Nap is Now เมื่อโลกมันน่าเหนื่อย

หนึ่งในศัพท์ฮิตของประเทศจีนในปี 2018 ก็คือคำว่าฝอซี่ (佛系) ซึ่งมีความหมายทางตรงว่าพุทธศาสนา http://winne.ws/n25758

1.6 พัน ผู้เข้าชม

     หนึ่งในศัพท์ฮิตของประเทศจีนในปี 2018 ก็คือคำว่าฝอซี่ (佛系) ซึ่งมีความหมายทางตรงว่าพุทธศาสนา  

     คำๆ นี้นำมาใช้เรียกคนรุ่นใหม่ที่ทำตัวเหมือนพระพุทธเจ้า (Young Buddha) ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง โดยเน้นที่ภาพความปล่อยวางและหลุดพ้นของพระพุทธเจ้ามากกว่าการมุ่งหมายในการปฏิบัติตามคำสอนเพื่อหลุดพ้นอันใด 

Nap is Now เมื่อโลกมันน่าเหนื่อย

     “คนที่เป็นฝอซี่ไม่มีเป้าหมายในหน้าที่การงาน ดังนั้นจึงไม่มีความกังวลว่าจะไม่บรรลุเป้าหมาย พวกเขาโพสต์ข้อความทางวีแชตแต่ไม่สนว่าจะมีกี่คนมากดไลค์ ไม่สนว่าจะกินอะไรเป็นอาหารกลางวันหรืออาหารเย็นเพราะอาหารก็เป็นเพียงอาหาร”      ไม่แปลกที่ฝอซี่จะกินอาหารเหมือนเดิมทุกวัน

     “ถ้าสั่งกางเกงจากเถาเป่า (ร้านขายสินค้าออนไลน์) แล้วได้ถุงเท้ามาแทน พวกเขาก็เพียงเก็บเอาไว้ เพราะการโต้เถียงและร้องเรียนนั้นน่าเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะคิด”

     “ยอมรับในสิ่งที่ (คิดว่า) เปลี่ยนแปลงไม่ได้และปล่อยไปตามลม”

Nap is Now เมื่อโลกมันน่าเหนื่อย

ไม่คาดหวัง ไม่ผิดหวัง

     ข้อดีของการเป็นฝอซี่ก็คือ คุณสามารถอยู่ได้ท่ามกลางเจ้านายโรคประสาทและเพื่อนร่วมงานเหวี่ยงวีน พูดง่ายๆ ก็คือลอยตัวอยู่เหนือทุกอย่าง ไปทำงานด้วยความรู้สึกตรงกลาง และกลับบ้านโดยไม่แบกอารมณ์ขุ่นมัวใดๆ ไปด้วย

      แต่เดี๋ยวก่อน หากเราลองหลับตาและนึกภาพคนจีนรุ่นใหม่ในวันนี้ พวกเขาเติบโตมาแบบไหน

     เริ่มจากความเหลือเฟือ หากเรานับเฉพาะคนเมืองซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มหลักของฝอซี่นี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือคนจีนรุ่นแรกๆ ที่สัมผัสอำนาจของความเหลือเฟือ 

     ความหมายของความเหลือเฟือก็คือ พวกเขาไม่มีแรงกดดันในเรื่องปากท้อง ภาพการต่อสู้กับความแร้นแค้นในวรรณกรรมอมตะอย่าง The Good Earth กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นใหม่เข้าไม่ถึง ขณะเดียวกัน ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและนโยบายลูกคนเดียวกลายเป็นแรงกดดันที่ต้องเติบโตมาท่ามกลางสังคมที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายในเรื่องการเรียน การเข้ามหาวิทยาลัย และการทำงาน โดยมีความคาดหวังของพ่อแม่ที่ทุ่มเททุกอย่างได้เพื่อลูกคนเดียวและเปรียบเป็นจักรพรรดิ/จักรพรรดินีน้อยของพวกเขา แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะไปถึงฝั่งฝัน

    แต่ที่อาจจะมากกว่าความกดดันจากความคาดหวังของพ่อแม่ ก็อาจเป็นแรงกดของสภาพสังคมแบบใหม่ ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะตัดสินในทุกเรื่อง นอกเหนือจากการเปรียบเทียบอันเป็นเรื่องธรรมชาติในทางกลับกัน มันก็อาจจะเป็นระบบป้องกันตนเอง จากความผิดหวังที่มีต่อสภาพสังคมและความเป็นไปของโลกที่ไม่ได้อยู่ในกำมือของพวกเขา พูดง่ายๆ ก็คือ นอกจากจะลอยตัวอยู่เหนือความคาดหวังของพ่อแม่หรือสังคม ยังหลีกเลี่ยงที่จะตั้งความคาดหวังที่ตนเองอาจจะมีต่อคนอื่นด้วย

     ไม่แน่ว่า นี่อาจเป็นการโต้กลับของคนรุ่นใหม่ในแบบของพวกเขาเอง ด้วยการมีความสุขกับการเป็นคนธรรมดา อะไรที่หนักก็ไม่แบก ใช้เรี่ยวแรงเพียงครึ่งของที่มีกับทุกอย่างเพื่อรักษาตัวให้อยู่ที่เส้นค่าเฉลี่ย

Nap is Now เมื่อโลกมันน่าเหนื่อย

Young Marxist vs. Young Buddha

     จีนอาจจะออกแบบวิถีปลูกฝังคนรุ่นใหม่ของพวกเขาได้ แต่ผลลัพธ์ที่ได้มันไม่ค่อยจะตรงตามสเปกที่ต้องการเอาเสียเลย

