจิตใจภายในครอบครัว

           การดูแลจิตใจซึ่งกันและกันภายในครอบครัว ด้วยการสังเกตอาการ รับฟังปัญหาอย่างใส่ใจ และอาจแนะนำให้เข้ารับการรักษาอย่างมีชั้นเชิงถือเป็นประตูบานแรกของการนำไปสู่การรักษา 

           แต่ทางที่ดีที่สุด คือการป้องกันการเกิดอาการจิตเวช ด้วยการใส่ใจเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ให้มีพัฒนาการในทุกด้าน ใส่ใจในปัญหาเล็กๆ น้อยๆ และป้องกันเหตุการณ์ที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เป็นคนที่มีสุขภาพจิตดีได้

ที่มา:     NOW26.TV     >     พิกัดข่าวทั่วไทย    /       วันที่ 07 พฤศจิกายน 2559

แชร์