รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงคำพิพากษาของศาลฎีกา กรณีอดีตนายกฯ"ยิ่งลักษณ์"

วันที่ 28 ก.ย. 60 นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่พิพากษาจำคุกน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 195 วรรค 4 มีสิทธิอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน http://winne.ws/n19255

1.1 พัน ผู้เข้าชม
รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงคำพิพากษาของศาลฎีกา กรณีอดีตนายกฯ"ยิ่งลักษณ์"

วันที่ 28 ก.ย. 60 นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่พิพากษาจำคุกน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 195 วรรค 4 มีสิทธิอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา ดังนั้นคดีนี้จึงยังไม่ถึงที่สุด ซึ่งตนสนับสนุนให้ใช้สิทธิต่อสู้คดีด้วยการอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อให้ข้อเท็จจริงและะข้อกฎหมายสมบูรณ์ที่สุด แต่มีประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องมาปรากฏตัวเพื่อยื่นอุทธรณ์เองหรือไม่ ซึ่งตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 18 วรรคสอง ระบุว่า 

นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราบบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กระบวนการพิจารณาในศาลให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ ซึ่งในมาตรา 198 วรรคสาม ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2559 บัญญัติว่า ในกรณีที่ตามคำพิพากษาจำเลยต้องรับโทษจำคุก หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น และจำเลยมิได้ถูกคุมขัง จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล ในข๊ะที่ยื่นอุทธรณ์ มิเช่นนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ดังนั้นหากจะยื่นอุทธรณ์น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเดิม ที่ใช้มาตรฐานเดียวกับประชาชนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องรอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด

นายราเมศ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า คดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอายุความ 10 ปี ว่า เร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องนี้เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด แต่ตนมีความเห็นแย้งนายวิษณุ เพราะเรื่องอายุความไม่จำเป็นที่อ้างว่าต้องรอกฎหมายนั้น เนื่องจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1 ซึ่งศาลฎีกาฯให้ลงโทษตามมาตรา 123/1 โดยในกฎหมายฉบับดังกล่าวมีการระบุไว้ในมาตรา 74/1ว่า

ไม่ให้นับเวลาที่จำเลยหลบหนีเป็นอายุความ ดังนั้นถ้าคดีถึงที่สุดว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องหนีตลอดชีวิต เพราะหากกลับมาประเทศไทยก็ต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เนื่องจากความผิดตามคดีนี้ไม่มีอายุความ ทั้งนี้ตนเห็นว่าหากคนในรัฐบาลคสช.จะพูดเพื่อให้ใครสบายใจอย่าพูดดีกว่า ขอให้ปล่อยไปตามครรลองของกฎหมาย ไม่เช่นนั้นสังคมจะเกิดความไขว้เขว ทั้งนี้เห็นว่า นายวิษณุ เป็นคนที่มีวิชาความรู้ทางกฎหมายมาก จึงน่าจะทราบว่าหลักเกณฑ์กฎหมายเรื่องอายุความเป็นอย่างไร หากแสดงความเห็นที่ขัดแย้งกับหลักดังกล่าวก็จะทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าให้ความเห็นทางกฎหมายเช่นนี้เพื่ออะไร

ที่มา: http://www.siamrath.co.th/n/24138

แชร์