สกู๊ปพิเศษ I เสด็จสู่แดนสรวง..คติ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ
ห้วงเวลาแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างความโศกเศร้าอาดูรแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างยิ่ง แม้ต่างก็รับรู้ว่าการพรากจากเป็นธรรมดาของโลกตามนัยแห่งศาสนา http://winne.ws/n19420
ห้วงเวลาแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างความโศกเศร้าอาดูรแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างยิ่ง แม้ต่างก็รับรู้ว่าการพรากจากเป็นธรรมดาของโลกตามนัยแห่งศาสนาที่เชื่อมร้อยอยู่กับวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีในทุกด้าน เฉพาะด้านการศึกษา ได้ทรงประกอบ พระราชกรณียกิจนานัปการ ก่อประโยชน์สุขต่อพสกนิกรผ่านโครงการน้อยใหญ่หลายพันโครงการเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความผาสุก ซึ่งในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "ผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาอย่างหาที่สุดมิได้ ทั้งทรงมีพระปรีชาสามารถในสรรพวิทยาการด้านต่างๆ จนเป็นที่ประจักษ์แจ้ง ทั้งต่อพสกนิกรชาวไทย และในนานาอารยประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กว่า 6 ล้านคน มีครูผู้สอนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน กว่า 4 แสนคน ได้ตระหนักในบทบาทในฐานะที่ใช้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อการเรียนรู้
ในห้วงเวลาอันโทมนัสนี้ สพฐ.ได้พิจารณาเห็นว่าข่าวและเหตุการณ์อันเนื่องด้วยพระบรมศพและพระเมรุมาศ ที่นักเรียนและครูได้ติดตามจากแหล่งข่าวต่างๆ อย่างต่อเนื่องแล้วนั้น ยังมีความคิดความเชื่อขนบธรรมเนียม ประเพณีที่เกี่ยวข้องอยู่มาก ที่พึงเรียนรู้เพื่อความเข้าใจที่ลุ่มลึกมากขึ้น จึงได้ประสานกับคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม มานุษยวิทยา เพื่อเขียนเรียบเรียงข้อมูล และรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ ด้วยมุ่งหมายให้เป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับครูผู้สอน
ในการดำเนินการนั้น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประสานผู้เขียนบทความ ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก ด้วยเหตุที่ผู้เขียนแต่ละท่านได้เขียนจากข้อความรู้และประสบการณ์ที่ต่างได้ศึกษาและสั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ภาพประกอบหลายภาพ ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ไม่อาจพบเห็นได้ง่ายตามสื่อทั่วไป จึงนับได้ว่าจะเป็นประโยชน์กับการขยายพรมแดนความรู้ออกไปอย่างกว้างขวาง ในอนาคตยังจะสามารถพัฒนาไปเป็นสื่อ และเอกสาร สำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อีกมาก
เสด็จสู่แดนสรวง เป็นหนังสือความหนากว่า 400 หน้า ประกอบด้วยบทความ ที่มีการแบ่งเป็นบท เป็นตอนให้มีความอิสระต่อกัน บทละประมาณ 15-20 หน้า ผู้อ่านสามารถเลือกศึกษาบทความต่าง ๆ ได้ตามความสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องอ่าน เรียงลำดับบทความ ประกอบกับแต่ละบทมีภาพประกอบที่จะช่วยทำให้เข้าใจเรื่องราวได้มากขึ้น รวมทั้งครูผู้สอน ก็สามารถเลือกข้อความหรือภาพ ไปใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย
...จึงอาจกล่าวได้ว่าหนังสือ เสด็จสู่แดนสรวง เล่มนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สังคมของไทย ...ความตอนหนึ่งจากคำนำหนังสือโดยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)