    “มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นแห่งแรกที่เผยแพร่ และศึกษาแนวคิดมาร์กซิสต์ในจีน นับว่าเป็นการสนับสนุนที่ดียิ่งต่อการแผยแพร่แนวคิดมาร์กซิสต์ และรากฐานของพรรคคอมมิวนิสต์จีน”เพียงไม่กี่เดือนหลังจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่กล่าวในงานครบรอบสองร้อยปีชาตกาล คาร์ล มาร์กซ์ ที่มหาลัยวิทยาลัยปักกิ่งเมื่อต้นปี 2018 ผลลัพธ์ที่ไม่คาดหมายก็คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำอันหมายถึงความหวังของจีน กลายเป็นผู้ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับแรงงานที่ถูกกดขี่ตามอุดมการณ์ของมาร์กซ์ไม่มีผิด ที่ผิดก็คือมันไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลต้องการสักเท่าไร 

     ไม่ว่าสี จิ้นผิง หรือพรรคคอมมิวนิสต์จะเน้นยำอุดมการณ์มาร์กซ์ในฐานะรากฐานของสังคมคอมมิวนิสต์แค่ไหน สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ จีนหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศนั้นก้าวไปข้างหน้าด้วยทุนนิยม และขับเคลื่อนประชากรไปข้างหน้าด้วยการบริโภค โดยไม่มีความจำเป็นต้องเหลียวกลับมามองสังคมอุดมการณ์ 

     แต่ประโยค “ข้าวปลาคือของจริง” จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อผู้คนรู้ว่าความหิวเป็นอย่างไร เมื่อเด็กจีนที่โตมากับความเหลือเฟือได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์มาร์กซิสต์ และปรารถนาที่จะเห็นสังคมมอบความเป็นธรรมให้กับชนชั้นแรงงาน มันจึงเป็นแรงกระเพื่อมที่นำมาสู่ความไม่สงบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกโรคกับรัฐบาลจีนที่เรียกร้องให้ผู้คนเสียสละ แต่ไม่ชอบเห็นใครลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรสักเท่าไร

     ในขณะที่ “ยุวมาร์กซ์” กลายเป็นดาบที่กลับมาทิ่มแทงพรรคคอมมิวนิสต์ ฝอซี่หรือ “ยุวพุทธ” (ในที่นี้จะขอเรียกว่ายุวพุทธไปพลางๆ หมายเหตุว่าคนละความหมายกับยุวพุทธในประเทศไทย) แม้จะเป็นความเคลื่อนไหวนอกกระแสที่ไม่ถึงกับทำให้ต้องลุกขึ้นมาเต้นแร้งเต้นกา ก็ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลจีนจะพอใจเช่นกัน

Nap is Now เมื่อโลกมันน่าเหนื่อย

     มันช่างตรงข้ามกับความฝันของจีน (Chinese Dream) ที่กระตุ้นให้ผู้คนลุกขึ้นมาสร้างประเทศของพวกเขาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง “ประเทศชาติจะรุ่งเรืองได้ถ้าคนรุ่นใหม่มีความใฝ่ฝันอันแรงกล้าและพึ่งพาได้” คือสิ่งที่สีเคยกล่าวไว้ในปี 2013 เมื่อความฝันนี้ส่งไปถึงยุวพุทธทั้งหลาย ก็คงเป็นไม่ต่างจากน้ำซึมผ่านทราย “ฉันทำได้โอเคในโรงเรียน แต่ไม่เคยดีเกิน ถ้าคะแนนสอบไม่ดีฉันก็จะบอกตัวเองว่าเพราะไม่ได้สนใจมันจนต้องอุทิศเรี่ยวแรงเกินครึ่งของที่มี ซึ่งนั่นก็พอแล้วนี่นา” คำกล่าวของหวัง เจาเยวี่ย นักวางผังเมืองสาวชาวจีนน่าจะเป็นภาพสะท้อนความฝันที่ถูกหารครึ่ง

     แม้จะไม่ไปด้วยกันกับความฝันใหญ่ของรัฐบาลสักเท่าไร อย่างน้อยแนวคิดแบบยุวพุทธจีนก็ไม่ได้คัดง้างกับความคาดหวังของรัฐบาลเท่ากับวัฒนธรรมต่อต้านอีกกลุ่มที่เรียกว่าซาง (丧 ความหมายตรงๆ คือการไว้ทุกข์)  ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า สำหรับซาง การพัฒนาจนรีบเร่งและสังคมบริโภคนิยมที่ล้นเกินทำให้พวกเขาหายใจไม่ออก จนเกิดเป็นความรู้สึกไร้หวัง การมองโลกในด้านลบ และสะท้อนผ่านการประชดประชันต่อโลกใบนี้

Nap is Now เมื่อโลกมันน่าเหนื่อย

     สรุปหลวมๆ ได้ว่าฝอซี่แค่เป็นกลุ่มคนที่มองว่าทุกอย่างมันเหนื่อย ส่วนซางมองทุกอย่างว่าเลวร้าย

     ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นเพียงกระแสชั่วครู่ที่นำมาทำเป็นมีมไว้เล่นกัน หรือเป็นวัฒนธรรมย่อยที่ไม่ได้มีน้ำหนักมากมายอะไร มันก็สะท้อนให้เห็นภาพสังคมจีนที่เป็นอยู่ และการเปลี่ยนผ่านทัศนคติจากรุ่นสู่รุ่นได้เป็นอย่างดี


เรื่อง : Little Thoughts
ขอขอบคุณบทความ : creativethailand



แชร์