สังคมอุดมคติประเทศไทยจาก อดีต-ปัจจุบัน

คนไทยฝันถึง สังคมที่มีความมั่นคง สังคมที่มีความเจริญก้าวหน้า สังคมที่มีความปลอดภัย และสังคมที่มีพื้นที่สำหรับลูกหลานของตนในอนาคต แม้จะไม่ถึงขั้นสังคมอุดมสุขอย่างที่เคยนึกฝันก็ตาม http://winne.ws/n241

4.0 พัน ผู้เข้าชม

ขอบคุณภาพจากwww.google.com

สังคมอุดมคติประเทศไทยจาก อดีต-ปัจจุบัน

นับแต่อดีตกาลมาแล้วที่มนุษย์มีความคิดว่าสังคมในอุดมคติของตนควรจะเป็นเช่นไร ในระยะแรกก็คงต้องการเพียงความอุดมสมบูรณ์ มีข้าวปลาอาหารเพียงพอกับการบริโภค ดังคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ในสมัยสุโขทัย ระยะต่อมาก็คงหวังจะให้เป็นสังคมที่มีความมั่งคั่งร่ำรวย หรือรุ่งเรืองเช่นในวรรณกรรม ดังเช่น เมืองอโยธยาของพระราม ในเรื่องรามเกียรติ์ ถัดมาก็ต้องการความยิ่งใหญ่ ทำให้เกิดการแผ่อำนาจเข้าครอบครองดินแดนและทรัพยากรของผู้อื่น จนเกิดความขัดแย้งที่ลุกลามกลายเป็นสงครามใหญ่ และจบลงด้วยการเรียกร้องหาเอกราชและสันติภาพ

             ในทางการเมืองการปกครอง มนุษย์ก็มีภาพของสังคมในอุดมคติที่แตกต่างกันไปแต่ละประเทศแต่ละยุคแต่ละสมัย ทั้งสังคมแบบสมมุติราช ที่กษัตริย์เป็นเหมือนพระเจ้าที่จะประทานความสุข ความสำเร็จ หรือความตาย แก่คนทั่วไป ต่อมาก็เกิดแนวคิดในเรื่องความเสมอภาค เช่นในยุคของกรีกโบราณ แนวคิดที่จะมีผู้นำที่เข้มแข็ง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ และเกียรติภูมิของชาติ แนวคิดเรื่องเสรีภาพ แนวคิดเรื่องประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการปกครอง แนวคิดเรื่องการเท่าเทียมกันในสังคม เป็นต้น

             สังคมมนุษย์ในอดีตเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ดังนั้น จึงไม่เป็นการยากในการที่จะทำให้คนในสังคมเดียวกันมีความคิดที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกัน แต่ในปัจจุบันสังคมมีความใหญ่โต มีผลประโยชน์เกี่ยวพัน มีความหลากหลายทางความคิด จนขาดความเป็นเอกภาพ และกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในหลาย ๆ เรื่อง

             ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มนุษย์เริ่มตระหนักถึงหายนะที่เกิดจากสงคราม และหาทางป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาอีก มนุษย์ปรารถนาจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ขจัดความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ขจัดความยากจน และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ความขัดแย้งในหลาย ๆ เรื่อง ก็ยังคงดำเนินอยู่แทบทุกภูมิภาค เช่นเรื่องดินแดน เรื่องชาติพันธุ์ ในทวีปแอฟริกา อันเป็นผลพวงจากการกระทำของเจ้าอาณานิคมในอดีต ความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรในเอเชีย ความขัดแย้งในแนวคิดทางการเมือในหลายประเทศ และความขัดแย้งทางศาสนาในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งเหล่านี้ หลายครั้งที่กลายเป็นความรุนแรง สงครามกลางเมือง การก่อวินาศกรรม และการทำลายล้างผู้ที่มีแนวคิดแตกต่างไปจากตนอย่างไร้มนุษยธรรม จนทำให้เกิดความวิตกกังวลถึงสงครามใหญ่ครั้งใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ จากความเปราะบางของความอดทนต่อสภาพของสังคมโลกในปัจจุบัน

             ถ้าถามคนในสังคมทุกวันนี้ ว่าสังคมในอุดมคติของพวกเขาควรจะเป็นเช่นไร ? เชื่อแน่ว่าคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้รับ ก็คือ เป็นสังคมที่มีความมั่นคง สังคมที่มีความเจริญก้าวหน้า สังคมที่มีความปลอดภัย และสังคมที่มีพื้นที่สำหรับลูกหลานของตนในอนาคต แม้จะไม่ถึงขั้นสังคมอุดมสุขอย่างที่เคยนึกฝันก็ตาม

             แนวคิดเช่นนี้ คงเป็นไปได้ยาก หากคนในสังคมยังคงยึดถือแนวคิดของตนเป็นสำคัญ โดยไม่สนใจแนวคิดที่แตกต่างและมองเห็นผู้อื่นที่มีแนวคิดไม่เหมือนตนเป็นฝ่ายผิด โดยไม่พิจารณาในสิ่งที่ตนคิดไม่เหมือนผู้อื่นแม้แต่น้อย

แชร์