ธรรมะมีค่าดั่งทอง ...

หากคนเราได้ศึกษาธรรมะ ได้เรียนรู้คำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำหลักธรรมคำสอนนั้นมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน รับรองได้ว่าชีวิตของเราประสบความสุขความสำเร็จแน่นอน ดังชาดกเรื่อง “กาญจนักขันธชาดก” … http://winne.ws/n20150

1.1 พัน ผู้เข้าชม
ธรรมะมีค่าดั่งทอง ...

กาญจนักขันธชาดก - ธรรมะมีค่าดั่งทอง …

ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสีมีชายชาวนาผู้ขยันคนหนึ่ง ได้จับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อถากถางเป็นที่นาของตน ซึ่งที่ดินแห่งนี้เมื่อในอดีตเคยเป็นที่ตั้งบ้านของเศรษฐีผู้มาก่อน 

       ชายหนุ่มได้ออกไปไถนาทุกวัน  วันหนึ่งขณะที่กำลังไถนาอยู่นั้น ผาลไถ (เหล็กสำหรับสวมหัวหมูเครื่องไถ) ก็ไปสะดุดติดอยู่กับของแข็ง ๆ ท่อนหนึ่งในดิน วัวที่เทียมไถไม่สามารถลากต่อไปได้จึงหยุดยืนนิ่งอยู่กับที่ เมื่อแรกเขาคิดว่าเป็นรากไม้ จึงเอามือขุดคุ้ยก้อนดินดูแต่กลับเป็นแท่งทองคำขนาดใหญ่ฝังอยู่ในดิน ทองคำแท่งนี้เศรษฐีเจ้าของบ้านคนเดิมได้ฝังซ่อนไว้ แล้วอพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่นกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า

       ขณะนั้นเพิ่งจะบ่าย ยังมีเวลาเหลืออีกมากชาวนาผู้รักงานจึงค่อย ๆ ทำงานต่อ แล้วโกยดินกลบท่อนทองคำไว้ดังเดิมจนกระทั่งโพล้เพล้ เขาจึงหยุดทำงาน แล้วย้อนกลับไปยังที่ฝังแท่งทองคำ คุ้ยดินออกตั้งใจจะแบกกลับบ้าน แต่ทองมีน้ำหนักมากแบกไปไม่ไหวเขาจึงคิดที่จะแบ่งแท่งทองนี้ออกเป็นสี่ส่วน ส่วนที่ ๑ ขายนำทรัพย์มาเลี้ยงชีพ ส่วนที่ ๒ ฝังไว้ที่เดิมเก็บไว้ยามขัดสน ส่วนที่ ๓ เป็นทุนค้าขาย ส่วนที่ ๔ ทำบุญให้ทาน

       เขาจึงตัดทองคำออกแบกกลับบ้านคราวละท่อน ๆ นำไปใช้ตามจุดประสงค์นั้น โดยไม่มีความกังวลว่า ทองคำส่วนที่กลบดินจะสูญหายหรือไม่แต่เพื่อความไม่ประมาท ชาวนาจึงไม่ปริปากแพร่งพรายเรื่องนี้ให้ใครทราบแม้แต่กับลูกเมีย ยิ่งกว่านั้นแม้แต่การจับจ่ายภายในบ้าน ก็ยังให้เป็นไปตามปกติจนไม่มีใครล่วงรู้เบื้องหลังในความเป็นผู้มั่งมีของเขาเลย เข้าใจเอาเองว่าเป็นเพราะความขยันขันแข็งในการทำงานของเขา

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสพระคาถาว่า...

นรชนใด มีจิตร่าเริงแล้ว มีใจเบิกบานแล้วบำเพ็ญธรรมเป็นกุศล เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ นรชนนั้นพึงบรรลุความสิ้นสังโยชน์ทุกอย่างได้โดยลำดับ

ครั้นแล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า"ชาวนา" ได้มาเป็นพระองค์เอง

 

ข้อคิดจากชาดก

๑. ผู้ที่เป็นครูอาจารย์ต้องศึกษาอัธยาศัยของผู้รับคำสอนเสียก่อน แล้วพลิกแพลงวิธีการ

     ให้เหมาะสม มิฉะนั้นจะกลายเป็นยัดเยียดคำสอน อย่างไรก็ดี ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม

     โดยฝึกคุณสมบัติ ๔ ประการ คือ

                                      (๑)  แตกฉานในการขยายความ

                                      (๒)  แตกฉานในการย่อความ

                                      (๓)  แตกฉานในการพูดโน้มน้าวให้สนใจ

                                      (๔)  มีปฏิภาณไหวพริบในการถามและตอบปัญหา

๒. ถ้าต้องการให้งานใหญ่สำเร็จต้องรู้จักแบ่งงานเป็นส่วนย่อย

๓. ผู้นำต้องฉลาดในการเก็บความลับด้วยเรื่องบางอย่างบอกใครไม่ได้

 

ขอขอบคุณ : dhammatharn

https://sites.google.com/site/dhammatharn

แชร์