หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๑๐๕ ) อิทธิพลของคำพูด

ผู้นำที่ดี ต้องศึกษาวิชาอักษรศาสตร์ให้แตกฉาน เพราะ จะต้องสามารถสื่อสารทั้งการพูด การเขียนให้ผู้อื่นเข้าใจได้” http://winne.ws/n19288

982 ผู้เข้าชม
หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๑๐๕ ) อิทธิพลของคำพูด

ขณะที่นั่งฉันเช้าเมื่อวานนี้ เห็นมีข่าวของผู้นำสหรัฐอเมริกาว่า ในระยะหลังมักจะมีปัญหาเรื่องคำพูด ทั้งการวิพากย์ วิจารณ์ ทีมอเมริกันฟุตบอล ทั้งการพูดจาที่ไม่ค่อยเหมาะสมต่อนายกเทศมนตรีของเมืองซาน ฮวน ของเปอร์โตริโก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของผู้นำเสียหายอย่างมาก

      พระน้อง ๆ ได้สอบถามว่า ในเรื่องของคำพูด หลวงพ่อได้เคยสอนไว้ว่าอย่างไรบ้าง จึงได้ถือโอกาสแนะนำไปว่า ในเรื่องนี้ หลวงพ่อทั้งสองได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยหลวงพ่อทัตตชีโว ได้เคยสอบถามอาตมาว่า 

      “เอ็งรู้ไหมว่า การเป็นผู้นำ จะต้องศึกษาวิชาอะไร”

      ซึ่งอาตมาก็ตอบไปสารพัด ทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สารพัดศาสตร์ หลวงพ่อก็บอกไม่ใช่ จนในที่สุดท่านก็เฉลยว่า

      “ผู้นำที่ดี ต้องศึกษาวิชาอักษรศาสตร์ให้แตกฉาน เพราะ จะต้องสามารถสื่อสารทั้งการพูด การเขียนให้ผู้อื่นเข้าใจได้”

      ดังนั้นในช่วงที่อาตมาเป็นพระพี่เลี้ยงสามเณร หลวงพ่อทัตตชีโว จึงให้เคี่ยวเข็นสามเณรให้หัดเขียนกลอน หัดบันทึกประจำวัน จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ หลายรูปกลายเป็นนักเขียน นักเทศน์ นักจับประเด็นสมดังใจของหลวงพ่อ

หลวงพ่อสอนอะไร(ตอนที่ ๑๐๕ ) อิทธิพลของคำพูด

      

       ส่วนหลวงพ่อธัมมชโย เคยให้ข้อคิดไว้ สมัยที่ไปนั่งธรรมะที่ดอยสุเทพ หลวงพ่อเคยบอกว่า

      “หลายคนบอกว่า เขาเป็นคนตรง มีอะไรก็พูดตรง ๆ ซึ่งความจริงการพูดตรง เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องคำนึงถึงวิธีการด้วย เหมือนการให้ของ หากเราจะให้ของกับใคร แต่ใช้วิธีการที่ต่างกัน ก็มีผลต่อผู้รับ เช่น ขว้างให้ ,โยนให้ หรือ ยื่นให้ แม้เป็นการให้เหมือนกัน แต่มีผลต่อความรู้สึกที่แตกต่างกัน...”

      จากข้อคิดที่หลวงพ่อทั้งสองได้ให้ไว้ จะเห็นได้ว่า หากเราระมัดระวังคำพูดแล้ว ก็ย่อมจะทำให้เกิดผลดีต่อตนเองและหมู่คณะ แต่ในทางตรงกันข้ามหากไม่รู้จักการกรองคำพูด ก็อาจจะเป็นการทำลายตนเอง และหมู่คณะให้ย่อยยับได้

       เพราะคำพูดมีอิทธิพลอย่างนี้ คนโบราณจึงให้ข้อคิดไว้ว่า “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่ในหมู่มิตรให้ระวังวาจา”


อาสภกันโต ภิกขุ

๑ ต.ค. ๖๐

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากhttp://anacaricamuni.blogspot.com/2017/09/blog-post_30.html?m=1

แชร์