การรังสรรค์มรดกทางปัญญาในรูปแบบหนังสือ "เสด็จสู่แดนสรวง : คติ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ" เล่มนี้เนื้อหาภายในถูกปรับให้เหมาะกับครูผู้สอนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาโดยผ่านคณะที่ปรึกษาในรายละเอียดต่าง ๆ จึงเป็นเอกสารที่มีคนอ่านพิจารณา จำนวนมากและหลายรอบเพื่อความสมบูรณ์ที่สุด
เนื้อหาภายในอุดมด้วยองค์ความรู้ชนิดที่เรียกว่า อะไรที่ไม่เคยรู้ก็จะได้รู้ อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น บางเรื่องเคยได้ยินได้ฟังผู้ใหญ่เล่าขาน มาวันนี้ก็จะได้รู้...และร่วมดำเนินไปในประวัติศาสตร์ของชาติด้วยกัน
ดังความในบทบรรณาธิการ โดย ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ว่า "จากจุดจบ...สู่จุดเริ่มต้น"
"เนื้อหาจะลำดับจากเวลาทางประวัติศาสตร์ และขั้นตอนพิธีพระบรมศพ กล่าวคือบทความเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องคติความเชื่อเกี่ยวกับความตายจากสมัยบรรพกาล มาจนถึงงานพระบรมศพและพระเมรุในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยประเด็นร่วมกันของทุกบทความ คือความพยายามในการอธิบายถึงคติความเชื่อเกี่ยวกับความตายดั้งเดิมของคนในภูมิภาคนี้ ที่ผสมผสานเข้ากับความเชื่อจากอินเดีย และต่อมาได้ผสมผสานเข้ากับความเชื่อทั้งจากจีนและตะวันตก ซึ่งในท้ายที่สุดได้ตกทอดมาเป็นพระราชพิธีพระบรมศพและพระเมรุมาศดังที่เห็นในทุกวันนี้"
19 ทรรศนะต่องานพระบรมศพและพระเมรุ
บทความ 19 เรื่องในหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดยนักวิชาการรุ่นใหม่ และผู้เชี่ยวชาญสาขาประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาษาไทย และวรรณคดี ทำให้มุมมอง และวิธีวิทยาในการศึกษา เรื่องงานพระบรมศพและพระเมรุมาศนั้นมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ในภาพรวมแล้วเนื้อหาทั้งหมดมีความสอดคล้องกัน และนำเสนอประเด็นหลายอย่างน่าสนใจ ซึ่งไม่สามารถหาอ่านได้ง่ายนักจากหนังสือทั่วไป
แม้อาจจะมีบางท่านคิดว่า บทความบางเรื่องในหนังสือเล่มนี้ มีเนื้อหาที่หนักเกินไป ไม่เหมาะสำหรับการศึกษาระดับโรงเรียน แต่ทว่ากลับเหมาะที่จะเป็นตำราเรียนนอกเวลา เข้ากับยุคการเรียนรู้ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้"เป็นอย่างยิ่ง
ณ ที่นี้ขอหยิบยกมากล่าวถึง เรื่อง "พระเมรุ และราชรถ" ส่วนสำคัญของงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2560
ในบทความเรื่อง กระบวนทัศน์ที่แปรเปลี่ยนในการออกแบบพระเมรุในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยอาจารย์ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะนักวิจัยได้รวมรวบข้อมูลและนำเสนอว่า "พระเมรุ ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ใช้สำหรับการประกอบงานพระบรมศพ และพระศพเท่านั้น หากยังเป็นการแสดงออกถึงพระราชอำนาจ และส่งเสริมความเป็นกษัตริย์ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ไปพร้อมกัน"
ด้วยเหตุนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงจำเป็นต้องมีการจัดพระราชพิธีพระบรมศพพระชนกนาถ ของพระองค์ ครั้นเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4 สถาปัตยกรรมพระเมรุมาศได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฝ่ามือ ตัวอย่างเช่นพระเมรุบางหลัง เช่นของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภัควดี ที่สร้างปราสาทอยู่บนภูเขาจำลอง แทนเขาพระสุเมรุที่ดูสมจริง
