บทความ Make It Clear “กฎหมายสี่ชั่วโคตร”อาจเป็นระเบิดเวลา ที่ให้โทษมากกว่าคุณ:พงศ์ บัญชา

การออกกฎหมายมาโดยไม่รอบคอบ หรือไม่รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ นอกจากจะไม่แก้ปัญหาเดิม ยังอาจไปเพิ่มเติมปัญหาใหม่ ตัวอย่างที่เห็น ๆ กัน ก็คือ พ.ร.ก.การบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 http://winne.ws/n18076

1.8 พัน ผู้เข้าชม
บทความ Make It Clear “กฎหมายสี่ชั่วโคตร”อาจเป็นระเบิดเวลา ที่ให้โทษมากกว่าคุณ:พงศ์ บัญชาขอบคุณภาพจาก สำนักข่าวทีนิวส์

บทความ Make It Clear  “กฎหมายสี่ชั่วโคตร” อาจเป็นระเบิดเวลา ที่ให้โทษมากกว่าคุณ

ถ้าสิบปีก่อน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. (ชุดที่แต่งตั้งโดย คมช. นะ ไม่ใช่ชุดปัจจุบันของ คสช.) ขยันเข้าประชุมมากกว่านี้สักนิดหน่อย ป่านนี้ เมืองไทยก็คงใสสะอาดปราศจากคอร์รัปชั่น เพราะมี “กฎหมายเจ็ดชั่วโคตร”ออกมาสกัดการทุจริต พวกผลประโยชน์ทับซ้อน-เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง-ยื่นหมูยื่นแมว-ฯลฯ ทั้งหลายแหล่ จะไม่มีให้เห็น จนต้องลำบาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ให้ต้องออกจากกรมกองมาทำงานการเมืองที่ตนเองไม่ถนัด และไม่อยากจะทำเลย จนผ่านมา 3 ปีเศษแล้ว

แต่สมาชิก สนช. ชุดนั้น ทำพลาดนิดเดียว แค่เข้าประชุมลงมติร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระที่สาม ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่จะเป็นชี้เป็นชี้ตายว่า กฎหมายใดจะออกมาบังคับใช้กับคนไทยทั้งประเทศ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “ไม่ครบองค์ประชุม” จนถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกไป 

ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะ สนช. ชุดนั้นมีกูรูกฎหมายระดับพญาครุฑอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ นั่งเป็นประธาน ขณะที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ วิษณุ เครืองาม รวมถึงเลขาธิการกฤษฎีกาเวลานั้น อย่างพรทิพย์ จาละ ก็นั่งร่วมประชุมอยู่ข้างล่าง ไม่น่าจะพลาดกับเรื่องง่ายๆ แค่องค์ประชุม

สำหรับผม กฎหมายเจ็ดชั่วโคตรก็ไม่ต่างจาก “กฎหมายในตำนาน” เพราะตั้งแต่เข้ามาเป็นนักข่าวสายการเมืองได้ใหม่ ๆ ก็ได้ยินนักข่าวรุ่นพี่หลายคนพูดถึงกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากขณะนั้นคำศัพท์ conflict of interests เพิ่งฮิตติดหูประชาชนและสื่อมวลชนได้ไม่นาน จากกรณีการขายหุ้นชินคอร์ป ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

รุ่นพี่นักข่าวคนหนึ่งเคยถามมีชัยว่า คำว่า “เจ็ดชั่วโคตร” นี่มันกินความกว้างแค่ไหน ปรากฏว่า ประธาน สนช. ในเวลานั้นถึงกับต้องขอปากกาและกระดาษมานั่งเขียนเป็นแผนผังว่าจะครอบคลุมถึงบุคคลใกล้ชิด “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง/เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ถึง 84 คน!

ความเข้มงวดของกฎหมายฉบับนั้น ทำให้ว่ากันว่า ถ้ามีญาติเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทั่งจะไปทำเรื่องขอใช้น้ำประปา ไฟฟ้า หรือโทรศัพท์ ก็อาจจะมีความผิดถึงขั้นติดคุก

และด้วยความเข้มงวดนี้เอง ที่ทำให้หลังจากถูกตีตกไปในปี 2551 แม้จะมีบางฝ่ายเสนอให้หยิบมาพิจารณาใหม่ ก็ไม่มีใครดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะนักการเมืองก็ไม่อยากได้ ข้าราชการก็ไม่เอา

กระทั่ง เมื่อมีการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ซึ่งแน่นอนว่า หนึ่งในเหตุผลอาจรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลชุดก่อน ๆ กฎหมายนี้จึงถูกปลุกผีมาอีกครั้ง โดยมีการถกเถียงเรื่องเครือข่ายของผู้มีอำนาจที่ห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อนกลับไปกลับมา ว่าจะเจ็ดชั่วโคตร สี่ชั่วโคตร หรือสามชั่วโคตรดี ที่สุดก็ลงตัวที่ “สี่ชั่วโคตร” กลายมาเป็นพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... ซึ่งที่ประชุม สนช. เพิ่งมีมติรับหลักการในวาระแรกไปด้วยคะแนน 150 เสียง เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา

สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ คือห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ “กระทำการอันมีลักษณะเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม” ทั้งการกำหนดนโยบาย การออกกฎหมาย การให้ข้อมูลภายใน การริเริ่มโครงการ การอนุมัติ อนุญาต ให้สัมปทาน ฯลฯ โดยกำหนดอัตราโทษของการฝ่าฝืนไว้สูงสุดที่จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

แต่หากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย โทษจะถูก “คูณสอง”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะสร้างปัญหาในอนาคต ก็คือการกำหนดนิยามของคำว่า “ญาติ” ทั้ง 4 ชั่วโคตร อันเป็นที่มาของชื่อกฎหมาย ทั้งบุพการี คู่สมรส พี่น้อง และบุตร เพราะในร่างกฎหมายยังมีคำว่า “ผู้สืบสันดาน” ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำ ๆ นี้อาจหมายรวมถึง ลูก หลาน เหลน ลื่อ ซึ่งไกลกว่าแค่ 4 ชั่วโคตรแน่ ๆ

กระทั่งในเอกสารการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานราชการด้วยกันเอง ก็ยังมีเสียงท้วงติงในเรื่องนี้ นิยามของคำว่า “ญาติ” ที่ยังไม่ชัดเจน เช่นเดียวกับความเป็นห่วงจากสมาชิก สนช.จากภาคธุรกิจ ที่มองว่าหากเขียนนิยามให้กว้างเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาในการเข้ามาทำงานร่วมกับภาคเอกชน

แน่นอนว่า กฎหมายที่ออกมาเพื่อขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ทุกคนย่อมจะต้องสนับสนุนอยู่แล้ว แต่การออกกฎหมายมาโดยไม่รอบคอบ หรือไม่รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ นอกจากจะไม่แก้ปัญหาเดิม ยังอาจไปเพิ่มเติมปัญหาใหม่ ตัวอย่างที่เห็น ๆ กัน ก็คือ พ.ร.ก.การบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่ต้องใช้มาตรา 44 เลื่อนการใช้บังคับออกไปอีกครึ่งปีนั่นแหล่ะ

กฎหมายที่ออกมาด้วยเจตนาที่ดี ใช่จะสร้างผลลัทธ์ที่ดีได้เสมอไป

cr.พงศ์ บัญชา คอลัมนิสต์อิสระ

 

อ่านเพิ่มเติม

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนร่วม  พ.ศ....

ที่มา: https://www.voicetv.co.th/blog/516532.html

แชร์