นอกจากนี้แล้วรูปแบบของสถาปัตยกรรมพระเมรุ ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงอีกประการหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 คือออกแบบพระเมรุทรงบุษบก หรือมณฑปขึ้น ซึ่งต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า สวรรคต เหล่าเสนาบดี จึงได้ตัดสินใจสร้างพระเมรุของรัชกาลที่ 5 เป็นทรงบุษบก ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบให้กับพระเมรุมาศสมัยหลัง ดังเช่น พระเมรุของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้พระเมรุทรงบุษบก ได้กลายเป็นพระเมรุเฉพาะของพระเจ้าแผ่นดินแทน ที่พระเมรุทรงปราสาทยอดปรางค์
บทความต่อเนื่องที่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนควรได้รู้เป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนถึงวันพระราชพิธีสำคัญ วันที่ 26 ตุลาคม 2560
"ราชรถในงานพระบรมศพ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์"
จากเรื่องราวกระบวนพระบรมศพกษัตริย์สมัยอยุธยาที่อัญเชิญด้วยราชรถ ถูกถ่ายทอดโดย นายยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ประจำกรมศิลปากร เป็นบทความอธิบายรูปแบบทางศิลปะของพระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตราชรถ และราชรถองค์อื่น ๆ ซึ่งต่างแฝงไปด้วย ประวัติศาสตร์การสร้างและคติความเชื่ออย่างละเอียดลออ
...เพราะไม่เพียงราชรถจะเป็นสัญลักษณ์ ของกษัตริย์ที่เปรียบเสมือนกับพระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราชเท่านั้น หากแต่ยังสัมพันธ์กับคติความเชื่อในพระพุทธศาสนาด้วย โดยเฉพาะพระมหาพิชัยราชรถ ที่มีชื่อปรากฏในคัมภีร์ ทางพระพุทธศาสนาที่ต้องการสื่อความหมาย ถึงการชนะสงครามอันยิ่งใหญ่ คือ "กิเลส"
ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวได้ว่าการอัญเชิญพระบรมศพบนพระมหาพิชัยราชรถ ก็คืออัญเชิญพระผู้ปราบมาร คือ "พระพุทธเจ้า"
หากยังตั้งคำถามว่าหนังสือนี้มีประโยชน์อย่างไร ก็บอกได้ว่าเหมาะที่จะนำไปถอดบทเรียนจัดกิจกรรมเสริมความรู้ให้นักเรียน, หรือนักเรียนค้นคว้าทำรายงานต่อยอดเพิ่มเติมจากข้อมูลที่แหล่งข่าวนำเสนออยู่แล้ว หรือใช้ประกอบการจัดป้ายนิเทศ/นิทรรศการในช่วงงานพระราชพิธี หรือแล้วแต่ครูผู้สอนจะสร้างสรรค์กิจกรรมอื่น ๆ ที่สามารถออกแบบได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการ กพฐ.รักษาราชการแทนเลขาธิการ กพฐ. เผยว่า หนังสือ เสด็จสู่แดนสรวง จัดพิมพ์จำนวน 20,000 เล่ม และจัดส่งให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งประถมและมัธยมทั่วประเทศ เพื่อให้โรงเรียนถ่ายทอดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์นี้แก่นักเรียน อีกส่วนหนึ่งจะจัดส่งไปยังหอสมุดแห่งชาติ และห้องสมุดของมหาวิทยาลัย แม้จะไม่ได้ครบทุกโรงเรียน แต่ สพฐ.ก็จัดทำหนังสือเล่มนี้ในรูปแบบอีบุ๊ค และไฟล์ PDF ให้สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ สำนักวิชาการ สพฐ. http://academic.obec.go.thและลิงก์ https://goo.gl/7drtqf เพื่อประโยชน์ในวงกว้างต่อการศึกษาหาความรู้แก่ประชาชนทั้งปวง
"สิ่งสำคัญที่ผู้อ่านจะได้รับจากหนังสือเล่มนี้ คือ ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ไทย ขนบธรรมเนียม ประเพณี และพระราชพิธีพระบรมศพพระมหากษัตริย์ หรืองานพระศพกษัตริย์ประเทศเพื่อนบ้านด้วย" นายบุญรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย
เสด็จสู่แดนสรวง : คติ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ
---------------------
** ข้อมูล-ภาพประกอบเรื่องจากหนังสือ "เสด็จสู่แดนสรวง : คติ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ" และทีมช่างภาพสยามรัฐ